
03 ก.ค. 2024
‘เสียงในหัวตอนอ่านหนังสือ’ มีที่มา…ใครกันนะที่พูดกับเรา?
‘ถ้าเสียงที่พูดอยู่ในหัวคือตัวเราเอง แล้วใครกันล่ะที่เป็นคนฟัง ?’เป็นคำถามเชาว์ปัญญาที่ชวนให้ขบคิดอยู่ไม่น้อย กับการที่ใครหลายคนบนโลกนี้สามารถอ่านออกเสียงในใจได้ และแน่นอนว่าในตอนที่เรากำลังอ่านบทความนี้อยู่ เสียงในหัวก็อาจกำลังทำหน้าที่ของมันเช่นกัน‘Subvocalization’ หรือ การอ่านออกเสียงในใจ เป็นมากกว่า ‘การคิด’ แต่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ตา ริมฝีปาก ลําคอ ลิ้น เส้นเสียง กล่องเสียง และขากรรไกร เชื่อหรือไม่ว่าในตอนที่เรากำลังอ่านออกเสียง ‘ในใจ’ ตัวเราเองก็ยังคงเคลื่อนไหวเล็ก ๆ น้อย ๆ คล้ายกับตอนที่เปล่งเสียงพูดอย่างไม่รู้ตัวในปี 2004 นักวิทยาศาสตร์จากนาซ่า ได้มีการทดลองติดเซ็นเซอร์ขนาดเล็กไว้ที่อวัยวะต่างๆของอาสาสมัคร เช่น บริเวณใต้คางและลูกกระเดือก พบว่า สมองของอาสาสมัครมีการตอบสนองราวกับว่ากำลังพูดอยู่จริงๆ ถึงแม้จะไม่มีการเปล่งเสียงออกมาเลยก็ตาม โดยการอ่านออกเสียงในใจสามารกระตุ้นสมองส่วน Broca ที่มีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับการใช้ภาษาทุกรูปแบบให้ทำงานได้การอ่านออกเสียงในใจ คือส่วนหนึ่งในพัฒนาการของเด็กเบธ ไมซิงเกอร์ และ โรเจอร์ เจ. ครอยซ์ รองศาสตราจารย์และอาจารย์สาขาจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยเม็มฟิส กล่าวไว้ว่า ในตอนเด็กเรามักจะเริ่มอ่านหนังสือด้วย ‘การออกเสียง’ เพราะการฟังเสียงของตัวเองสามารถช่วยให้เราทำความเข้าใจข้อความได้ง่ายมากขึ้น เมื่อโตขึ้นมาหน่อย เราอาจเปลี่ยนเป็น ‘การอ่านพึมพํา’ กระซิบ หรือขยับริมฝีปาก แต่พฤติกรรมนี้จะจางหายไปในตอนที่ทักษะด้านการอ่านพัฒนาขึ้น เราจะสามารถอ่านหนังสืออย่างเงียบๆ ‘ในหัวของตัวเอง’ ได้ และในตอนนั้นเอง คือตอนที่เสียงภายในหัวเข้ามามีบทบาทสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการพัฒนาทักษะการอ่าน ที่เด็กๆจะสามารถทำได้ดีในชั้นประถมสี่หรือห้า โดยการเปลี่ยนจากการอ่านออกเสียงเป็นการอ่านในใจนั้น คล้ายกับวิธีที่เด็กพัฒนาทักษะการคิดและการพูดนั่นเองทั้งนี้ เลฟ วีโกสกีนักจิตวิทยาชาวรัสเซีย ได้นิยามพฤติกรรมนี้ว่า ‘การสนทนาส่วนตัว’ เขากล่าวว่าไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้นที่มีพฤติกรรมนี้ แม้แต่ผู้ใหญ่ที่กำลังประกอบเครื่องดูดฝุ่นอันใหม่ บางทีเราอาจได้ยินพวกเขาพึมพํากับตัวเอง ในตอนที่กำลังทําความเข้าใจคําแนะนําในคู่มือดังนั้นเมื่อเด็กๆ กลายเป็นนักคิดที่ดีขึ้น พวกเขาจึงเปลี่ยนไปพูดในหัวแทนที่จะพูดออกมาดังๆ เมื่อเราเป็นนักอ่านที่ดีแล้ว การอ่านออกเสียงในใจจะง่ายยิ่งขึ้น ทั้งยังอาจช่วยให้อ่านได้เร็วขึ้นเพราะไม่จําเป็นต้องพูดออกมา และมีความยืดหยุ่นมากกว่า ช่วยให้เราจดจ่อกับสิ่งที่สําคัญที่สุดได้นั่นเองแล้วเสียงในหัวของเรา คือเสียงของใคร?การได้ยินเสียงตัวเองในหัวนั้นเป็นเรื่องปกติ งานศึกษา Characteristics of inner reading voices โดย Ruvanee P. Vilhauer พบว่าผู้คน4 ใน 5 บอกว่าพวกเขามักจะได้ยินเสียงในหัวตอนอ่านหนังสือในใจ นอกจากนี้เสียงในหัวยังมีหลายประเภทอีกด้วยซึ่งอาจเป็นเสียงพูดปกติของตัวเราเอง หรืออาจเป็นโทนเสียงที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงการศึกษาผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่ พบว่าเสียงที่ได้ยินในหัวอาจเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ตัวเรากําลังอ่าน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตัวละครในหนังสือกำลังพูดบางอย่างอยู่ เราอาจได้ยินเสียงของตัวละครนั้นในหัวดังนั้นอย่ากังวลไป ถ้าได้ยินเสียงมากมายในหัวตอนที่กำลังดําดิ่งลงไปในหนังสือ มันอาจหมายความได้ว่า คุณกลายเป็นนักอ่านออกเสียงในใจที่มีทักษะแล้ว