27 ก.ย. 2022
[REVIEW] ‘SMILE’ เมื่อรอยยิ้มฆ่าคนตาย หนังสยองสุดตึงเครียด | GOSSIP GUN
จุดเริ่มต้นของหนังสยองขวัญแห่งปีอย่าง Smile เกิดขึ้นจากหนังสั้น Laura Hasn't Slept ของ ปาร์กเกอร์ ฟินน์ ที่คอนเซปต์เจ๋งและสยดสยอง จนถูกใจผู้บริหารของค่ายพาราเมาต์ พิคเจอร์ หนังจึงถูกหยิบมาพัฒนาเป็นหนังใหญ่ โดย ปาร์กเกอร์ ฟินน์ กลับมาสานต่อความหลอนจากหนังสั้นของเขาเอง รับหน้าที่เป็นผู้กำกับหนังใหญ่ครั้งแรก สำหรับ Smile ฉบับยาว เล่าถึง ดร.โรส (รับบทโดย โซซี เบคอน จากซีรีส์ 13 Reasons Why) จิตแพทย์หญิงที่เพิ่งเผชิญเหตุการณ์สุดสยอง เมื่อคนไข้ของเธอฆ่าตัวตายต่อหน้าต่อตา ก่อนตายคนไข้คนนี้คลั่งและบอกว่า มีสิ่งลึกลับที่มีรอยยิ้มไล่ตาม ดร.โรส ยิ่งสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ จึงเริ่มสืบและพบว่า มีคนตายจากรอยยิ้มในลักษณะเดียวกันกว่า 20 คนแล้ว และที่น่ากลัวยิ่งกว่าคือ ดูเหมือนว่าคำสาปสุดอาถรรพ์นี้กำลังไล่ตามเธอเช่นกัน !สิ่งที่ทำให้ Smile มีเอกลักษณ์และแตกต่างจากหนังสยองขวัญเรื่องอื่นๆ คือ คอนเซปต์ ที่หยิบรอยยิ้มมาทำให้กลายเป็นความหลอน แม้เราอาจจะเห็นรอยยิ้มแบบหลอนๆในหนังมากมาย (อาทิ Joker และ Stephen King's It) แต่มันไม่เคยถูกหยิบมาเป็นแกนหลักของเรื่องอย่างจริงจัง บวกกับเส้นเรื่องในสไตล์การแก้คำสาป แบบเดียวกับ The Ring ที่ดูเหมือนจะไม่ได้เห็นกันมาสักพักใหญ่แล้ว ทำให้ Smile มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย และหนังยังมีกลิ่นอายแบบ It Follows หนังเขย่าขวัญที่ทำให้คนยืนนิ่งๆดูน่ากลัวได้ เรื่องนี้มีสไตล์คล้ายๆกัน แต่เพิ่มรอยยิ้มเข้าไป ทำให้ระหว่างดูหนัง แม้แต่คนที่ยืนยิ้มนิ่งๆ ยังชวนขนลุกได้ หนังทำให้เราผวาในแบบที่ไม่คาดคิดได้จริงๆนอกจากจะเป็นหนังสยองขวัญ อันที่จริงแล้ว Smile มีความเป็นหนังจิตวิทยาที่ชัดเจนมาก เพราะหนังเล่นกับตัวละครหลักคือ ดร.โรส ซึ่งเป็นจิตแพทย์ แต่อันที่จริงแล้วเธอเองก็เคยเผชิญปัญหาทางจิตมาก่อน และยิ่งมาเจอกับเหตุการณ์หลอนที่หาทางออกไม่ได้แบบนี้ ยิ่งทำให้เธอสติแตกไปกันใหญ่ ความเก่งกาจของหนัง คือการทำให้ผู้ชมตึงเครียด และเหมือนจะประสาทแดกแบบนางเอกได้เหมือนกัน เมื่อหนังยิ่งดำเนินไป ข้อแม้ต่างๆของหนัง ปมคำสาปจากรอยยิ้ม มันชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ การผูกปมของหนังมันเลยยิ่งแน่นขึ้นไปอีก นั่นทำให้ Smile กลายเป็นหนังสยองขวัญที่บีบหัวใจของคุณช้าๆ แต่เมื่อถึงจุดพีกแล้ว มันยิ่งบีบหัวใจขั้นสุดในส่วนของงานโปรดักชันส่งเสริมความสยองของหนังได้อย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นเสียงประกอบ ที่หลอนจับใจ การเคลื่อนกล้องที่หลายครั้งเลือกใช้ภาพกลับหัว สไตล์การตัดต่อ การเชื่อมโยงแต่ละฉาก หลายครั้งที่โฉ่งฉ่าง ทำให้ผู้ชมกระตุกได้เหมือนกัน และการบิลด์ผู้ชมด้วยความสยองในแบบ Jump Scare หนังใช้วิธีนี้ค่อนข้างเยอะพอสมควร แต่กระนั้นต้องชื่นชมผู้กำกับ ปาร์กเกอร์ ฟินน์ ที่ให้ฉากหลอกเหล่านี้ ดูมีรสนิยม เป็นการหลอกให้เราตกใจ แบบที่น่าสนใจ ไม่ได้ให้สิ่งลึกลับโผล่มาทื่อๆ อย่างไร้ที่มาที่ไปแต่อย่างใด โดยรวม Smile จึงกลายเป็นหนังสยองขวัญอีกเรื่องของปี 2022 ที่ทำได้ดีเกินคาดจริงๆ ใครที่อยากสัมผัสความหลอน ความตึงเครียด ลองชมหนังเรื่องนี้กันดู 29 กันยายนนี้ในโรงภาพยนตร์ชมตัวอย่าง Smile ยิ้มสยอง สัปดาห์นี้ทุกโรงภาพยนตร์ภาพ : UIP Thailand