ต้อนรับแขกรับเชิญสุดพิเศษ “ผศ.นพ. สิระ กอไพศาล” หรือ “คุณหมอปิแอร์” หมอต่อมไร้ท่อสุดหล่ออารมณ์ดี ที่ได้มาแชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนมุมมองความคิด และยังได้นำความรู้ด้านเพศและฮอร์โมน มาแบ่งปัน เหมือนเป็นการเปิดคลินิกกันในรายการเลยทีเดียว
แรงบันดาลใจที่เลือกเรียนเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อและฮอร์โมน
“ย้อนกลับไปตอนเรียนหมอมันเรียนกว้างมากเลย แต่ว่าผมเลือกเรียนโดยที่ว่า เวลาอ่านหนังสือ ผมสามารถอ่านเรื่องนี้ได้เรื่อย ๆ ซึ่งเรื่องฮอร์โมน ถ้าใครได้อ่านจะรู้ว่ามันจะเป็นกลไก ฮอร์โมนนี้หลั่งสิ่งนี้ไปอวัยวะนี้เพื่อไปควบคุมอันนี้ ซึ่งเราเรียนแล้วเข้าใจง่าย ก็เลยเลือกมาเรียนฮอร์โมน
และอีกหนึ่งสาเหตุที่เลือกเรื่องฮอร์โมนเพศ มาจากที่ผมมองว่า เรามีพี่น้อง LGBTQ+ ในประเทศไทยเยอะมาก แต่มีคุณหมอที่ดูแลน้อยมากเลย ในตอนที่ผมไปเรียนที่อเมริกา มันจะมีงานประชุมวิชาการประจำปี ที่รวมหมอหลาย ๆ คนทั่วโลก มาพรีเซนต์งานวิจัยที่ตัวเองทำอยู่ ซึ่งผมก็สนใจเรื่องเกี่ยวกับทรานส์เจนเดอร์ แล้วในตอนที่ผมพรีเซนต์ ก็มีคนเข้ามาหาแล้วถามว่ามากจากประเทศไทยเหรอ แสดงว่าต้องเชี่ยวชาญมากเลยใช่ไหม เพราะในตอนนั้นการผ่าตัดข้ามเพศที่ประเทศไทยดังมาก แต่คำตอบของผมคือ ผมไม่รู้เรื่องเลย ไม่รู้ว่าใครเป็นคนดูแลคนกลุ่มนี้ ใครเป็นคนปรับฮอร์โมนให้พวกเขา ใครเป็นคนคอยดูแลเรื่องสุขภาพ วันนั้นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้น ให้ผมตัดสินใจเรียนเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศ เพราะในเมื่อบ้านเรามีทรัพยากรเยอะมาก ทำไมเราไม่มาพัฒนาให้ดีขึ้น พอกลับเมืองไทย 3-4 ปี ผมก็มาดูแลด้านนี้เลย”
เพศในคนเรา ไม่ได้มีเพศเดียว
“ต้องบอกก่อนว่าเพศในคนเรา ไม่ได้มีแค่เพศเดียว ในตัวเราจะประกอบไปด้วย เพศกำเนิดเกิดมามีอัณฑะเป็นเพศชาย เกิดมามีรังไข่เป็นเพศหญิง สองคือ อัตลักษณ์ทางเพศ คือตัวตนจริง ๆ ข้างในของเราว่าเป็นเพศอะไร ไม่ใช่แค่เพศชายหรือเพศหญิง อาจจะอยู่กึ่งกลางระหว่างเพศชายกับเพศหญิง หรือบางคนบอกว่าตัวเองไม่มีคำจำกัดความในคำว่าชายหรือหญิง มันก็เป็นอัตลักษณ์หนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ สามภาษาทางการแพทย์เราเรียกว่า Sexual Orientation หรือว่า รสนิยมทางเพศ ที่บ่งบอกว่าเราชอบใคร และยังสามรถแบ่งได้อีกว่าอยากมีเพศสัมพันธ์กับใคร หรือว่าอยากมีโมเมนต์โรแมนติกกับใคร อันนี้คือรสนิยมทางเพศ อีกอย่างหนึ่งคือ Gender Expression หรือ การแสดงออกทางเพศ เช่น วันนี้ผมแต่งตัวใส่แจ็คเก็ตมา เพราะผมอยากให้ทุกคนรู้ว่าผมเป็นเพศชาย เป็นต้น ซึ่ง เพศกำเนิด อัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศ แล้วก็การแสดงออกทางเพศ ไม่จำเป็นต้องไปทางเดียวกันเลย มันสามารถแยกกันได้แบบสุด ๆ เพราะฉะนั้นเราเลยมี Bisexual ที่จริง ๆ เป็นผู้ชายข้างใน แต่สามารถรักได้ทั้งสองเพศ เรามีทอม ที่เค้าชอบผู้หญิง แล้วเค้าอยากให้มีความเป็นชายในตัวนิดนึง แต่เค้าไม่ได้อยากมีร่างกายที่ข้ามไปเป็นเพศชายเลย เป็นต้น ที่เป็นแบบนี้เพราะเมื่อทั้ง 4 เพศ มารวมกันในหนึ่งคน มันกลายเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นอย่างเลย และกลายเป็นที่มาของคำว่า หลากหลายทางเพศ”
“ยาคุมกำเนิด” ไม่แนะนำให้ใช้ในการข้ามเพศ
“การทานยาคุมกำเนิด ถามว่ามันทานแล้วสวยมั้ย เนียนมั้ย ตอบเลยว่ามันสวย เพราะว่าในยาคุมกำเนิดก็เป็นฮอร์โมนเพศหญิง เพียงแต่ยาเม็ดคุมกำเนิดชื่อของมันก็บอกอยู่แล้ว เหตุผลที่เราให้กินยาคุมกำเนิดก็เพื่อที่จะคุมกำเนิด เพราะฉะนั้นรูปแบบฮอร์โมนเพศหญิงในยาคุมกำเนิดมันจะเป็นแบบที่ค่อนข้างแรง เพื่อที่จะกดการตกไข่ในเพศหญิง
ในขณะที่หลักการให้ฮอร์โมน เช่น คุณผู้หญิงที่หมดประจำเดือน หรือคุณผู้หญิงที่รังไข่ไม่ทำงานตอนเด็ก ๆ หรือหญิงข้ามเพศ เราไม่ได้ต้องการยาที่มันเยอะจนไปกดการตกไข่ เพราะเราไม่ได้ต้องการคุมกำเนิด เราแค่ให้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อให้ร่างกายมีฮอร์โมนเพียงพอ ซึ่งมันคนละหลักการกันเลย
สาว ๆ ที่กินยาคุมกำเนิด เวลาเจาะเลือด แล้วส่งเลือดไปตรวจในห้องแล็ป มันจะไม่สามารถวัดระดับฮอร์โมนในยาคุมกำเนิดได้ เพราะฉะนั้นกินเยอะเท่าไหร่เราไม่รู้เลย และไม่รู้เลยว่าระดับฮอร์โมนที่ได้รับมันสูงมากเท่าไหร่แล้ว ในขณะที่ฮอร์โมนที่คุณหมอแนะนำในการใช้เพื่อการข้ามเพศ มันสามารถตรวจวัดระดับได้ในเลือด เพราะฉะนั้นหากใช้ฮอร์โมนที่เหมาะสมในการข้ามเพศ คุณหมอจะสามารถมอนิเตอร์ และตรวจติดตามได้
สำหรับวิธีการใช้ฮอร์โมนในการข้ามเพศที่ถูกต้อง หลักการง่าย ๆ เลยคือ เราจะให้ฮอร์โมนเหมือนกับฮอร์โมนที่ร่างกายเราสร้าง เพราะฉะนั้นในผู้หญิงข้ามเพศ เราก็จะให้ฮอร์โมนที่รูปแบบ รูปร่าง โครงสร้าง หรือวิธีการเข้าไปทำงานในร่างกาย มันเหมือนกับฮอร์โมนที่รังไข่ในเพศหญิงสร้าง ในหญิงข้ามเพศถ้ายังไม่ผ่าตัด แสดงว่าร่างกายยังมีอวัยวะที่สามารถสร้างฮอร์โมนเพศชายได้อยู่ เพราะฉะนั้นผมก็จะให้ยา 2 ตัว ตัวแรกก็คือเอสโตรเจนที่เป็นฮอร์โมนเพศหญิง อีกอันหนึ่งก็คือต้องให้ ยากดฮอร์โมนเพศชาย แต่ถ้าผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว ไม่มีอวัยวะที่สร้างฮอร์โมนเพศชายแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทานยากดฮอร์โมนเพศชายอีกต่อไป ทานแค่ฮอร์โมนเพศหญิงก็เพียงพอแล้ว
ในชายข้ามเพศเหมือนกัน เกิดมาเป็นเพศหญิง แต่อยากเปลี่ยนเป็นเพศชาย มีลักษณะความเป็นชาย เราก็ให้ฮอร์โมนเพศชายที่มีลักษณะเหมือนกับที่อัณฑะสร้าง ซึ่งผมคิดว่าเหตุผลหนึ่งที่ชายข้ามเพศเข้ามาปรึกษาคุณหมอเยอะ เพราะว่าฮอร์โมนสำหรับชายข้ามเพศหายากกว่า และส่วนใหญ่ชายข้ามเพศต้องฉีดฮอร์โมนเพศเดือนละ 1-2 ครั้ง เลยต้องเข้ามาปรึกษาคุณหมอ นอกจากนี้หากในร่างกายมีฮอร์โมนเพศชายเยอะเกินไป มันจะส่งผลเสียต่อร่างกาย อย่างเช่น เรื่องเลือดข้น เพราะฮอร์โมนเพศชายมันจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดง โดยเลือดของเราเหมือนกับท่อน้ำประปา เลือดมันต้องไหลดี แต่ถ้าเลือดข้นก็เหมือนมีโคลนอยู่ในท่อ เมื่อร่างกายสร้างเม็ดเลือดมาก เลือดก็จะหนืด ทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมอง เลี้ยงหัวใจ เลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ไม่ดี และคนที่ใช้ฮอร์โมนเพศชายเยอะเกินไป ก็จะทำให้มีผลเสียในเรื่องของคอเลสเตอรอล ไขมันเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็จะเป็นประเด็นที่เราต้องดูแล ส่วนเรื่องการใช้ผ้ารัดหน้าอกไม่มีผลต่อมะเร็งเต้านม ไม่ได้มีข้อมูลว่าการรัดหน้าอกทำให้เป็นมะเร็งเต้านมเยอะขึ้น แต่ส่วนใหญ่ผลข้างเคียงของการรัดหน้าอกคือ ถ้ารัดเยอะเกินไป หรือแน่นเกินไปมันก็จะกดทับจนเกิดเป็นแผลกดทับ เหมือนคนไข้นอนติดเตียง ที่นอนท่าเดิมนาน ๆ ดังนั้นถ้าเกิดรัดหน้าอกแน่นมาก เลือดก็ไหลเวียนไม่ดี และอาจจะเป็นแผลขึ้นมาได้ แล้วก็ถ้ารัดแน่นมาก บางทีหายใจไม่ออก มันก็อาจจะมีปัญหาเรื่องปอด เรื่องการหายใจตามขึ้นมาได้
เวลาใช้ฮอร์โมนเพื่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย บางอย่างมันเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนเลย โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศชาย ถ้าร่างกายโดนฮอร์โมนเพศชายเข้าไปแล้วมันจะเปลี่ยนกลับยาก เช่น บางคนที่ใช้ฮอร์โมนตั้งแต่เด็ก ๆ กระดูกยังไม่โต เสียงยังไม่ทุ้ม ทำให้เค้ามีลักษณะที่กลายเป็นเพศหญิงเลย ในขณะที่บางคน เริ่มมาใช้ฮอร์โมนตอนอายุ 30 ซึ่งก่อนหน้านั้นร่างกายโดนฮอร์โมนเพศชายมาสักพักแล้ว เพราะฉะนั้นต่อให้ใช้ฮอร์โมนยังไงลักษณะของเพศหญิงที่แสดงออกมาก็จะไม่เท่าคนที่ใช้ฮอร์โมนมาตั้งแต่เด็ก ๆ
ในปัจจุบันเราใช้คำว่า ยืนยันเพศ เพราะเราไม่ได้ให้ใครข้ามเป็นใคร เราไม่ได้เปลี่ยนใครเป็นใคร เรายืนยันว่าคุณเป็นเพศอะไร แล้วใช้ฮอร์โมนเพื่อการยืนยันเพศนั้น ซึ่งจะเพศไหนก็ตาม หากต้องใช้ฮอร์โมน หรือ การผ่าตัด เพื่อการยืนยันเพศ ผมแนะนำให้เข้ามาปรึกษาคุณหมอ เพราะว่ามันมีผลข้างเคียงของการใช้ฮอร์โมนหรือการผ่าตัด ซึ่งการปรึกษาคุณหมอ จะทำให้เรามอนิเตอร์ และตรวจติดตามกันได้อย่างปลอดภัย”
ทานยาคุมกำเนิดแล้วหน้าใส จริงหรือไม่?
“จริงครับ คุณผู้หญิงจะมีภาวะที่เรียกว่าถุงน้ำซีสต์ในรังไข่หลายใบ ซึ่งเป็นภาวะที่เจอบ่อยมาก เวลาพบเคสผู้หญิงที่น้ำหนักตัวเยอะ หน้ามัน สิวขึ้น ขนขึ้น หรือประจำเดือนมาผิดปกติ เราก็จะหาตรวจหาสาเหตุก่อน ซึ่งมักจะมีภาวะถุงน้ำซีสต์ในรังไข่หลายใบนี่แหละ ภาวะนี้เกิดจากการที่คุณผู้หญิงมีฮอร์โมนเพศชายเยอะเกินไป ทำให้มีอาการของเพศชายเกิดขึ้น มีขนขึ้น หน้ามัน ซึ่งการให้ยาคุมกำเนิดเข้าไป จะเป็นเหมือนการล้างไพ่ และผลที่ตามมาคือ จะรู้สึกว่าผิวเนียนขึ้น หน้าไม่มัน สิวน้อยลง ดังนั้นที่ถามว่า ทานยาคุมกำเนิดแล้วหน้าใสจริงไหม จริงครับ”
ทานยาคุมกำเนิดเยอะ ๆ จะทำให้ “อ๊องยาคุม” จริงหรือไม่?
“ผมพยายามเสิร์ชหาคำนี้มานานมาก คำว่า อ๊องยาคุม คืออะไร เพราะในทางการแพทย์ไม่มีคำว่าอ๊องยาคุม แต่เจอคนมาบ่นเยอะเลย ผมเจอหญิงข้ามเพศบางคน ทานยาคุมกำเนิด 6-7 เม็ดต่อวัน แล้วเค้าจะบอกว่ามันเบลอ ๆ แต่ทางการแพทย์ ยังไม่มีการศึกษาที่บอกแน่ชัดว่ามีภาวะนี้รึเปล่า ซึ่งในความคิดของผมคิดว่า ถ้าฮอร์โมนมันเยอะเกินไป มันคงต้องส่งผลอะไรบางอย่างในร่างกาย ซึ่งอาจจะเป็นอาการเบลอ ๆ ขึ้นมาครับ”
การฉีดฮอร์โมน ดีกว่าการทานฮอร์โมน จริงไหม?
“หลักการคือ เราใช้วิธีไหนก็ได้เพื่อเอาฮอร์โมนเข้าไปอยู่ในเลือดของเรา ไม่ว่าจะเป็น การกิน การฉีด หรือการทา สามารถเอาฮอร์โมนเข้าไปอยู่ในเลือดได้ทั้งหมด โดยประสิทธิภาพในการทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงแทบจะไม่แตกต่างกัน แต่ว่าการฉีดเป็นการนำฮอร์โมนเข้าสู่เลือดได้เร็วที่สุด ฉีดปุ๊บฮอร์โมนขึ้นเลย ส่วนการกินก็อาจจะทำให้ฮอร์โมนเข้าสู่เลือดเร็วกว่าการทา เพราะการทามันต้องค่อย ๆ ซึมผ่านผิวหนัง เพราะฉะนั้นถ้าเปรียบเทียบ 3 วิธี แน่นอนว่าการฉีดได้ผลเร็วที่สุด การกินก็จะเร็วรองลงมา การทาจะช้าที่สุด แต่ถ้าเปรียบเทียบในเรื่องความปลอดภัย การทาชนะเลิศเลย เพราะในเรื่องลิ่มเลือด ผลต่อโรคหัวใจ หรือโรคเส้นเลือดในสมอง การทาถือว่าดีมาก ๆ ซึ่งถ้าหากมีใครมาปรึกษาผม แล้วบอกว่าตอนนี้สูบบุหรี่อยู่ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ น้ำหนักตัวเยอะ หรือว่าในครอบครัวมีโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดในสมอง ผมก็จะเชียร์ให้ทาฮอร์โมน เพราะความปลอดภัยมันดีกว่ามาก ๆ”
คุณผู้หญิงช่วงวัยทอง สามารถใช้ฮอร์โมนเพิ่มได้ไหม?
“พอคุณผู้หญิงเข้าสู่วัยทอง คำว่าวัยทองคือรังไข่ไม่สร้างฮอร์โมน เพราะฉะนั้นร่างกายก็จะไม่มีฮอร์โมนเพศหญิงหลงเหลืออยู่เลย อาการของวัยทองก็จะร้อนวูบวาบ หงุดหงิดง่าย ช่องคลอดแห้ง มีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ บางคนมีปัสสาวะกระปริดกระปอย ถ้ามีอาการมาก แนะนำให้มาปรึกษาคุณหมอ เพื่อปรึกษาการใช้ฮอร์โมนทดแทนได้
แต่ไม่ใช่ว่าผู้หญิงวัยทองทุกคนจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมน เนื่องจากมันมีผลข้างเคียงของฮอร์โมน อันดับแรกเลยคือ การใช้ฮอร์โมนทดแทนในคุณผู้หญิงที่อายุเยอะหลังวัยหมดประจำเดือน จะเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ นอกจากนี้หากใช้ฮอร์โมนทดแทนในคุณผู้หญิงอายุ 60 ปีขึ้นไป ก็เพิ่มโอกาสเกิดโรคหัวใจ และโรคเส้นเลือดในสมองมากขึ้นได้ ก็ต้องมานั่งวิเคราะห์กันว่าอาการที่เป็นมันรบกวนชีวิตมากจนถึงขั้นต้องไปเสี่ยงเป็นโรคเหล่านี้รึเปล่า ต้องประเมินเป็นราย ๆ ไปครับ”
ผลข้างเคียง หากใช้ฮอร์โมนไม่เหมาะสม
“อันดับแรกเลยคือ โอกาสในการเกิดโรคลิ่มเลือดดำอุดตันเพิ่มขึ้น มีช่วงหนึ่งที่วัคซีนโควิดกำลังบูม มันจะมีข้อมูลที่บอกว่าฉีดวัคซีนชนิดนี้ระวังลิ่มเลือดอุดตัน และนี่คือผลข้างเคียงของการใช้ฮอร์โมนด้วยเช่นกัน โดยการใช้ฮอร์โมนเพศ สามารถเพิ่มโอกาสเป็นลิ่มเลือดดำอุดตันได้ อย่างในคุณผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิดเพื่อจะป้องกันการตั้งครรภ์ ก็มีโอกาสที่จะเป็นลิ่มเลือดดำอุดตันมากขึ้นประมาณ 2-5 เท่า
แล้วการทานฮอร์โมนนาน ๆ มีผลต่อตับ และ ไต หรือไม่ จริง ๆ แล้วร่างกายสามารถเคลียร์ออกได้ แต่ในยาบางชนิด เช่นยากดฮอร์โมนเพศชาย ก็อาจจะทำให้มีอาการตับอักเสบได้ เหมือนเรากินยาพารา หรือไปดื่ม ที่สามารถรบกวนการทำงานของตับได้ เพราะฉะนั้นทุกหกเดือนถึงหนึ่งปี ควรไปพบแพทย์ เพื่อเจาะตรวจค่าตับว่ามีผลข้างเคียงรึเปล่า ส่วนเรื่องไตแทบจะไม่มีผลเลย
นอกจากนี้มีข้อมูลบอกว่า การใช้ฮอร์โมนอาจจะเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคหัวใจ และโรคเส้นเลือดในสมอง เพราะฉะนั้นถ้าใครมีปัญหาเรื่องความดัน มีภาวะของโรคเบาหวาน หรือมีปัญหาเรื่องไขมัน ก็ต้องมีการคุมควบคุมการใช้ฮอร์โมนให้ดี”
ข้อควรรู้ ก่อนผ่าตัดเพื่อการยืนยันเพศสภาพ
“เวลาคน ๆ หนึ่งเดินเข้ามาปรึกษาผม ผมก็จะทำการประเมินครั้งแรกที่เจอกันก่อนว่า อยากได้ยังไง แล้วผมทำให้ได้หรือเปล่า ถ้าผมทำไม่ได้ก็จะบอกเลยว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าผมทำได้ก็โอเค ซึ่งคำว่า การผ่าตัดยืนยันเพศสภาพ มันก็มีหลายระดับ เช่น ในหญิงข้ามเพศก็จะมีตั้งแต่ การเสริมหน้าอก นั่นก็เป็นการผ่าตัดอย่างหนึ่ง หรือ โบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ อันนั้นก็เป็นหัตถการเพื่อปรับรูปหน้า ส่วนที่จะเป็นการผ่าตัดใหญ่ก็คือ การผ่าตัดช่องคลอด มันก็จะมีตั้งแต่ตัดออก บางคนตัดแค่อัณฑะเพื่อตัดอวัยวะที่สร้างฮอร์โมนเพศชายอย่างเดียว แต่ส่วนใหญ่ที่อยากทำกันก็จะเป็นการทำช่องคลอดขึ้นมา ซึ่งก็ต้องตัดอัณฑะแล้วก็ทำช่องคลอด โดยจะมีขั้นตอนค่อนข้างเยอะเหมือนการผ่าตัดใหญ่ ต้องพักฟื้น แล้วก็หลังผ่าตัดต้องทำการไดเลท เพื่อไม่ให้ช่องคลอดตีบตัน ซึ่งเป็นการดูแลที่ต้องมีรายละเอียดขึ้นมา
ส่วนในชายข้ามเพศ ใครที่ไม่อยากมีหน้าอกก็สามารถพิจารณาตัดหน้าอกได้ หรือว่าคนที่อยากจะทำอวัยวะเพศชาย ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ปิดช่องคลอดก่อน ซึ่งต้องตัดมดลูก และต้องพิจารณาเรื่องการตัดรังไข่ ที่ต้องคุยกับคุณหมอเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียต่อไป และต้องมีการสร้างองคชาติ โดย ณ ปัจจุบัน เราจะใช้เนื้อที่อวัยวะอื่นมาปั้น เช่น เนื้อที่ต้นแขน เนื้อที่ต้นขา แล้วก็ทำการยืดท่อปัสสาวะ จากนั้นก็เอาเนื้อไปสร้างเป็นอวัยวะเพศชาย ซึ่งปัจจุบันข้อจำกัดในการทำอวัยวะเพศชาย ก็อาจจะยังไม่สามารถทำให้แข็งตัวได้ เพราะว่าเนื้อเยื่อมันคือเนื้อเยื่อขา เนื้อเยื่อแขน แต่ช่วงหลัง ๆ ก็จะมีแนวคิดที่ว่าเอาแกนใส่เข้าไป เกิดเป็นเทคนิคใหม่เรื่อย ๆ
ในปัจจุบัน ยิ่งทราบเร็วยิ่งดี คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกที่เป็นทรานส์เจนเดอร์ อยากให้พาเข้ามาปรึกษาคุณหมอได้เลย ซึ่งมีข้อจำกัดอย่างหนึ่งคือ ถ้าน้องอายุน้อยกว่า 18 ปี ต้องมีผู้ปกครองพามา เพราะฉะนั้นในครอบครัวที่พร้อมสนับสนุนก็จะพาลูกเข้ามาปรึกษาได้ ซึ่งผมเห็นแนวโน้มที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีมาก สมัยก่อนตอนที่ผมกลับมาเมืองไทยใหม่ ๆ คุณพ่อคุณแม่จะพาลูกมารักษาให้เปลี่ยนเพศกลับ แต่ช่วงนี้กลายเป็นว่า คุณพ่อคุณแม่พาลูกมาปรึกษาหมอ ในมุมมองที่ว่า ถ้าลูกอยากเป็นอะไร ให้เค้าเป็นแบบที่ปลอดภัยดีกว่า แนวโน้มของเทรนด์มันเปลี่ยนไป
ปัจจุบัน มีพี่น้องทรานส์เจนเดอร์ หรือ LGBTQ+ ที่พยายามรณรงค์ให้การผ่าตัดเพื่อการยืนยันเพศ เป็นสิทธิ์พื้นฐานที่เอามาอยู่ในระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งหลายคนก็อาจจะมองว่า มันไม่ได้เป็นเรื่องจำเป็นเลย แต่ถ้าหากว่าได้มาทำงาน หรือถ้าหากคุณเกิดเป็นคนข้ามเพศ หรือมีพ่อแม่พี่น้องเป็นคนข้ามเพศ ก็จะเข้าใจว่ามันเป็นวิธีการดูแลทางการแพทย์อย่างหนึ่ง ที่ช่วยชีวิตพวกเค้าได้ ซึ่งมันจะช่วยลดอาการซึมเศร้า ลดอัตราการฆ่าตัวตาย แล้วมันมีผลดีต่อสุขภาพหลาย ๆ อย่าง โดยตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ ต้องรอติดตามในอนาคต”
ผมไม่สามารถเปลี่ยนเพศใครได้ แต่สามารถทำให้สิ่งที่เค้าอยากเป็นปลอดภัยได้
“หากมีคุณพ่อคุณแม่จะพาลูกมารักษาให้เปลี่ยนเพศกลับ ผมจะบอกว่า ผมทำไม่ได้ครับ ผมไม่สามารถเปลี่ยนเพศใครได้ แต่ผมสามารถทำให้สิ่งที่เค้าอยากจะเป็น ให้เป็นในเวอร์ชันที่ปลอดภัยได้ มีการศึกษาทางการแพทย์มากมายพบว่า เราไม่สามารถเปลี่ยน หรือไปจัดการกับเพศใครได้ หากเอาเด็กเพศชายที่เค้าคิดว่าตัวเองเป็นเพศหญิง ไปเลี้ยงในเด็กโรงเรียนประจำที่เป็นชายล้วน แต่งตัวเป็นผู้ชาย ยังไงสุดท้ายเค้าก็จะเป็นผู้หญิง ผมว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนใครได้ครับ” – คุณหมอปิแอร์
พบเรื่องราวชีวิตหลากสีสันใน Club Pride Day คลับที่เต็มไปด้วยแบ่งปันข้อคิดแรงบันดาลใจ และมีคลังความรู้ที่พร้อมแชร์ ไปกับแขกรับเชิญพิเศษ และสองดีเจสุดแซ่บ “ดีเจพี่อ้อย” และ “ดีเจก็อตจิ” ได้ทุกสัปดาห์
ดูรายการย้อนหลัง
Artist: scrubb