การได้ไปเที่ยวยุโรป เปิดขวดเครื่องดื่มเย็นเจี๊ยบในวันที่อากาศร้อน นับเป็นหนึ่งในความสุขสดชื่นอีกแบบ แต่ในฤดูร้อนปีนี้ประสบการณ์ดื่มคงจะแตกต่างออกไป จากการกำหนดนโยบาย ‘ลดโลกร้อน’ และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของยุโรปครั้งใหม่ ที่จะมีผลเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2024 นี้
European Green Deal คืออะไร ?
ในเดือน ก.ค. 2021 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) มีแผนการทำงานเพื่อสนับสนุนให้อุณหภูมิของโลกไม่เพิ่มขึ้นเกิน 1.5-2.0 องศาเซลเซียส ภายในศตวรรษนี้ และในปี 2050 ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ทำให้เกิดเป็น ‘European Green Deal’ หรือมาตรการลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 55 ในปี 2030 หรือ Fit for 55 Package ซึ่งเป็นร่างกฎหมายเพื่อรับรองเรื่อง
- การปรับปรุงสิทธิการซื้อขายและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- การส่งเสริมการคมนาคมสีเขียวทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ
- การกำหนดอัตราภาษีธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- การกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน
- การตั้งเป้าหมายการดูดซับก๊าซเรือนกระจก
- และการออกมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป คือการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป European Union (EU)
EU Green Deal – EU-ASEAN (euinasean.eu)
สู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของ ‘ฝาขวดน้ำ’
นโยบายดังกล่าวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุโรป ดังล่าสุดที่หลายประเทศกำลังบอกลาฝาขวดพลาสติกแบบเก่า และหันมาใช้ขวดน้ำที่มีฝาติดอยู่ ตามกฎของ European Green Deal ที่จะมีข้อบังคับในวันที่ 3 กรกฎาคม 2024 กำหนดให้เครื่องดื่มที่มีขนาดไม่เกิน 3 ลิตร ต้องใช้ฝาน้ำดื่มที่ติดอยู่กับตัวห่วงและขวดบรรจุภัณฑ์ (Tethered Caps) เพื่อลดการหลุดรอดไปยังสิ่งแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อสัตว์
โดยโฆษกกระทรวงสิ่งแวดล้อมสภาพภูมิอากาศและการสื่อสารแห่งไอร์แลนด์ กล่าวว่า
“ฝาจํานวนมากถูกแยกออกจากขวดหลังการใช้งาน และฝาที่อยู่ในถังรีไซเคิลก็มักจะมีขนาดเล็กและเบาเกินไปสําหรับอุปกรณ์คัดแยกที่จะจัดการ และกลายเป็นขยะตกค้างไม่ได้นำไปรีไซเคิลในที่สุด”
“รายงานจาก National Litter Pollution Monitoring System แสดงให้เห็นว่า ขยะจากฝาเครื่องดื่ม คิดเป็นประมาณ 15% ของขยะบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนของฝาขวดน้ำ ที่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปนั้นมีอิสระในข้อกําหนดตนเอง ตราบใดที่ "ฝาปิดยังคงติดอยู่กับภาชนะในระหว่างใช้งาน ตามวัตถุประสงค์ของผลิตภัณฑ์"
ดังนั้น หากคุณกำลังจะเดินทางไปท่องเที่ยวในแถบยุโรปช่วงเดือนกรกฎาคม คุณได้อาจเจอกับฝาพลาสติกรูปแบบใหม่ที่ติดอยู่กับขวด เป็นส่วนช่วยทำให้ขบวนการรีไซเคิลเกิดขึ้นได้ง่าย ลดอันตรายต่อสัตว์โลก และเป็นการลดโลกร้อนอีกทางหนึ่งอีกด้วย