เปิดมุมมอง กลั่นกรองวิธีคิดสุดอบอุ่น จาก “ภาวินท์ และ หมอแม่” คู่อินฟลูฯ สุดปัง ที่ส่งพลังให้ Deep Talk กับครอบครัว

Club Inspired Day Recap

เปิดมุมมอง กลั่นกรองวิธีคิดสุดอบอุ่น จาก “ภาวินท์ และ หมอแม่” คู่อินฟลูฯ สุดปัง ที่ส่งพลังให้ Deep Talk กับครอบครัว

26 มี.ค. 2025

เพราะที่ Club นี้ ทุก Story จะมีความหมาย ได้ Inspired ทุก Moment สำหรับ Club Inspired Day กับสองดีเจสุดเท่ “ดีเจเป้” และ “ดีเจแคน” ที่ได้เปิดไมค์ต้อนรับคู่อินฟลูสุดปัง “ภาวินท์” และ “หมอแม่” เจ้าของคอนเทนต์ ลูกชายมาปรึกษาปัญหากับคุณแม่ พูดคุยกันเหมือนเพื่อน ได้ทั้งแนวคิด และความประทับใจจากวิธีการเลี้ยงลูก และวิธีการสอนลูกจากคุณหมอแม่ที่ดูเข้าใจโลกและเข้าใจในทุกเรื่องความสัมพันธ์ จนชาวเน็ตคอนเมนต์ออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า “หมอแม่ คือ แม่สามีที่ควรมีทุกบ้าน” กว่าจะกลายเป็นที่รู้จัก ทั้งคู่มีกระบวนการทำคอนเทนต์อย่างไร มุมมองการพูดคุยกันในครอบครัวสำคัญขนาดไหน และมีแรงบันดาลใจอะไรบ้าง ที่อยากแบ่งปันเพื่อจุดไฟฝันให้กับใครหลาย ๆ คน เรื่องราวทั้งหมดนี้ถูกแชร์เอาไว้แล้วในรายการ

 

 

“ครอบครัว” ในมุมมองของ ภาวินท์ และ หมอแม่

หมอแม่ : “ครอบครัว คือที่พักใจ เป็นที่ ๆ ไม่ว่าเราจะถูกทำร้ายจิตใจ หรือร่างกายมาขนาดไหน หรือเราจะผิด เราจะเลวร้ายมากในสายตาคนอื่น แต่ว่าพอกลับมาบ้าน ครอบครัวจะเป็นที่ ๆ เป็นหลักพิงให้เรา เป็นคนที่จะไม่ตัดสินเรา ถึงแม้ว่าเราจะทำไม่เข้าท่า เค้าก็รู้ว่าเราทำไม่เข้าท่า แต่เค้าพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างเรา รับผิดชอบไปพร้อมกับเรา ช่วยเรา ไม่สมน้ำหน้า ในครอบครัวต้องไม่มีคำนี้”

 

ภาวินท์ : “คิดเหมือนกับคุณแม่ แต่ว่าพักหลัง ผมรู้สึกว่า ครอบครัว ต้องอยู่ข้างเรา ไม่ว่าเราจะทำถูก หรือทำผิด อยู่ข้างเราไม่ได้แปลว่าต้องอวยเราไปทุกอย่างนะ แต่จะอยู่ข้างเรา คอยให้กำลังใจเราเสมอ ไม่ใช่ว่าเราทำผิด แล้วก็บอกว่าเราถูก แต่ว่าจะอยู่ข้างเรา และให้กำลังใจเราเสมอ”

 

 

ถอดแนวคิดแม่ลูก ในวันที่ยุคเปลี่ยนไป

หมอแม่ : “แม่ว่าแม่อยู่ในวัย อยู่ในเวลาที่พ่อแม่ไม่ได้สอนด้วยการด่า ซึ่งมันเป็นปกติของคนสมัยก่อนอย่างคำว่า รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี แล้วก็ด่า แล้วก็สอนแบบทวงบุญคุณ อันนั้นคือเรื่องปกติของคนสมัยก่อน ซึ่งเราโตมาแบบเรารู้สึกว่า ทำไมเวลาเรามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นในชีวิ เราไม่กล้าพูดกับที่บ้าน เราก็เลยบอกกับตัวเองว่า ถ้าเรามีลูก เราจะไม่ให้ลูกเราเจออะไรแบบนี้ จะไม่ให้เจอเหตุการณ์ที่ผู้ใหญ่มากระทบกระเทียบ  มึนตึง แบบไม่รู้สาเหตุ เราจะไม่ทำแบบนี้กับลูกเรา

รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี แม่ว่าคำว่าตีในยุคนี้อาจจะเป็นการลงโทษหลังจากมีข้อตกลง คือเราจะไม่ใช่ว่า ลูกทำผิดปุ๊บ เราตีเลย ลงโทษเลย เราจะต้องไม่มีการลงโทษโดยที่เค้ายังไม่รู้มาก่อนว่าการกระทำนี้เค้าผิด แต่ถ้าเค้าทำผิดหลังจากที่เราตกลงกันแล้ว ถึงจะต้องมีการลงโทษ

สมมติว่า เด็กไปเล่นกับเพื่อนข้างบ้าน แล้วไม่ได้บอกแม่ถ้าเป็นสมัยก่อนเนี่ย โดนตีแน่นอน แต่แม่คิดว่าวิธีการสอนเด็ก มันมีหลายอย่าง สอนแบบลงโทษให้เจ็บก็ได้ ลูกก็จะจำเพราะว่าเจ็บ หรืออธิบายเหตุผลกับเค้า บอกเค้าว่า แบบนี้แม่เป็นห่วงนะ แต่ถ้าคราวหลังทำแบบนี้อีก แม่จะไม่ให้ไปเล่นอีกแล้วนะ มันมีวิธีการลงโทษที่เค้าสามารถยอมรับได้ โดยที่ไม่ต้องเจ็บใจ และไม่ต้องเจ็บตัว”

 

ภาวินท์ : “การคุยกันเยอะ ๆ ผมรู้สึกว่ายิ่งคุยกันมันยิ่งได้ประโยชน์นะครับ เราได้พูดในสิ่งที่อยู่ในใจของเรา มันน่าจะดีกว่าการไม่พูด แต่ถ้าสมมติว่า เราอาจจะเป็นคนที่สื่อสารไม่เก่ง การที่เราพูดออกมาทั้งหมดเลยโดยที่ไม่ได้กลั่นกรอง หรือว่าเรียบเรียง หรือว่าคำนึงถึงคนฟัง มันก็อาจจะทำร้ายจิตใจอีกฝั่งได้เหมือนกัน”

 

หมอแม่ : “แม่ว่าต้องเลือกเวลา แล้วถ้าไม่เคยคุยกันมาก่อน มันต้องเลือกเวลาที่ทั้งสองฝ่ายอารมณ์ดี ไม่ใช่แบบทั้งคู่กำลังปรี๊ดเรื่องอื่นมา แล้วก็จะมานั่งคุยกัน อย่างนี้แม่ว่ามันอาจจะไม่พร้อม”

 

ภาวินท์ : “พอเราใช้เวลาอยู่กับแม่เยอะ ๆ เราพอจะจับสัญญาณได้ว่า จังหวะนี้เค้าอยากคุยไหม ถึงเค้าจะยิ้มแย้ม มันก็มีบางจังหวะที่มันเหนื่อยใ พอเราเห็นอย่างนั้น เราก็หยุดไว้ก่อน เก็บเรื่องนี้ไว้ หรือว่าบางทีเค้าจะมาคุยกับเรา แล้วเห็นเราเงียบ ๆ ไป เค้าก็จะเงียบไปเอง แล้วเค้าก็ค่อยมาคุยกับเราใหม่ ในเวลาที่เหมาะสม”

 

 

เปิดเหตุผล ทำไมคนในครอบครัวถึงคุยกันน้อย

หมอแม่ : “เพราะลูกกลัวว่าจะโดนดุ คือ ถ้าเราเป็นลูกอาจจะรู้สึกว่า พ่อแม่มาตั้งความหวังกับเราไว้มาก  เราจะต้องเป็นคนดี จะต้องไม่ทำอะไรผิด ซึ่งถ้าเราทำอะไรผิดปุ๊บ เหมือนเราจะทำให้พ่อแม่เสียใจ แล้วเราจะต้องโดนดุ ไม่ก็ต้องโดนตี กลายเป็นว่าพ่อแม่ไปสร้างตัวตนให้ลูกว่า ลูกจะต้องเป็นคนสมบูรณ์แบบ แต่สำหรับหมอแม่เอง เราพยายามให้ลูกเป็นคนธรรมดาที่ผิดได้ สมมติตอนเด็ก ๆ แม่ก็จะให้เค้าลองเรียนพิเศษไปเรื่อย ๆ พอไปเรียนแล้วเค้าไม่ชอบ แม่ก็จะไม่เคยว่า เค้าไม่ชอบก็เลิกไป แล้วก็ไปเรียนอย่างอื่น ซึ่งมันก็มีสิ่งที่เค้าทำได้ และมีสิ่งที่เค้าทำไม่ได้ แต่แม่ก็ไม่เคยว่า เพราะแม่เชื่อว่า มันต้องมีสักกอย่างที่ลูกทำได้”

ภาวินท์ : “แรก ๆ ด้วยเรื่องของอายุ ผมว่ามันปฏิเสธไม่ได้เลยที่บางอย่างเค้าอาจจะไม่เข้าใจเรา และบางอย่างที่เราอาจจะไม่เข้าใจเค้า แต่ว่าด้วยความที่เค้าก็เปิดรับอะไรใหม่ ๆ แต่มีหลาย ๆ อย่างที่เราลองเนอว่า ทำอย่างนี้ไหมแม่ แล้วแม่ก็จะถามว่า จะดีเหรอลูก แต่สุดท้ายแล้วเค้าก็ทำอยู่ดี มันก็เลยทำให้เราสามารถที่จะเข้ากับแม่ได้ง่ายขึ้น”

 

ให้การคุยกัน เป็นเรื่องปกติในครอบครัว

ภาวินท์ : “Deep Talk ผมเพิ่งได้ยินคำนี้ ก็ตอนทำคอนเทนต์นี่แหละ ว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันคือ Deep Talk  คือเรารู้สึกว่า มันเหมือนกับการที่เราคุยกันตอนนั่งรถด้วยกัน ตอนที่นั่งกินข้าวด้วยกัน เราคุยกันแบบนี้เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่คุณแม่เค้าก็เป็นคนที่มีเหตุผล แล้วผมก็อยากรู้ว่า ทำไมถึงเป็นแบบนี้ แล้วทำไมเค้าถึงคิดแบบนี้ มันก็เลยเหมือนคุยกันลึกมากขึ้น ซึ่งมันเป็นแบบนี้ตั้งแต่ผมเด็กแล้ว”

 

หมอแม่ : “เหมือนตอนเด็ก ๆ เราจะเลี้ยงเค้า เหมือนเค้าเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง เวลาเราจะสอนอะไร เราจะไม่สั่ง เราจะบอกเค้าก่อนว่าเพราะอะไร จนกระทั่งเค้าติดเป็นนิสัยว่า ถ้าเราจะให้เค้าทำอะไรสักอย่าง เค้าจะถามว่าเพราะอะไร แล้วเราก็บอกเหตุผลเค้า อธิบายให้เค้าเหมือนเค้าเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง เด็ก ๆ ก็อาจจะไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่พอโตเค้าก็ชินว่า ถ้าเค้าทำอะไรสักอย่าง มันจะต้องมีเหตุ มีผล มีข้อดี มีข้อเสีย”

 

จุดเริ่มต้นคอนเทนต์ Deep Talk สร้างพลังใจ

 

ภาวินท์ : “คือแรกสุดเราไม่ได้ตั้งใจจะมานั่งคุยกันเป็นรายการแบบนี้ คือวันนั้นผมตั้งใจจะถ่ายรูปรับปริญญา แต่ด้วยความที่ผมจบมานานแล้วถึงจะได้ถ่าย ก็เลยไม่ค่อยอิน แล้วด้วยความที่นัดเพื่อน แต่เพื่อนไม่มา ก็เลยให้คุณแม่มากดชัตเตอร์ให้หน่อย เดี๋ยวผมตั้งค่ากล้องให้ ก็เลยตั้งกล้องถ่ายภาพเบื้องหลังไว้  แต่พอลงโพสต์แล้ว คนดูเค้าก็ชอบ แล้วก็มีคอมเมนต์ว่า หมอแม่เลี้ยงลูกเหมือนเพื่อนเลย ผมก็เลยหยิบประเด็นนี้มาคุยกับคุณแม่ว่า เลี้ยงลูกเหมือนเพื่อนจริงไหม ทำไมถึงเลี้ยงแบบนี้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของคอนเทนต์ เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วครับ”

 

หมอแม่ : “ความตั้งใจของการเลี้ยงลูกให้เหมือนเพื่อน มันมาจากที่เราตั้งใจไว้เลยว่า เราจะต้องเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเค้า เพื่อนที่ต้องไม่มีวันหักหลังเรา และเป็นเพื่อนที่เราไว้ใจที่สุด แทนที่เค้าจะมีเพื่อนรุ่นเดียวกัน  แต่แม่คือเพื่อนที่ดีที่สุดของเค้า เราอยากเป็นแบบนั้น เพราะเรารู้สึกว่า ตอนเราโตมา เวลาเรามีปัญหา เราไม่รู้จะไปหาใคร เพื่อนก็อายุเท่า ๆ กัน ก็ไม่ค่อยรู้ว่าต้องจัดการปัญหายังไง แล้วพ่อแม่สมัยก่อน เค้าก็ไม่คุยกับลูกแบบนี้ เราเลยรู้สึกว่า ถ้าเรามีลูก เราจะต้องเป็นที่พึ่งพิงของลูกให้ได้ ลูกมีเรื่องอะไร ต้องหันมาหาเราก่อน สมมติโดนเพื่อนรังแก ต้องมาบอกแม่ก่อน”

 

ภาวินท์ : “แต่ก่อนตอนเด็ก ๆ ผมก็ไม่รู้สึกว่า แม่จะมาเป็นเพื่อนเราขนาดนั้น แต่ว่าพอเราเริ่มโตขึ้น เวลาที่เราไปปรึกษาเค้า ไปคุยกับเค้า เค้าไม่ตัดสิน เค้าเป็นเหมือนเป็นเพื่อนที่ดีของเราคนหนึ่งจริง ๆ เราก็เลยสนิทใจที่จะพูดอะไรกับเค้า อย่างสมมติมันเป็นเรื่องที่เราคิดว่าต้องโดนว่าแน่ ๆ เป็นเรื่องที่เราตัดสินใจผิด แต่ว่าพอเราไปพูดให้เค้าฟัง เค้าก็ไม่ได้บอกว่าเราผิด แต่เค้าก็จะคอยอยู่ข้าง ๆ เรา แล้วก็ให้กำลังใจเรา เรื่องที่คุยกันตอนเด็ก ๆ มันก็อาจจะเป็นเรื่องลืมของตอนไปโรงเรียน แต่พอตอนโต ก็จะเป็นเรื่องการตัดสินใจ เรื่องอาชีพ เรื่องการเงิน เรื่องแฟน เรื่องความรัก เค้าก็รับฟังในทุกเรื่อง แล้วก็ไม่ตัดสินเราจริง ๆ”

 

 

ในวันที่ความเห็นไม่ตรงกัน มันจะลงเอยกันได้ยังไง

หมอแม่ : “มีบางครั้งที่เห็นไม่ตรงกัน เราก็จะบอกว่า แม่คิดแบบนี้นะ ข้อดีคืออะไร ข้อเสียคืออะไร เค้าก็จะบอกว่า แต่เค้าคิดแบบนี้ แล้วเราก็มาปรับจูนกัน คือเราจะไม่ปรี๊ดใส่กัน เราจะไม่คุยตอนที่โมโห เนื่องจากแม่คุยกับเค้าเหมือนเค้าเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งมาตลอด มันก็เลยไม่ค่อยมีปัญหาว่า เธอต้องมาฟังฉันนะ ฉันเป็นแม่เธอนะ เพราะแม่รู้สึกว่า เราเกิดมานานกว่าเค้า แต่บางอย่าง เราก็ไม่ได้รู้เท่าเค้านะ เพราะว่ามันก็เป็นมุมมองของเรา ประสบการณ์ของเรา แต่ลูกเค้าเจอคนเยอะกว่าเรา บางทีเค้าดูคนเก่งกว่าเราด้วยซ้ำ”

 

ภาวินท์ : “ทะเลาะกันไหม ? ใช้คำว่าน้อยใจดีกว่า ส่วนมากก็เป็นเรื่องงาน ที่บางทีผมก็ใช้คำพูดที่มันอาจจะอยู่ในหมวดการทำงานมากเกินไป เป็นเรื่องที่มันซีเรียสมาก ๆ แล้วผมก็อยู่ในหมวดทำงาน ก็เลยเผลอพูดสิ่งที่มันอาจจะตรงเกินไป เค้าก็น้อยใจ”

 

หมอแม่ :  “เวลาน้อยใจ เราก็จะเฉย ๆ ก็จะไม่พูด แต่ว่าพออยู่กันสองคน เราก็ร้องไห้ แต่ไม่ได้บ่อยนะ เพระไม่อยากให้กลายเป็นว่า เราเก็บความน้อยใจของเราไว้ไง และลูกก็จะไม่รู้ว่าเค้าทำผิดอะไร และการร้องไห้มันต้องไม่บ่อย มันถึงจะมีความหมาย แต่พอได้คุยได้ปรับความเค้าใจกัน ใครผิดก็ขอโทษกัน เท่านั้นเลย”

 

ภาวินท์ : “เคยน้อยใจคุณแม่ไหม ? ไม่ถึงกับน้อยใจ มันก็มีเห็นต่างบ้างนิดหน่อย แต่ก็ไม่ถึงกับน้อยใจอะไร แล้วก็คุยกันได้”

 

 

เมื่อบางครั้ง ครอบครัว ไม่ใช่เซฟโซน

หมอแม่ :  “แม่ว่าแต่ละครอบครัวก็ถูกเลี้ยงดูมาต่างกัน แล้วแต่ละครอบครัวก็มีเงื่อนไขไม่เหมือนกัน ถ้าครอบครัวไหนเป็นเซฟโซนได้ มันก็ถือว่าเป็นเรื่องโชคดี แต่ถ้าไม่ได้ แม่ว่าเราก็อาจจะต้องปรับที่ตัวเรา  อาจจะต้องปรับความคิดเราว่า ถ้าเราไม่สามารถที่จะพึ่งใครได้ เราก็ต้องพึ่งตัวเรา แล้วก็หาทางทำยังไงก็ได้ให้ชีวิตเราอยู่อย่างมีความสุขให้ได้ ภายใต้เงื่อนไขเยอะแยะมากมาย ซึ่งเงื่อนไขของแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน ก็เพียงแต่ว่าพยายามดูแลจิตใจ และร่างกายเราให้ผ่านมรสุมชีวิตไปให้ได้”

 

ภาวินท์ : “ผมว่าลูกก็เป็นส่วนสำคัญเหมือนกัน ที่จะเข้าหาพ่อแม่ แต่ด้วยความที่มันมีความห่างกันของอายุ จึงทำให้ลูกอาจจะไม่ค่อยอยากเข้าหาพ่อแม่ เพราะรู้สึกว่ามันไม่สนุกเหมือนการอยู่กับเพื่อน แต่ผมรู้สึกว่า พ่อแม่ก็มีบางมุมเหมือนกันที่เราอยู่ด้วยแล้วมันดี ดีกว่าการที่อยู่กับคนในวัยเดียวกัน ถ้าเราปรับในส่วนนี้ได้ ก็น่าจะทำให้ชีวิตครอบครัวดีขึ้น”

 

หมอแม่ :  “แม่ว่าความรุนแรงในครบครัวมันอันตรายนะ ถ้ามีมันต้องเลี่ยง ต้องออกมาจากสถานการณ์นั้น  การทำร้ายกันระหว่างคนในครอบครัว แม่ว่ามันรุนแรงมากกว่าจากคนนอกด้วยซ้ำ พ่อแม่ จริง ๆ แล้ว เค้ารักเรา แต่เค้าปฏิบัติตัวไม่ดี หรือเค้าไม่รู้จะปฏิบัติตัวกับเรายังไง หรือบางคนอาจจะไม่รักเราเลยก็ได้ แม่ว่ามันก็อาจจะเป็นทางหนึ่งที่เราอาจจะเอาตัวออกมา เพราะเราไม่เหมาะที่จะอยู่กับคนที่เค้าไม่รักเรา”

 

 

แม่ กับ แฟน ต้องเลือกอะไรดี?

หมอแม่ :  “แม่ตอบว่าไม่เลือก แม่จะไม่บีบบังคับให้ลูกอยู่ในสถานะที่ต้องเลือก เพราะเราก็เคยเห็นนะ บางบ้านคือต้องให้เลือก แล้วสุดท้าย ไม่ว่าลูกจะเลือกใคร ลูกก็ไม่มีความสุข คือจุดประสงค์ของเรา เราอยากให้ลูกมีความสุข ไม่ได้อยากให้ตัวเรามีความสุข เพราะฉะนั้นถ้าสมมติเค้าเลือกแม่ คนก็จะมองว่าลูกกตัญญู แล้วถามแม่ว่าจริง ๆ แม่มีความสุขเหรอที่เค้าจะต้องจากคนที่เค้ารัก ต้องแยกจากแฟนเค้า แม่อาจจะดีใจแค่ว่าลูกรักเรามากกว่า แต่จริง ๆ แม่ว่า มันคนละสถานะกัน คือ แม่กับแฟนมันไม่น่าจะต้องเลือก เราสามารถมีความรักของแม่ มีความรักแฟน มีความรักของลูก ซึ่งมันคนละสถานะกัน”

 

ภาวินท์ : “จริง ๆ ผมเคยคุยกับแม่เรื่องนี้นะว่า ถ้าต้องเลือกจริง ๆ มันก็ต้องเลือกแม่ มันเป็นคำกล่าวที่ยากนะ แต่ผมคิดว่า ถ้าเกิดต้องเลือก ก็ต้องเลือกแม่ แต่ผมก็คิดว่า แม่คงไม่ให้ผมเลือกหรอก”

 

หมอแม่ :  “ใช่ ๆ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า คำพูดที่ลูกเลือก มันไม่ได้ทำให้เค้ามีความสุข เมื่อเราเป็นแม่ เราก็ต้องอยากให้ลูกเรามีความสุข คือแม่กำลังจะบอกว่า เราอย่าบีบให้ลูกเราไปอยู่ถึงจุดนั้น ถ้าสมมติว่ามันมีท่าทางมา มันจะต้องแก้ปัญหากันก่อน อย่าไปถึงจุดที่ว่ามันร้ายแรงจนกระทั่งต้องเลือกคนใดคนหนึ่ง ซึ่งคนที่จะเป็นคู่ชีวิตกับลูกเรา ไม่ได้มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งแม่เองพอจะรู้ว่าเค้าชอบแบบไหน แต่ว่าแม่อยากให้เค้าอยู่กับคนที่เค้าอยู่ด้วยแล้วสบายใจ อยู่แล้วเค้าเป็นตัวของตัวเองได้ ไม่ต้องระวังว่าเดี๋ยวเค้าจะงอน เดี๋ยวจะต้องไปง้อ ก็คือต้องเป็นคนที่อยู่ด้วยกันแล้วสบาย ๆ คือใครก็ได้นะ จะผู้หญิง หรือผู้ชายก็ได้ หรือเป็นใครก็ได้ แต่ว่าขอให้ลูกเราอยู่กับเค้าแล้ว ลูกเรามีความสุข”

 

ภาวินท์ : “ผู้หญิงที่อยากอยู่ด้วย เวลาที่มีคนถามว่ามีสเป็กแบบไหน ก็ตอบเลยง่าย ๆ ว่าเหมือนแม่ แบบพูดอะไรไม่ตัดสิน มีอะไรพูดกันตรง ๆ ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีครับ”

 

หมอแม่ :  “เรื่องแฟน แม่ว่ามันเป็นช่วงอายุ แม่ก็จะบอกเค้าว่า ตอนนี้อาจจะชอบผู้หญิงแบบนี้ แต่อย่าเพิ่งไปคิดไกลถึงว่า ต้องแต่งงาน ต้องสร้างครอบครัว ขอแค่ว่าวันนี้เรามีความสุขกับการอยู่กับเค้า เพราะพอแม่แก่มาถึงป่านนี้ แม่ถึงรู้ว่าชีวิตเราไม่จำเป็นต้องวางแผนไกลมาก เพราะว่าเราไม่รู้ว่าอีกเดือนสองเดือน ใครจะเปลี่ยน พยายามดูแลความรู้สึกทั้งเราและเค้า ดูแลจิตใจเราให้มีความสุขกับช่วงเวลานี้

แม่บอกเค้าเลยว่า คนเราไม่จำเป็นต้องแต่งงาน ถ้าจะแต่งก็เพราะเราอยากจะแต่ง แต่เราต้องมีคู่ชีวิต ซึ่งคู่ชีวิตเราเป็นใครก็ได้ อาจจะเป็นเพื่อนเราก็ได้ แต่ต้องมีคนที่เราสามารถที่จะเปิดอกได้ พร้อมซัพพอร์ทเรา คุยกับเราได้ ซึ่งคนนี้แม่อยากให้เค้า มีเพราะแม่ก็อาจจะอยู่กับเค้าอีกไม่นาน

หลายคนบอกว่าเป็นแม่สามีดีเด่น เพราะเราก็อยากให้ลูกสะใภ้มีที่พึ่ง และแม่ก็อยากจะปลูกฝังคนที่จะเป็นแม่สามีในอนาคตว่า เราเลือกที่จะเป็นได้นะ แม่สามีไม่จำเป็นต้องดุ แล้วถ้าลูกสะใภ้เราเค้ามีความสุข เค้าก็จะปฏิบัติกับลูกชายเราดี

ถ้าลูกเราเป็นผู้ชาย เราอาจจะต้องคิดแค่เรื่องของความรับผิดชอบ และจะต้องปลูกฝังให้ลูกเรารับผิดชอบ ในกรณีที่วันหนึ่งผู้หญิงท้องขึ้นมา ลูกเราต้องรับผิดชอบเค้าให้ได้นะ แล้วก็ต้องรับผิดชอบ ต้องดูแลเค้า ถ้าอาจจะถึงขนาดที่ต้องตัดสินใจอยู่ด้วยกัน แต่ถ้าในกรณีที่เรามีลูกสาว ก็อาจจะต้องคุยเยอะนิดนึงว่า การที่จะไปอยู่กับเค้า ชีวิตเราจะเปลี่ยนไป กลายเป็นว่าเราจะต้องพึ่งผู้ชายคนนี้ การตัดสินใจอะไรในชีวิตเราหลังจากนี้ ต้องขึ้นกับผู้ชายคนนี้ ลูกโอเคไหม แล้วถ้าเกิดมีปัญหา มีลูกขึ้นมา ผู้ชายคนนี้เค้าจะดูแลเราไหม แม่ว่าเรื่องนี้ ที่ผู้หญิงจะต้องคิดเยอะ ๆ”

 

ภาวินท์ : “แต่งก่อนอยู่ กับ อยู่ก่อนแต่ง ผมเลือก อยู่ก่อนแต่งครับ เรื่องนี้เคยคุยกับแม่ครับ แต่ผมรู้สึกว่าเรื่องนี้ แม่เค้าก็ไม่ได้เห็นด้วยแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าเค้าคำนึงในเรื่องของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเลย แม่จะปลูกฝังมากเลยเรื่องการคุมกำเนิด แต่ผมก็คิดว่าถ้าอยู่ก่อนแต่ง มันก็จะได้เรียนรู้กันก่อนที่จะไปแต่งงาน แต่จากมุมมองของคุณแม่ ผมรู้สึกว่าน่าสนใจเลยในเรื่องการปลูกฝังในเรื่องการคุมกำเนิด ผมรู้สึกว่าเรื่องนี้ดี”

 

 

หมอแม่ ที่แท้แล้วเป็นหมออะไร?

หมอแม่ :  “จริง ๆ ตอนก่อนจะเลือกเนี่ย พอเรียนจบแล้ว เราก็จะวนไปทุก ๆ สาขา ตอนนั้นอยากจะเรียนสูตินรีแพทย์  แต่ปรากฏว่ามันมีครั้งหนึ่งตอนที่เราดูคนไข้ เราได้ดูเค้าตั้งแต่มาฝากท้อง แล้วเค้าอายุใกล้ ๆ กับเรา เราก็คุยกันเหมือนเป็นเพื่อน เพราะว่าเดือนหนึ่งเค้าก็จะมาครั้งหนึ่ง ดูแลจนกระทั่งคลอด คือเราก็สนิทกับเค้ามาก ปรากฏว่าวันนั้นเราอยู่เวรพอดี เค้ามาด้วยอาการหมดสติ ความดันสูงมาก แล้วก็เราต้องรีบผ่าตัด ปรากฎว่าช่วยได้แค่ลูก คุณแม่เค้าเสียชีวิต เราก็เลยรู้สึกว่าที่เราดูแลเค้ามา คือเราช่วยอะไรเค้าไม่ได้เลย แล้วเราก็รู้สึกเหมือนกับว่า เราทำใจไม่ได้ เหมือนกับเราเอาตัวเองเข้าไปอยู่กับคนไข้มากเกินไป  จนเรารู้สึกว่าไม่ได้แล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ในอนาคต เราทำอาชีพนี้ไม่ไหวแน่ ๆ เราก็เลยเลือกสาขาที่ไม่ต้องมีคนไข้เสียชีวิตในมือเรา คือ จักษุแพทย์ เราอยู่กับคนไข้สูงอายุเป็นหลัก และทำหน้าที่ดูแลดวงตาให้คนไข้ดีกว่า”

 

ก่อนเป็น อินฟลูฯ ภาวินท์ ทำอาชีพอะไร?

ภาวินท์ : “ผมจบวิศวะ ด้วยความที่ตอนแรกชอบฟิสิกส์ เราก็เลยเรียนวิศวะมา แล้วก็ทำงานวิศวกรอยู่นิดหน่อย เขียนโปรแกรมได้นิดหน่อย ตอนนี้อายุ 26 เรียนจบตอนอายุ 21 แล้วก็เป็นฟรีแลนซ์ เขียนโปรแกรมบ้าง ไปลองถ่ายวีดีโอบ้าง ลองทำมาหลายอย่างเหมือนกัน วนไปทำสายโปรดักชั่นเฮ้าส์อยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็วนกลับมาอยู่กับคุณแม่ มาทำบริษัทกับคุณแม่

ตั้งแต่รับเป็นฟรีแลนซ์ ถ่ายทำตัดต่อ ทำโฆษณา เราก็มีอุปกรณ์อยู่แล้ว และพอจะมีความรู้ในเรื่องการจัดแสง การจัดภาพ เราก็เอามาทำกับคอนเทนต์ของเรา ตอนแรกคือตั้งกล้องสองตัว แต่หลัง ๆ ใช้มือถือเครื่องเดียว บางทีไม่ใช้ไมค์ด้วย เหมือนกับรูปแบบของการทำสื่อมันเปลี่ยนไป แต่ก่อนคนจะชอบดูภาพสวย แต่ว่าพอเรายิ่งทำไป กลายเป็นว่า คนชอบความ Real ผมเลยยอมให้ภาพสวยน้อยหน่อย เสียงอาจจะดีไม่เท่า แต่ว่าเราได้ตัวคอนเทนต์ เราได้ความ Real เข้ามา”

 

หมอแม่ :  “เรียนจบวิศวะ มาเป็นอินฟลูฯ แม่ไม่ว่าเลย พอเราเห็นว่าเค้าทำงานแล้วมีความสุขกับการทำงาน เค้าเป็นคนที่ชอบทำอะไรใหม่ ๆ ซึ่งมันไม่เหมาะกับงานประจำ มันอาจจะไม่ตอบโจทย์เค้า แม่ก็คิดว่าสิ่งที่เค้าเรียนมา เค้าก็ได้ความรู้ และก็ได้ใช้นำมาใช้ในชีวิต มันอาจจะเป็นวิชาชีพเฉพาะ ก็เป็นทางเลือกว่า วันหนึ่งถ้าไปทางนี้ไม่ได้ อย่างน้อยเราก็มีทางสำรอง แต่ว่าเราก็ให้เค้าลองหลาย ๆ อย่าง ถ้าเค้ารู้สึกว่าทำอะไรแล้วมันมีความสุขก็ทำเลย ชีวิตคนเรามันไม่ได้ยาวมากนะ อะไรที่ทำแล้วมีความสุข แม่ว่าให้เค้าทำไปเถอะ ถ้าไม่ดีเดี๋ยวเค้าก็เลิก แต่แม่ว่าสถานการณ์แต่ละคนไม่เท่ากัน เค้าอาจจะมีทางเลือกเยอะกว่าเพราะว่าเค้าไม่ต้องรับผิดชอบแม่ในเวลาที่แม่ยังแข็งแรงอยู่ แต่ในขณะเดียวกันถ้าสมมติว่า เราเป็นแม่บ้านเฉย ๆ แล้วเค้าต้องดูแลครอบครัว เค้าก็อาจจะตัดสินใจลองผิดลองถูกไม่ได้ไง เพราะฉะนั้น แต่ละครอบครัวก็คือเงื่อนไขต่างกัน”

 

ภาวินท์ : “ในการพัฒนาคอนเทนต์ผมรู้สึกว่า มันเป็นรูปแบบการนำเสนอเฉย ๆ ตัวเนื้อในมันอาจจะมีการปรับเปลี่ยนแล้วแต่ความสนใจในแต่ละช่วงของเรา อย่างช่วงนี้เราอยู่กับแม่เยอะ เราอินเรื่องความสัมพันธ์  เราอินเรื่องสุขภาพ เราก็สื่อสารไปในแนวทางนี้ แต่ว่าหลังจากนี้ เราอาจจะมีการปรับรูปแบบ คือพอเราคุยกันไปเรื่อย ๆ ก็จะมีบางครั้งที่คิดไม่ออกว่าจะคุยอะไรกันดี เราก็ต้องมีการปรับรูปแบบให้เนื้อหามันยังดูน่าสนใจอยู่ เราก็อาจจะมีการปรับรูปแบบ แต่คิดว่าการทำคอนเทนต์ก็จะทำไปเรื่อย ๆ ทำเท่าที่เราทำไหวผมมีความสุขกับการที่อยู่กับคุณแม่ แล้วมันก็เป็นงานไปด้วย ได้งาน ได้ใช้เวลากับครอบครัว ผมรู้สึกว่า มันเป็นอะไรที่โอเคสำหรับผมมาก ๆ”

 

 

ความรัก คำขอบคุณ จาก ภาวินท์ และหมอแม่

หมอแม่ :  “ทุกวันนี้เค้าทำเกินความคาดหวังนะ จริง ๆ คือ เราก็ไม่ได้หวังอะไรมาก แค่เค้าดูแลตัวเองได้ก็พอ เราไม่ได้คาดหวังว่า วัยนี้เค้าจะมาดูแลแม่ได้ แต่ปรากฏว่าที่เราคิดมันเกินความคาดหมาย คือเค้าสามารถดูแลตัวเอง จัดระเบียบชีวิตของเค้าเองได้ แล้วก็ดูแลแม่ได้ในวัยที่แม่ยังไม่ต้องการการดูแลมากด้วยซ้ำ แต่เค้าก็ดูแลเราเป็นอย่างดี ซึ่งมันเกินความคาดหมาย”

 

ภาวินท์ : “ขอบคุณแม่ เพราะว่าบางอย่าง เค้าก็จะมีคำถามว่าทำแบบนี้จะดีเหรอ จะทำดีไหม แต่สุดท้ายเค้าก็เห็นด้วย เค้าก็ยอมลองไปกับผม ในวันที่อายุก็เริ่มไม่น้อยแล้ว แต่ก็ยังแบบยอมมาเล่นกับเด็ก ๆ ผมก็รู้สึกขอบคุณมาก ๆ ขอบคุณที่พูดกันได้ขนาดนี้ เป็นห่วงเรื่องสุขภาพแม่ เพราะว่าผมรู้สึกว่าสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ทุกอย่างมันจะพังไปหมดเลยถ้าสุขภาพไม่ดี แต่ถ้าสุขภาพเค้าดี เราก็น่าจะได้อยู่ทำคอนเทนต์ด้วยกันไปนาน ๆ”

 

หมอแม่ : “ก็อยากจะบอกเค้าว่าไม่ต้องห่วงแม่มาก แม่ดูแลตัวเองได้ อยากให้ลูกไปเที่ยวกับเพื่อน ไปใช้ชีวิตให้เต็มที่ แต่เค้าก็จะห่วง เราก็อยากบอกว่า เราไม่อยากจะเป็นตัวแปรสำคัญในการที่ลูกจะตัดสินใจทำอะไรในชีวิต”

 

 

เปิดรับแรงบันดาลใจได้ใน Club Inspired Day คลับที่เต็มไปด้วยข้อคิดแรงบันดาลใจ และมีคลังความรู้ที่พร้อมแชร์ ไปกับ Iconic และสองดีเจสุดเท่ “ดีเจเป้” และ “ดีเจแคน”  ได้ในทุกสัปดาห์

 

ดูรายการย้อนหลัง

album
จางหาย

Artist: ก้อย อรัชพร

0
0.8
1
Contact usGreenwave02-665-8377EFM02-665-8373
Advertise with usมัลลิกา ปราบอริพ่าย (กบ)(Atime Showbiz, Online Content)063-282-6915จุฑา วนศานติ (บี) (EFM)02-669-9512, 081-923-9823
อังคณา พองาม (นุก) (Greenwave)02-669-9444-7
ดาวน์โหลด Application ได้แล้ววันนี้ที่atime online application download from app storeatime online application download from play storeติดต่อสอบถาม / แจ้งปัญหาการใช้งานatimeplatform@atimemedia.com
บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน)เลขที่ 50 อาคาร จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เพลส ถนนสุขุมวิท21 (อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขต วัฒนา กรุงเทพ 10110