03 พ.ค. 2024
ลูกสาวม.1 อึดอัดใจ พ่อแม่แยกทางกัน พ่อให้เงินค่าขนมลูก อาทิตย์ละ 700 แม่ได้อาทิตย์ละ 1000 แต่พอได้เงินมา แม่ขอลูกอาทิตย์ละ 300-400 ยืมเงินค่าขนมลูกมาตั้งแต่ ป.5 ผ่านมา 3 ปี ยอดเป็นแสนแล้ว
ลูกสาวม.1 อึดอัดใจ พ่อแม่แยกทางกัน พ่อให้เงินค่าขนมลูก อาทิตย์ละ 700แม่ได้อาทิตย์ละ 1000 แต่พอได้เงินมา แม่ขอลูกอาทิตย์ละ 300-400ยืมเงินค่าขนมลูกมาตั้งแต่ ป.5 ผ่านมา 3 ปี ยอดเป็นแสนแล้ว พอไม่ให้แม่ก็ร้องไห้ใส่ลูกสาวเผยความรู้สึก หนูอยากจบลูปนี้จะทำยังไงดีคะ? “คุณมีน (นามสมมติ)” อายุ 13 ปี สายแรกในรายการ พุธทอล์ค พุธโทร เมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา [1 พ.ค. 67] ได้โทรเข้ามาปรึกษา ‘ดีเจเผือก - ดีเจเติ้ล - ดีเจต้นหอม’ เกี่ยวกับปัญหาที่ตัวเองโดนคุณแม่ยืมเงินตั้งแต่ ป.5 จนตอนนี้ขึ้น ป.1 แล้ว พฤติกรรมของแม่ก็ยังเหมือนเดิม โดย “คุณมีน (นามสมมติ)” ได้เล่าว่า ‘ย้อนกลับไปสมัยที่ยังเป็นเด็ก แม่ของหนูมักจะถามย้ำมาตลอด และถามย้ำแทบจะทุกปีว่า ‘ถ้าแม่กับพ่อเลิกกัน หนูจะเป็นอะไรไหม?’ จนกระทั่งขึ้นชั้น ป. 5 หนูก็บอกกับแม่ไปว่า ‘ถ้าแม่เหนื่อย แม่ก็ออกมานะ’ แล้วแม่ก็ถามอีกว่า ‘แล้วเราจะยังอยู่กับแม่ไหม?’ ตอนนั้นเลยตอบแม่ไปว่า ‘อยู่ค่ะ’ เวลาผ่านไปไม่นานพ่อกับแม่ก็หย่ากัน พ่อจึงย้ายไปอยู่กับภรรยาใหม่ ส่วนหนูก็อยู่กับคุณแม่ หลังจากนั้นก็ขึ้นชั้น ป.6 หนูทำคะแนนสอบ O-Net ได้เต็ม จึงได้เงินสนับสนุนจากโรงเรียน 5,000 บาท พฤติกรรมของแม่ก็เริ่มเปลี่ยน แม่ก็เริ่มที่จะขอยืมเงินจากหนูทีละ 2,000 บาท โดยอ้างว่าจะเอาเงินไปเปิดบัญชีให้ หนูก็ไม่ได้คิดอะไร เอาเงินให้แม่ไป แล้วหนูก็มารู้ทีหลังว่า แม่เอาเงินไปลงทุนขายของ แต่ไม่ได้กำไรอะไรกลับคืนมาเลย ให้เหตุผลกับหนูว่า ‘แม่ขายไม่ดี’ ซึ่งตอนนั้นหนูก็ไม่รู้เลยว่า ‘แม่เอาเงินของหนูไปใช้เพื่อการลงทุนขายของจริงหรือเปล่า ?’ หลังจากนั้นก็ขึ้นชั้น ม.1 หนูก็ได้เงินค่าขนมเพิ่มจากพ่อ เป็นรายอาทิตย์ครั้งละ 700 บาท แม่ก็เริ่มที่จะขอยืมเงินอีกครั้ง ซึ่งขอยืมทีละ 300 - 400 บาท หนูก็ถามหาเหตุผลจากแม่ แม่ก็ให้เหตุผลว่า ‘เอาไว้ใช้ซื้อข้าวให้หนู’ หนูอยากจะถามแม่ว่า ‘แล้วเงิน 1,000 ที่พ่อให้แม่เอาไว้ซื้อข้าวให้หนูมันหายไปไหน ?’ แต่หนูก็ไม่ได้ถามออกไป ทำได้แค่ให้เงินแม่ไป รวมถึงช่วงปิดเทอมด้วย หนูได้เงินค่าขนม 500 บาท แม่ก็จะมาขอยืมทีละ 200 - 300 บาท แล้วมันก็เป็นแบบนี้มาเรื่อย ๆ จนเคยมีครั้งหนึ่ง หนูลองปฏิเสธแม่ แม่เขาก็ร้องไห้ บอกกับหนูว่า ‘ทำไมหนูถึงไม่ช่วยเขาเลย หนูไม่รักเขาแล้ว’ ทุกครั้งที่ยืมเขาจะคืนบ้าง ไม่คืนบ้าง แต่จะขอยืมทุกครั้งเมื่อหนูได้เงิน ซึ่งหนูให้เกือบทุกครั้ง หนูก็ปล่อยเลยตามเลยไป โดยหลังจากที่แม่เลิกลงทุนขายของ แม่ก็ไปเป็นลูกจ้างขายของในตลาดหน้าโรงเรียน และตอนนี้แม่ก็ทำงานอยู่ในสถานบันเทิง ซึ่งแม่ก็ไม่ได้มีครอบครัวใหม่ ปัจจุบันแม่อายุ 46 ปีแล้ว หนูเคยถามว่า ‘แม่เอาเงินไปใช้ทำอะไร?’ แม่เคยให้เหตุผลว่าเอาไปเลี้ยงแมว เพราะหนูเคยเลี้ยงแมว ที่บ้านของแม่ ซึ่งแมวพวกนั้นก็ไม่ได้ทำหมัน ทำให้มีแมวเยอะ ภาระของแม่ก็เลยเยอะขึ้น ทั้งค่าอาหาร และค่าดูแลรักษา ในหลายครั้งที่แม่ยืมเงินหนู แต่ละอาทิตย์ หนูจะต้องบริหารเงินใช้เอง โดยการขอค่าขนมหรือค่าข้าวเพิ่ม จากคนอื่นในครอบครัว ซึ่งตอนนี้หนูขึ้น ม.2 แล้ว ตลอดระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ ป.5 ถึง ม.2 แม่ก็จะขอยืมเงินมาตลอด จากการคาดการณ์จำนวนเงินที่แม่ยืมก็น่าจะถึง 10,000 กว่า แม้ในตอนที่หนูชวนเขาไปเที่ยว หนูก็ต้องเป็นคนออกค่ากิน ค่าเดินทางให้เขาทั้งหมดเลย พ่อรับรู้เรื่องนี้ แต่พ่อไม่รู้ว่า ทุกวันนี้แม่ก็ยังยืมอยู่ ก่อนหน้านี้เคยมีเหตุการณ์ที่พ่อให้เงินหนูเพิ่ม เพื่อเอามาให้แม่ แต่แม่ก็ไม่รับเงินนั้น แต่ก็มาเอาเงินของหนูแทน พ่อกับแม่เคยทะเลาะกันเพราะเรื่องเงิน เพราะจริง ๆ แล้ว แม่ก็ทำงานมีเงินหลักหมื่น พอเขาทะเลาะกัน แม่ก็มาคุยกับหนูว่า ‘ทำไมถึงไปบอกพ่อ ทำไมหนูถึงไม่ช่วยเขาเลย’ แม่มักพูดประโยคเดิม ๆ ซ้ำ ๆ จนหนูจำได้ขึ้นใจ ตอนช่วงหลังๆ เวลาที่พ่อถามหนูก็ต้องแก้ต่างให้แม่ หลังจากเหตุการณ์ที่แม่บอกว่า ‘หนูไม่รักเขา’ ทุกครั้งที่แม่ขอยืม หนูก็จะปฏิเสธ แต่แม่ก็ยังทำเหมือนว่าเสียใจ จนหนูต้องเป็นคนรู้สึกผิด เพราะหนูถูกปลูกฝังมาโดยตลอดว่า ‘คนเป็นลูกต้องกตัญญู’ แม้ว่าแม่จะไม่เคยทวงบุญคุณ แต่หนูก็จะรู้สึกแปลก แม่ของหนูเป็นคนที่ชอบดูดวง จนมาพูดกรอกหูกับหนูตลอดเลยว่า ‘เขามีดวงที่มีคนเข้าอุปถัมภ์ เหมือนว่าเดี๋ยวเขาก็จะรวยขึ้น เขาจะมีเงินเยอะ แล้วหนูจะไม่มีวันทิ้งเขา’ เหมือนกับว่า ‘ให้แม่มาก่อน เดี๋ยวแม่ก็รวย แม่ก็จะใช้เงินดูแลมีน’ หนูอยากถามว่า ‘หนูควรจะทำอย่างไร ให้แม่หยุดยืมเงิน โดยที่ไม่ต้องมีปัญหาต่อ เพราะว่าหลังจากนี้ แม่คงไม่ได้มีบทบาทของความเป็นแม่อีกแล้วค่ะ’ ซึ่ง “ดีเจเผือก” ก็ได้ให้คำปรึกษาว่า ‘คงต้องบอกปัญหานี้กับพ่อ เพื่อให้พ่อเป็นคนจัดการปัญหาให้ เพราะแม่เขาคงคิดว่าเงินจำนวนนี้เป็นเงินของพ่อ เป็นเงินที่พ่อให้มา ไม่ใช่เงินของหนู เขาคิดว่านี่คือเงินที่พ่อ หรือญาติ ๆ ให้ เขาไม่ได้มองว่านี่คือเงินของมีน การที่เขามาเอาเงินจากมีน ก็เหมือนว่าเขาเอาเงินพ่อ ที่บางทีเขาอาจจะไปขอที่พ่อแล้ว แต่พ่อก็ไม่ให้ หรือมันอาจจะเป็นเงินที่เขาจำเป็นต้องใช้เพิ่มเติม ซึ่งถ้าหนูบอกว่าอยากให้เรื่องนี้จบ หนูก็ต้องบอกพ่อ ให้พ่อจัดการกับเรื่องนี้ แล้วหนูก็ต้องเลือกสักฝั่ง ต้องไม่ปกป้องแม่ ต้องเลือกทำสิ่งที่ถูก แล้วเรื่องนี้ก็จะจบ เพราะจุดเริ่มต้นมันมาจากเงินที่พ่อให้ หนูไม่สามารถจัดการกับเรื่องนี้เองได้ ต้องให้ผู้ใหญ่เป็นคนจัดการ แล้วก็เล่าเหตุการณ์ทุกอย่างให้พ่อฟังเหมือนที่โทรมาเล่าให้พวกพี่ฟัง’ ต่อมา “ดีเจต้นหอม” ให้คำปรึกษาว่า ‘ข้อหนึ่ง น้องมีนต้องเรียกแม่มาคุย ถ้าไม่กล้าก็ข้ามข้อนี้ไป แต่ถ้ากล้าก็บอกแม่เลยว่า ที่มีนเรียกแม่มาคุย เพราะต่อจากนี้มีนจะไม่ให้แม่ยืนเงินแล้ว เพราะมีนก็ยังไม่มีรายได้ แล้วปัญหาของแม่ก็คือ มันดีแค่ไหนแล้วที่แม่ไม่ต้องออกค่าเทอม ทั้ง ๆ ที่แม่ควรจะมีส่วนในการดูแลมีนด้วยซ้ำ แล้ววันนี้มินก็ไม่ได้เรียกร้องให้แม่ทำหน้าที่แม่ด้วยซ้ำ มีนก็แค่อยากจะบอกแม่ว่าปัญหาของแม่ แม่ก็ต้องแก้เอง และถ้าแม่มีปัญหาเรื่องเงินอีก มีนจะต่อสายให้คุยกับพ่อ เพราะนั่นเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ข้อสอง อาจจะแก้ว่าพ่อมีปัญหาเรื่องเงิน แม่ขอค่าเทอมหน่อย เพื่อให้แม่รู้ว่า นี่ก็เป็นหน้าที่แม่เหมือนกัน กับข้อสาม… วิธีของพี่เผือก… ให้ผู้ใหญ่จัดการปัญหานี้แทนเรา แล้วก็อยากให้มีนเข้มแข็งในการปฏิเสธ ต้องมีเด็ดเดียว ! สมมติว่าเขามาขออีก ก็บอกเขาไปเลยว่า ดีแค่ไหนแล้วที่แม่ไม่ต้องมาออกค่าเทอมให้มีน แม่รู้ใช่ไหมว่าการที่ทำให้เด็กคนนึงเกิดมา คนที่ทำให้เกิดมาจะต้องรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่าย อันนี้มันกลับตาลปัตรไปหมดเลย มีนต้องเข้มแข็ง ไม่ให้ก็คือไม่ให้ ! ถ้าแม่ร้องไห้ก็คือต้องยื่นทิชชูให้แม่ แล้วก็บอกว่าจะร้องอีกแค่ไหน ให้กลับไปร้องที่บ้าน อันนี้ยากไปไหมคะ ถ้ายากพี่จะบอกวิธีที่ง่ายกว่านี้… บอกแม่ว่า มีนก็ไม่มีเหมือนกัน แล้วถ้าแม่อยากได้จริง ๆ มีนจะให้แม่คุยกับพ่อนะ แล้วมีนก็ต่อสายโทรศัพท์ตรงนั้นเลย ทำยังไงก็ได้ แต่หนูต้องไม่ให้เขายืม เพราะเขาจะติดนิสัยแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เป้าหมายคือไม่ให้ยืมอีกแล้ว มีนต้องเก็บเงิน หรือบริหารเงินด้วยตนเอง เพราะตอนนี้มีนก็ 13 แล้ว เราต้องดูแลตัวเอง ! พี่ก็เห็นด้วย ที่คุณพ่ออาจจะต้องลงมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ แล้วไม่ว่าแม่จะว่าเรายังไงก็ตาม ก็ไม่ต้องสนใจ ถ้าแม่เป็นแบบนี้อยู่ พ่อก็ต้องลงมาจัดการ’ และสุดท้าย “ดีเจเติ้ล” ให้คำปรึกษาว่า ‘วิธีแรก แบบประนีประนอมที่พี่คิดได้ตอนนี้ ลองบอกแม่ว่าพ่อให้เงินใช้รายวัน ถ้าจะมาขอยืมต้องไปเอากับพ่อ หนูใช้วันละ 100 ก็ไม่พอแล้ว ถ้าแม่ต้องการเงินเพิ่ม ก็ไปเอากับพ่อเลย หนูไม่มี ! วิธีสอง ก็คือการคุยกับคุณพ่อว่าแม่ยืมเงินหนู แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม พี่อยากบอกกับมีนว่า ถ้าแม่เขาพูดว่า ทำแบบนี้คือลูกอกตัญญู พี่ว่าตัวพี่และคนอื่น ๆ ที่ฟังอยู่ อยากบอกหนูว่าหนูไม่ใช่เด็กอกตัญญู อย่างที่หนูบอก คุณแม่เขาต้องดูแลหนูด้วยซ้ำ แต่นี่หนูเอาค่าขนมของตัวเองไปให้เขาตั้ง 3 ปี มันไม่ใช่สิ่งที่หนูจำเป็นต้องทำด้วยซ้ำ แต่นี่คือหนูก็รักเขา อยากช่วยเหลือเขา แต่บางครั้งเราต้องรู้ว่า ถ้าเราต้องช่วยเหลือคนอื่น เราต้องไม่ลำบากด้วย แต่ตอนนี้มันชัดเจนว่า ตัวหนูลำบากและหนูมีใช้ไม่พอ หนูต้องไปขอเพิ่ม หนูจึงไม่สบายใจ เขาจำเป็นต้องรู้ผิดชอบชั่วดี ว่าการที่เขามายืมเงินลูกที่ลูกได้อาทิตย์ละ 700 แสดงว่าเขาก็ไม่ได้คิดเลยว่ามีนจะกินอยู่ยังไง หรืออาจเป็นเพราะว่าเค้ามั่นใจ ว่ามีนจะรอด เพราะว่ามีนยังมีพ่อกับป้าคอยดูแล แต่ถ้าเราทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เขาก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่เสียคน !’เรื่องราวทั้งหมดจะเป็นอย่างไร สามารถติดตามรับชมได้ทางใครมีปัญหาอยากโทรเข้ามาในรายการ Inbox ฝากเรื่องมาที่ Facebook Fanpage EFM STATIONรับชมรายการสดได้ทุกวันพุธ เวลา 21.00-23.00 น. ทางรายการวิทยุ EFM94 และ App Atime Fung Fin