“งานครีเอทีฟ งานสร้างสรรค์ คนมักจะเข้าใจว่า ต้องคิดเติมเข้าไปให้เยอะที่สุด แต่จริง ๆ ลองเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า งานสร้างสรรค์ คือการเอาออกให้เหลือน้อยที่สุด มันจะทำให้คุณได้ของใหม่มาทันที”
เพราะที่ Club นี้ ทุก Story จะมีความหมายได้ Inspired ทุก Moment สำหรับ Club Inspired Day กับสองดีเจสุดเท่ “ดีเจเป้” และ “ดีเจแคน” ที่ได้เปิดไมค์ต้อนรับ แขกรับเชิญที่เต็มเปี่ยมไปด้วยวิธีคิด และแรงบันดาลใจ “ป๋าเต็ด ยุทธนา” เสาหลักของวงการเพลงอินดี้ไทย เจ้าพ่อเด็กแนวผู้สร้างเทศกาลดนตรีระดับตำนานของเมืองไทย กว่าจะมีวันนี้ ป๋าเต็ด มีวีธีคิดและมุมมองอย่างไร เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ และมีแรงบันดาลใจอะไรบ้าง ที่อยากแบ่งปันเพื่อจุดไฟฝันให้กับใครหลาย ๆ คน เรื่องราวทั้งหมดนี้ถูกแชร์เอาไว้แล้วในรายการ
ย้อนวัยเด็ก ของ ป๋าเต็ด ยุทธนา
“ผมว่าตัวเองโชคดี ที่อยู่ในครอบครัวที่ได้ออกแบบสภาพแวดล้อม เตรียมให้ผมได้มาทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งตอนเด็ก ๆ บ้านผมเป็นร้านหนังสือ เลยทำให้ผมกลายเป็นคนรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก แล้วคุณป้าซึ่งเลี้ยงผมมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งผมเรียกคุณป้าว่าแม่ ท่านเป็นครูมาก่อน ก็จะสอนผมอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ด้วยความที่บ้านเป็นร้านขายหนังสือ ก็จะมีหนังสือพิมพ์มาส่งทุกวัน แล้วป้าก็จะสอนผมอ่านพาดหัวข่าวทุกวัน เขาบอกว่าผมอ่านพาดหัวข่าวได้ตั้งแต่อายุ3 ขวบ แล้วคุณพ่อของผมทำงานอาชีพเป็นนักพากย์ ต้องไปพากย์หนังขายยาทั่วประเทศ แล้วเวลาไป เขาก็จะซื้อหนังสือ Pocket Book เอาไว้ไปอ่านระหว่างเวลาว่าง แล้วก็จะเอาหนังสือมาทิ้งไว้ที่บ้าน ผมก็หยิบมาอ่าน ผมเริ่มอ่านหนังสือที่พ่อทิ้งไว้ตั้งแต่ 7 ขวบ โดยหนังสือที่อ่านเป็นเรื่องสั้น ก็เลยทำให้ผมรักการอ่านตั้งแต่เด็ก
อีกข้อหนึ่งคือ คุณลุงทำโรงหนัง แล้วตอนเด็กผมอยู่โรงหนังใน อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นอำเภอที่เล็กมาก มีโรงหนังอยู่แค่สองโรง แล้วหนังที่เข้าโรงเรื่องหนึ่งจะเข้าประมาณ 2 วัน นั่นหมายความว่า ถ้าคุณดูโรงหนังสลับกันสองโรง คุณจะมีหนังดูทุกวันแบบไม่ซ้ำกันเลย ผมก็เลยสามารถดูหนังฟรีได้ และมีหนังให้ดูฟรีวันเว้นวัน แล้วบังเอิญว่าคุณป้าชอบดูหนัง แล้วเขาพาผมไปดูหนังทุกวัน แล้วการได้ดูหนังทุกวันแปลว่าเราไม่เลือกเลยว่ามีหนังอะไรเข้าอยู่ เพราะว่าเรื่องอะไรเข้ามาก็ต้องดู ผมก็เลยได้ดูหนังทุกประเภท และสนุกกับหนังทุกแบบ ไม่ว่าจะหนังจีน หนังแขก หนังไทย หนังฝรั่ง แม้แต่หนังที่เขาว่าห่วยผมก็ดูได้อย่างสนุกสนาน ดูด้วยความเข้าใจผมอยากเข้าใจว่าทำไมเขาถึงให้สร้างหนังเรื่องนี้ออกมาได้ ถ้ามันห่วยขนาดนั้น หรือบางเรื่องที่เขาว่าห่วย แต่มันทำเงินได้เยอะ แล้วคนแบบไหน ที่จะชอบหนังแบบนี้ แล้วทำไมคนแบบนี้ถึงไม่ชอบหนังแบบอื่น เราก็ได้เรียนรู้ชัด ๆ อีกที ตอนที่ไปทำงานช่วงปิดเทอมกับคุณพ่อว่า หนังขายยามันคือ ฉายหนังเรื่องเดียวแล้วก็วนไปฉายแต่ละหมู่บ้าน มันทำให้ผมได้ดูหนังเรื่องเดิมทุกคืน แต่เปลี่ยนกลุ่มคนดู ไปหมู่บ้านนี้ฉากนี้คนฮามาก พอไปอีกหมู่บ้านฉากนี้ไม่ฮา แต่ไปฮาอีกฉากนึง ไปอีกหมู่บ้านกลับร้องไห้กันแบบถล่มถลาย ซึ่งพอโตขึ้นแล้วมองย้อนกลับไป ถึงเข้าใจว่าจริง ๆ แล้ว พ่อเราสอนเรื่องกลุ่มเป้าหมายมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่เรายังไม่ได้เรียนนิเทศาสตร์ แต่ละหมู่บ้านเดโมกราฟฟิกไม่เหมือนกัน หมู่บ้านนี้เด็กเยอะ หมู่บ้านนี้วัยรุ่นเยอะ อีกหมู่บ้านคนแก่เยอะ มันก็จะทำให้เขาชอบหนังเรื่องเดียวกันในคนละจุด หรือเขามีปฏิกิริยาตอบรับกับหนังคนละแบบ และผมก็เข้าใจว่า มันไม่มีคำว่าหนังที่ดีที่สุด หรือหนังที่ห่วยที่สุด มันอยู่ที่ว่าหนังเรื่องไหนมันเหมาะกับใคร หรือกระทั่งหนังเรื่องเดียวกันในแต่ละฉากก็เหมาะกันคนบางกลุ่ม แล้วพอถึงตอน ม.6 ตอนนั้นผมก็ยังนึกไม่ออกว่าจะเรียนอะไร แล้วพี่ที่บ้านก็บอกว่า ไปเรียนนิเทศศาสตร์สิ ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่รู้เลยว่า นิเทศศาสตร์ คืออะไร เราเลยไปศึกษาดูว่าคณะนี้คืออะไร ก็รู้ว่ามีเรียนทำหนัง ทำวิทยุโทรทัศน์ เรียนประชาสัมพันธ์ มันน่าจะสนุก ก็เลยลองไปเรียนจริง ๆ แล้วพอเข้าไปเรียน มันเหมือนเขาคัดคนที่เหมือนกลุ่มเพื่อนที่เราต้องคบไปตลอดชีวิตให้มาอยู่ด้วยกัน รุ่นพี่รุ่นน้องที่คุณต้องทำงาน และเจอกันไปตลอดชีวิต รวมมาอยู่ด้วยกัน ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเจอกันอยู่”
จุดเริ่มต้นของ “ป๋าเต็ดทอล์ก”
“ที่ผมทำรายการ ป๋าเต็ดทอล์ก มาจาก 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ สาเหตุแรกมันเริ่มจากช่วงที่เริ่มทำป๋าเต็ดทอล์ก เป็นช่วงที่บ้านเมืองมันมีความขัดแย้งกันค่อนข้างสูง ทั้งความคิดในเชิงการเมือง หรือแม้กระทั่งความคิดเห็นโดยทั่วไปผ่านสื่อ Social Media เราสามารถทะเลาะกันได้เพียงเพราะความเชื่อทางการเมืองเราไม่เหมือนกัน เกิดการทะเลาะกันแบบเอาเป็นเอาตาย มันเป็นการจุดประเด็นแรกขึ้นมา ผมเลยสงสัยว่าทำไมสังคมไทยมันมาไกลขนาดนี้ เพียงเพราะเห็นอะไรไม่ตรงกัน เราเลยเกลียดกันได้ขนาดนั้น
อีกประเด็นหนึ่งคือ คุณสุทธิชัย หยุ่น มาสัมภาษณ์ผม แล้วได้ถามความเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปในสังคม แล้ววันที่เขามาสัมภาษณ์ผม มันสร้างแรงบันดาลใจให้ผมมากเลย เพราะคุณสุทธิชัย หยุ่น เป็นปรมาจารย์ด้านข่าว แต่ทุกวันนี้เขาเกษียณแล้ว และไม่ต้องทำอะไรก็ได้ แต่เขายังเลือกที่จะทำรายการ แล้ววิธีการทำรายการของเขามันเก๋ามาก มันก็เลยสร้างแรงบันดาลใจให้ผมว่า จริง ๆ เราเป็นคนทำสื่อมาก่อน แล้วตอนนี้เราทำอีเวนต์ เราก็ยังมีนิสัยของคนทำสื่อ เราอยากเอาเรื่องที่อยากให้คนรับทราบ มาเผยแพร่ผ่านมุมมองของเรา เพื่อทำให้คนสนใจ หรือเข้าใจมันได้ง่ายขึ้น
มันเลยทำให้เกิดเป็น Concept ของ รายการป๋าเต็ดทอล์ก ก็คือ เอาความเป็นนักเล่าเรื่องของผม ที่อยากทำให้คนหันมาคิดกันว่า เรามีเรื่องอะไรก็ตามที่เห็นไม่เหมือนกัน ก่อนที่เราจะเริ่มเถียงกัน ให้เริ่มจากการทำความเข้าใจก่อน แล้วบางทีมันอาจจะไม่จำเป็นต้องเถียงกันเลยก็ได้ ซึ่งหลายอย่างมันอาจจะขัดกับความคิดของผู้คนจำนวนหนึ่ง หรือหลายอย่างมันอาจจะทำให้ เราไม่ชอบแขกรับเชิญคนนั้นด้วยซ้ำ แต่คนเราบังคับให้ชอบหรือไม่ชอบกันไม่ได้หรอก แต่คนเราเข้าใจกันได้ เข้าใจกันแล้วจะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ แต่มันไม่ต้องเกลียดกัน
สิ่งที่หลายคนพูดตรงกันเวลาที่มารายการป๋าเต็ดทอล์ก มันเหมือนกันว่า เขาได้มาพบจิตแพทย์ เขาได้เคลียร์ และได้พูดในสิ่งที่เขาอาจจะไม่กล้าพูดมาก่อน ซึ่งทั้งหมดมันอยู่บนพื้นฐานของความไว้ใจซึ่งกันและกัน มันเลยนำมาซึ่งบรรยากาศที่เรียกว่า Deep Talk จริง ๆ ซึ่งผมรู้สึกว่าผมไม่ได้เก่ง ผมให้เครดิตกับทีมงานทุกคนที่ทำการบ้านมาดี ตัดต่อดี แขกรับเชิญที่ไว้ใจผม แล้วทำให้การสัมภาษณ์มันไปถึงจุดที่เราไม่คาดคิดได้”
เจ้าพ่อเด็กแนว กับการเข้าใจคนทุก Gen
“การทำงานกับคนรุ่นใหม่ ผมว่าหลัง ๆ ก็เห็นปัญหาพอสมควร ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่น้อง ๆ แต่มันอยู่ที่ผม ตอนนี้ผมอายุ 57 แล้ว ซึ่งน้อง ๆ ส่วนใหญ่ในออฟฟิศก็อายุ 20 ปลาย ๆ ถึง 30 ต้น ๆ ก็เริ่มเห็นความยากขึ้นเรื่อย ๆ
ซึ่งหลักการในการทำงานกับคนต่างรุ่น มันก็ว่าด้วยเรื่องความเข้าใจ และคนวัยผมมันก็ผ่านการเป็นวัยรุ่นมาแล้วกันทั้งนั้นแหละ เราเองก็เคยผ่านกับการทำงานกับคนต่างรุ่นมาแล้ว ยิ่งคนแก่อย่างผมยิ่งได้เปรียบ เพราะเราผ่านมาแล้วทุกรุ่น เราแค่นึกถึงวันที่คุณอายุเท่าเขา คุณก็เป็นเหมือนกัน คุณเคยไม่เชื่อผู้ใหญ่ เคยตั้งคำถาม บางคนเขาคิดแต่ไม่กล้าพูดออกมา แต่ด้วยสภาพแวดล้อมวันนี้เขาคิดแล้วเขาพูดเลย เขาแสดงออกมาเลย ซึ่งไม่ใช่ความผิดในสภาพล้อมปัจจุบันมันทำแบบนั้นได้ สังคมพร้อมในการที่จะแสดงความรู้สึกออกมาให้ชัดเจน แต่ถ้าเป็นคนรุ่นเราก็จะเก็บไว้ก่อน แล้วก็เอาไปบ่นกับเพื่อน ซึ่งเราก็จะไประเบิดอีกทีหนึ่งในตอนที่ปัญหามันเกิดแล้ว และมันสายเกินจะแก้ เราเลยกลับมาถามตัวเองบ้างว่า ทำไมเด็กมันไม่คิดแบบเรา ทั้งหมดนี้คือการพยายามทำความเข้าใจกัน”
ถอดบทเรียนของ 3 Iconic ในชีวิตของ ป๋าเต็ด ยุทธนา
“ผมเริ่มทำงาน ตั้งแต่เป็นเด็กฝึกงานเลยครับ เริ่มที่แกรมมี่กับ พี่เล็ก บุษบา ดาวเรือง ตอนคอนเสิร์ตคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ด จะบินไปให้ไกลสุดขอบฟ้า ผมว่า Mind set ของผม มันทำให้ผมกลายมาเป็นผมในทุกวันนี้ ผมเป็นคนกลาง ๆ ไม่ได้เก่งที่สุด และไม่ใช่เกเรที่สุด เราเลยมีเพื่อนทั้งแก๊งเกเร และแก๊งเรียนเก่ง และเราไม่ใช่คนที่สุดขอบ เราไม่ใช่อันดับ 1 เลยทำให้เรามีโอกาส และเราเปิดใจที่จะเรียนรู้เสมอ และถูกปลูกฝังด้วยครอบครัวที่ให้เรามองโลกในแง่ดี เปิดรับทุกสิ่ง ซึ่งเวลาผมได้เรียนรู้กับอะไรสักอย่าง ผมจะพยายามเรียนรู้อย่างจริงจังมาก
ในมุมมองหลังจากที่ผมได้มีโอกาสร่วมงานด้วย พี่เล็ก บุษบา ดาวเรือง ผมได้รับอิทธิพลจากพี่เล็กมาครึ่งตัวเลย ในพาร์ทของการมองโลกในแง่ดี พาร์ทแห่งการยิ้มเข้าหาปัญหา เวลาเราเกิดปัญหาเรามักจะโกรธ หรือโมโห ซึ่งเสียเวลาไป 5 นาทีแล้วกับการโกรธ แต่เมื่อปัญหาเกิดขึ้น แล้วเรามานั่งคุยกันว่าวิธีนี้มันใช้ไม่ได้เราตัดมันออกไปเลย ทุกปัญหามีทางออก ให้ยิ้มแล้วก็สนุกกับมันมากกว่าที่จะหงุดหงิด แล้วมันทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้หมด ซึ่งนี้คือสิ่งที่ผมได้จากพี่เล็ก บุษบา
สำหรับ พี่เบิร์ด ธงไชย นี่คือตัวอย่างของคำว่ามืออาชีพ พี่เบิร์ดเป็นคนที่รู้หน้าที่ของตัวเอง ในการทำคอนเสิร์ตพี่เบิร์ดต้องเต้นกี่เพลง ร้องกี่เพลง ใช้พลังงานแค่ไหน พอพี่เบิร์ดรู้ว่าต้องมีคอนเสิร์ต ก่อนหน้านั้น 3 เดือน พี่เบิร์ดจะเดินบนสายพานเป็นเวลาเท่ากับคอนเสิร์ตทุกวัน นี่คือตัวอย่างที่ดีของการมีวินัย อีกอย่างคือเคารพหน้าที่ของทุกคน ผมรู้จักพี่เบิร์ดมา 30 ปีแล้ว จนวันนี้พี่เบิร์ดยังเหมือนเดิมทุกประการ ให้เกียรติกับทีมงานทุกคน พี่เบิร์ดเชื่อว่าคนที่มาทำเสื้อผ้าให้ ก็ต้องเป็นคนที่เก่งที่สุดแล้วในการมาทำเสื้อผ้า แล้วพี่เบิร์ดเสมอต้นเสมอปลาย ใครทำงานกับพี่เบิร์ดทุกคนก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันทั้งนั้นว่าทำงานด้วยแล้วมีความสุข
ส่วน คุณไพบูลย์ ดํารงชัยธรรม พี่บูลย์ เป็นสัญลักษณ์ของการเป็นนักธุรกิจที่เท่มาก รสนิยมดี พี่บูลย์เป็นนักการตลาด ณ วันที่ก่อตั้งแกรมมี่ พี่บูลย์ กับ พี่เต๋อ เป็นคู่หูที่ลงตัวที่สุด พี่เต๋อ คือสุดยอดของ Producer ตัวพ่อแห่งวงการเพลง ทุกคนต้องเชื่อพี่เต๋อหมด ในขณะเดียวกัน พี่บูลย์ ก็เป็นสุดยอดนักการตลาด คือเป็นคนที่เล่นดนตรีไม่เป็นเลย แต่เป็นตัวแทนเสียงของประชาชน เวลาคุยกันเรื่องเพลงนี้จะฮิตหรือไม่ฮิต พี่เต๋อ ก็จะฟัง พี่บูลย์ แต่ถ้าในทางวิชาการก็ต้องยกให้ พี่บูลย์ ซึ่งในมุมของความเป็นนักการตลาด ผมว่ามันมีอะไรหลายอย่าง พี่บูลย์ ได้พิสูจน์ให้เห็น แกรมมี่เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ ก็ฝีมือพี่บูลย์”
Short Cut ความสำเร็จ จากเจ้าพ่อเด็กแนว
“ความที่ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนเก่ง มันก็เลยกลายเป็นอาวุธลับของผม คือผมพร้อมที่จะซึมซับทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว ผมพร้อมที่จะลดอีโก้ของผม เพื่อที่จะซึมซับสิ่งที่ดี ๆ จากคนที่อยู่รอบ ๆ ข้าง ผมชอบสอนลูกน้องหลายๆ ครั้ง เวลาที่เราเจอความขัดแย้งมาก ๆ ท่าไม้ตายของผมเวลาที่เจอความขัดแย้งระดับสูง ๆ ผมจะบอกว่า เราจงต่อสู้ด้วยวิธีการยอมแพ้ คือบางครั้งถ้าเรารู้ว่าชนไปมันแตกหักด้วยกันทั้งคู่ แล้วไม่เกิดอะไรดีเลย อย่างนั้นเรื่องนี้เรายอมเค้าก็ได้ อย่างน้อย งานโปรเจกต์นี้จะได้เดินต่อไปได้ มองภาพรวมเป็นหลักดีกว่า ความยอมรับได้ว่าบางเรื่องเราก็โง่ได้ บางเรื่องเราก็แพ้ได้ ดีต่อชีวิตในระยะยาวมากกว่า ความพยายามที่จะชนะ แล้วก็ฉลาดไปในทุกเรื่อง
ผมไม่เชื่อเรื่อง ความจริงมีหนึ่งเดียว ถ้าสมมุติคุณชูกําปั้นขึ้นมา แล้วเรามองจากหลายมุม ภาพกำปั้นก็เปลี่ยนไป สิ่งที่เราต้องทำก็เพียงแค่เราลองเปลี่ยนมุมมองดูบ้างไหม และมุมมองที่ผมได้จากพี่ ๆ คือ งานครีเอทีฟ หรือ งานสร้างสรรค์ คนมักจะเข้าใจว่าคิดให้เยอะ ๆ แล้วเติมเข้าไปให้เยอะที่สุด แต่คุณลองเปลี่ยนมุมมองใหม่ดูว่า งานครีเอทีฟ คือการเอาออกมาให้เยอะที่สุด และให้เหลือน้อยที่สุด คุณจะได้ของใหม่เลยทันที ซึ่งไอเดียที่ได้ ผมไม่ได้บอกว่ามันจะเป็นไอเดียที่เจ๋งที่สุด แต่มันจะเหมาะกับเวาลาที่คุณต้องทำตามโจทย์มากที่สุด เพราะมันคือการคิดจากโจทย์ก่อน แล้วค่อยหาคำตอบ สมมติอีกแบบหนึ่ง คุณอาจจะถมไอเดียคุณไปหมดทุกอย่าง แต่สิ่งที่ได้คือ คุณชอบมาก แต่คอนเสิร์ตนั้นคนอาจจะไม่ซื้อตั๋วเลย หรือคุณอาจจะทำงานไม่ทัน ไอเดียดีมากเลย แต่ผ่านไป 3 วันหมดเวลา แต่คุณทำงานได้ไม่ถึง 10 % ของสิ่งที่คิดไว้ สุดท้ายมันก็เจ๊งอยู่ดี”
วิธีการเลี้ยงลูกสุดแนว ของเจ้าพ่อเด็กแนว
“ผมว่าผมโชคดีที่บ้านผมอยู่ด้วยเหตุและผลพอสมควร เราสนุกกับการถกเถียงในแบบที่เอาเหตุผลมาถกเถียงกัน แล้วการที่ลูกผมโตขึ้นมา เริ่มตั้งแต่อยู่ในท้อง มันจะมีเครื่องที่เอาไว้ให้พ่อคุยกับลูกในท้อง ตอนนั้นผมเปิดเพลงของ The Beatles ให้ฟัง เพราะผมรู้สึกว่า The Beatles คือวงดนตรีที่เหมาะมาก ที่จะทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ดนตรีทุกแนว และก็เข้าใจว่าเพลงที่มีคุณภาพเป็นอย่างไรผมจึงเปิดเพลงชื่อเพลง I Will ของ The Beatles ให้ลูกฟัง แล้วก็เป็นเบบนั้นจริง ๆ พอโตขึ้นมาผมก็รู้สึกว่าลูกฟัง The Beatles แล้วก็ชอบทันที
ผมเป็นคนเก็บหนังสือ เก็บ DVD ที่บ้าน แล้วก็เรียงไว้บนชั้นไว้ การ์ตูนอยู่ข้างล่าง ให้เหมาะกับความสูงของเขา พอโตถึงขั้นไหน ผมก็จะใส่หนังที่เขาดูได้ไล่ตามความสูงขึ้นไป ผมว่าผมปลูกฝังโดยไม่ได้ตั้งใจ มันไม่ถึงกับหยิบหนังมาให้ดู แต่วางของไว้รอบตัว เพื่อที่จะให้เขาโดนล้อมด้วยสิ่งเหล่านี้ เหมือนที่ผมโดนล้อมด้วยร้านหนังสือ ด้วยโรงหนัง ผมก็เลยโตมาเป็นแบบนี้ ผมก็เลยล้อมเขาด้วยกองหนังสือ กอง DVD แผ่นเสียง เขาก็เลือกหยิบในแบบที่เขาชอบ
ในการเลี้ยงลูก ผมแบ่งหน้าที่กับแม่เขา ซึ่งบังเอิญพอเป็นลูกสาวคนเดียว ก็จะแบ่งง่ายหน่อย พอเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องความงาม เรื่องแฟน คุณแม่ก็จะรับหน้าที่ไป แล้วตอนที่เขาเริ่มดื่มเบียร์ได้แล้ว ผมพาเขาไปดื่มเบียร์ด้วยกัน ค่อย ๆ ถามวา ขวดแรกเป็นยังไง มึนมั้ย ขวดที่สองเป็นยังไง เริ่มมึนแล้วใช่มั้ย แปลว่าคุณกินได้สองขวดแล้วมึน ถ้าคุณไปขวดที่สาม ต้องมั่นใจว่าคนรอบข้างคุณไว้ใจได้ เราไม่สามารถจะดูแลคุณได้ตลอดเวลา เราก็ต้องหัดให้เขาดูแลตัวเองมากกว่าที่จะไปบอกว่าอย่ากิน ทำยังไงเขาถึงจะอยู่กับสภาพแวดล้อมนี้ได้ปลอดภัยมากกว่าที่จะไปห้ามในสิ่งที่มันห้ามไม่ได้จริง"
ความฝันที่ยังไม่ได้ลงมือทำ ของ ป๋าเต็ด ยุทธนา
“ผมยังไม่ได้กำกับหนัง เป็นสิ่งที่ผมอยากทำมาก เพราะโตมากับการดูหนังทุกวัน จริง ๆ เหตุผลสำคัญที่เลือกเรียนนิเทศาสตร์ เพราะอยากทำหนัง ผมไม่ได้อยากเป็นดีเจ สมมติว่าฝันของเราคือ Google Maps มันเหมือนผมกดว่าจะไปเชียงใหม่ ก็เหมือนกับกดว่าจะไปทำหนัง แล้วผมก็ขับรถตามไปตามที่มันบอก แต่ระหว่างทาง ถึงอ่างทอง มีก๋วยเตี๋ยวอร่อย ก็ลองแวะเที่ยวสักสองสามคืน แวะอุทัยธานีกินปลาเผา จนถึงวันนี้ผมยังไม่ถึงเชียงใหม่เลย แต่ผมก็ยังตั้งใจว่าจะไปเชียงใหม่ ผมก็ยังสนุกมากกับสิ่งที่ทำตอนนี้ ผมรู้ว่าการจะทำหนังเรื่องหนึ่งมันไม่สามารถทำเป็นงานอดิเรกได้ ผมอาจจะต้องหยุดทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมกำลังทำอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งถามว่าตอนนี้หยุดได้ไหม ก็หยุดไม่ได้ มันมีความรับผิดชอบที่เราหยุดไม่ได้ แต่เป้าหมายก็ยังอยู่ที่เชียงใหม่เหมือนเดิม”
จากเจ้าพ่อเด็กแนว สู่นักเล่นโป๊กเกอร์
“ผมเติบโตมาท่ามกลางวงไพ่ ต่างจังหวัด ตามงานเค้าชอบเล่นกัน ผมก็นอนหนุนตักแม่ ดูเขาเล่นกันไป พอแม่ลุกไปเข้าห้องน้ำ เราก็เริ่มดูให้เพราะเราดูเขาเล่นบ่อย จนมาเข้าใจกติกาโป๊กเกอร์ มันเกิดจากการดูหนังโจชิงสือ เราเห็นแล้วน่าสนุก เราก็พยายามไปหาข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย แล้วทำให้เราเข้าใจมากขึ้น จนมีวันหนึ่ง มีคนมาบอกว่า โป๊กเกอร์มันเป็นกีฬา มีแข่งกันอยู่ พอเรารู้ก็เลยเปิดดู มันเหมือนเชียร์กีฬาฟุตบอลนี่แหละ ที่ดูแล้วมีการวิเคราะห์เกม แล้วพอเรารู้ว่าใครก็ไปแข่งได้ ก็เลยลองไปแข่ง ครั้งแรกที่ไปนี่คือ ฮานอย ประเทศเวียดนาม พอลงแข่งครั้งนั้นถึงรู้สึกว่า เราเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ถึงขั้นวางแผนว่า อาชีพในบั้นปลาย ผมจะประกอบอาชีพเป็นนักโป๊กเกอร์”
เป้าหมาย ของ ป๋าเต็ด ยุทธนา
“เป้าหมายของผม คืออยากรวย แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น แล้วก็เล่นโป๊กเกอร์อย่างเดียว จริง ๆ ผมอยากจะมีชีวิตอิสระ แม้วันนี้มันยังมีภาระต้องทำ แต่วิธีที่จะไปสู่จุดนั้นได้ก็คือ รวยมาก จนทำอะไรก็ได้โดยไม่มีข้อจำกัด หรือ ต้องการน้อยมาก จนไม่ต้องมีมากก็ได้ ในวันที่หมดไฟ หลักการที่ผมเคยได้ยินมาก็คือ ลองคิดดูว่าวันนี้ถ้าเราตื่นมา แล้วไม่มีรายได้เข้ามาอีกเลย คุณจะใช้ชีวิตอยู่ได้นานแค่ไหน บางคนอาจจะบอกว่าอยู่ได้ 1 วัน นั่นแสดงว่าต้นทุนคุณสูง แต่ถ้าคุณยิ่งอยู่ได้นานเท่าไหร่ ก็แปลว่าต้นทุนคุณต่ำ ซึ่งเกิดจากสองเรื่องบวกกันคือ คุณสะสมไว้เยอะ กับคุณต้องการแต่ละวันน้อย ก็ต้องทำตัวให้คุณอยู่อย่างไรให้ได้นานที่สุด ความเครียดมันก็จะน้อยลง ผมก็ยังคิดว่าผมจะทำได้ไหม แต่นี่มันคือวิธีที่ทำให้ความเครียดน้อยที่สุด ต้องหาตรงกลางให้เจอ” - ป๋าเต็ด ยุทธนา
เปิดรับแรงบันดาลใจได้ใน Club Inspired Day คลับที่เต็มไปด้วยข้อคิดแรงบันดาลใจ และมีคลังความรู้ที่พร้อมแชร์ ไปกับ Iconic และสองดีเจสุดเท่ “ดีเจเป้” และ “ดีเจแคน” ได้ในทุกสัปดาห์
ดูรายการย้อนหลัง
Artist: THE TOYS ฟักกลิ้งฮีโร่