ปวดหลัง ที่ไม่ใช่แค่หลัง

HEALTHY LIFESTYLE

ปวดหลัง ที่ไม่ใช่แค่หลัง

21 ม.ค. 2022

ปวดหลัง (Backache) เป็นอาการปวดเมื่อย ตึง ร้าว หรือเจ็บที่หลัง สาเหตุหลักๆที่ทำให้ปวดหลัง เช่น กิจกรรมในชีวิตประจำวัน ยืน เดินหรือนั่งไม่ถูกท่า ยกของหนักเกินไป อุบัติเหตุ การกระแทก การเล่นกีฬา หรือเป็นผลมาจากโรคต่างๆค่ะ 

อาการปวดหลังเป็นอาการที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อย่างมาก เหมือนที่หลายคนอุทาน “ไม่ปวดไม่รู้หรอก” ไม่ใช่แค่กับผู้สูงอายุนะคะที่จะเผชิญกับอาการปวดหลัง แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะคนวัยทำงาน คนที่ทำงานนั่งเป็นประจำ หรือทำงานแบกหาม 

สาเหตุของอาการปวดหลัง

     อาการปวดหลังสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน การทำท่าทางที่ไม่ถูกต้องสะสมเป็นเวลานาน การเคล็ดขัดยอก การตึง การอักเสบของกล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็นบริเวณหลัง ปัญหาของหมอนรองกระดูกปัญหาของกระดูกสันหลัง และเส้นประสาท ปัญหาจากโรค หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ซึ่งอาการปวดหลัง จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายและการดำเนินชีวิตประจำวัน

สาเหตุของอาการปวดหลังสามารถเกิดได้จากปัจจัยต่างๆ ต่อไปนี้

สาเหตุที่เกิดจากปัญหาของกระดูกสันหลัง สามารถเกิดขึ้นได้จากการเคลื่อนตัวของข้อกระดูกกล้ามเนื้อ หรือหมอนรองกระดูก ตัวอย่างเช่น

  •  หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม (Degenerative Discs) เกิดจากการที่หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม หดตัว หรือฉีกขาด ทำให้กระดูกสันหลังชนหรือถูกัน มักเกิดขึ้นได้เมื่อมีอายุมากขึ้น
  • หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท (Herniated หรือ Slipped Discs) หมอนรองกระดูกคือเนื้อเยื่ออ่อนที่อยู่ระหว่างข้อกระดูกสันหลัง มักเกิดการสึกหรอหรือฉีกขาด แล้วกดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่างหรือบริเวณสะโพก
  • หมอนรองกระดูกสันหลังโป่งนูน (Bulging Discs) เป็นการโป่งออกของหมอนรองกระดูกมาดันโดนเส้นประสาท แต่อาการจะไม่มากเท่าหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท
  • กระดูกสันหลังตีบ เกิดขึ้นจากการที่กระดูกสันหลังหดตัวลง ทำให้กระดูกสันหลังและเส้นประสาทต้องรับน้ำหนักของร่างกายเพิ่มมากขึ้น เป็นสาเหตุให้เกิดอาการชาที่บริเวณขา และไหล่ มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ
  • กระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis) เป็นการเสื่อมสภาพ หรืออักเสบที่ข้อต่อและเส้นเอ็นที่ทำหน้าที่ประคองกระดูกสันหลัง
  • โรครากประสาทคอ (Cervical Radiculopathy) เกิดจากการได้รับแคลเซียมในปริมาณที่มากเกินไปทำให้เกิดกระดูกงอกขึ้นมา

 สาเหตุที่เกิดจากการบาดเจ็บและอุบัติเหตุ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดหลังหรือนำไปสู่ปัญหาของการเคลื่อนไหวร่างกายได้ เช่น

  • บาดเจ็บหรือเกิดการฉีกขาดที่เส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อบริเวณกระดูกสันหลัง มักเป็นผลมาจากการยกของหนัก หรือการเล่นกีฬา

 สาเหตุที่เกิดจากการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น

  • การนั่งห่อหลังที่โต๊ะทำงาน
  • ยกของหนักเกินไป
  • มีน้ำหนักตัวมาก
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • สูบบุหรี่
  • ใส่รองเท้าส้นสูง

สาเหตุจากภาวะทางอารมณ์ ทั้งความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า สามารถทำให้เกิดความเครียดสะสมและส่งผลต่อกล้ามเนื้อได้

สาเหตุอื่นๆ อาการปวดหลังสามารถเป็นผลมาจากอาการหรือโรคต่างๆ ได้ ดังต่อไปนี้

  • โรคข้ออักเสบ (Arthritis) เป็นสาเหตุให้เกิดอาการตึง บวม และอักเสบ
  • โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) เกิดจากการเสื่อมหรือกระดูกถูกทำลาย พบมากในผู้สูงอายุ
  • โรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing Spondylitis) เป็นโรคข้ออักเสบอีกชนิดหนึ่งที่ส่งผลต่อแนวกระดูกสันหลัง
  • กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) เป็นอาการที่เป็นมาตั้งแต่เกิด มักเริ่มพบอาการปวดในวัยกลางคน
  • การตั้งครรภ์ น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อกระดูกสันหลัง
  • เนื้องอก เป็นสาเหตุมาจากโรคมะเร็ง แต่พบได้ไม่มากที่จะกระจายไปที่บริเวณหลัง
  • โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) คือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน
  • กระดูกอักเสบติดเชื้อ (Osteomyelitis) เป็นการติดเชื้อในกระดูกและหมอนรองกระดูก
  • โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
  • นิ่วในไตและการติดเชื้อที่ไต

นอกจากนี้ยังอาจตรวจพบสาเหตุการปวดหลังตามตำแหน่งของอาการได้ ดังนี้ค่ะ

      บริเวณต้นคอ เป็นการปวดตั้งแต่ช่วงฐานกระโหลกศีรษะไปจนถึงช่วงไหล่ สามารถขยายไปถึงหลังช่วงบนและแขนได้อาจทำให้ไม่สามารถขยับคอและศีรษะได้เต็มที่ และส่งผลให้เกิดการปวดศีรษะได้ อาจเกิดจากการห่อตัว นั่งหรือยืนหลังไม่ตรง นอนผิดท่า รวมถึงการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่พัก เป็นต้น

     อาจเป็นการปวดแบบไม่ทราบสาเหตุ หรือเป็นผลมาจากโครงสร้างที่ผิดปกติ โรคมะเร็ง กระดูกหัก หรือจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การทำท่าทางที่ไม่ถูกต้อง การยกของหนักเกินไป นั่งหลังไม่ตรง ยืนในท่าเดิมหรือขับรถเป็นเวลานานบริเวณก้นและขา อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อน ทำให้เส้นประสาทไซอาติก (Sciatica) ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่เริ่มตั้งแต่เชิงกรานยาว เชื่อมต่อไปที่ขาแต่ละข้างลงไปถึงเท้า เกิดระคายเคืองหรือถูกกระดูกสันหลังกดทับ จะทำให้เกิดอาการปวดตามแนวเส้นประสาทไซอาติกนี้

การรักษาอาการปวดหลัง

     การรักษาอาการปวดหลังมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ หรือสาเหตุของการทำให้เกิดอาการปวดหลัง ถ้าเป็นอาการปวดในระยะสั้นคือเพิ่งปวดหรือปวดไม่มาก สามารถบรรเทาได้ด้วยตัวเองโดยการทาครีมบรรเทาอาการปวด หรือรับประทานยาแก้ปวดที่วางขายตามร้านขายยาทั่วไป หากใช้ยาแก้ปวดติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลข้างเคียงต่อการทำงานของไต และเกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารได้นะคะ ส่วนอาการปวดรุนแรงหรือเรื้อรังแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาแก้ปวดควบคู่ไปกับการรักษารูปแบบอื่น เช่น การทำกายภาพบำบัด การฝังเข็ม

การป้องกันอาการปวดหลัง

     การป้องกันอาการปวดหลังสามารถทำได้หลายวิธี โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้หลัง การยืน การเดินการนั่ง หรือการนอน รวมไปถึงการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรงขึ้น ทำให้ยากต่อการอักเสบ หรืออ่อนล้า และไม่กลับไปสู่อาการปวดหลังอีก

การรักษาโดยด้วยตนเองและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

  • พักผ่อนและพยายามมองโลกในแง่บวก  การพักผ่อนเป็นส่วนสำคัญของการฟื้นฟูจากอาการต่างๆ ยิ่งกังวลก็อาจจะทำให้อาการหายช้าลง พยายามให้กำลังใจตัวเอง ผู้ที่มองโลกในแง่บวก มีแนวโน้มที่จะฟื้นฟูตัวเองจากอาการป่วยได้ดีกว่า
  • ปรับเปลี่ยนท่านอน การทำท่าเดิมนานๆ อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง เช่น การนอนหงายเป็นเวลานาน ทำให้น้ำหนักของร่างกายไปกดลงที่กระดูกสันหลัง เพียงยกขาขึ้นและสอดหมอนไปใต้เข่า หรือนอนตะแคงแล้วใช้หมอนสอดไปที่ระหว่างขา จะสามารถช่วยลดน้ำหนักที่กดลง และบรรเทาอาการปวดหลังได้เป็นอย่างดี
  • การประคบร้อน หรือประคบเย็น บางคนพบว่ามีอาการดีขึ้นหลังอาบน้ำอุ่นหรือเอาถุงน้ำร้อนมาประคบในบริเวณที่มีอาการ หรือการประคบเย็นโดยนำน้ำแข็งห่อด้วยผ้าแล้วนำมาประคบ ก็สามารถบรรเทาอาการได้เช่นกันค่ะ
  • ออกกำลังกาย บางครั้งสาเหตุของอาการเจ็บหลังมาจากการยืนหรือนั่งผิดท่า หรือยกของหนักเกินไป หลายคนคิดว่านอนพักอยู่บนเตียงจะสามารถฟื้นตัวได้ดีกว่า แต่การออกกำลังกายที่ได้มีการเคลื่อนไหวร่างกายในท่าทางที่ถูกต้องและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อบริเวณหลัง จะสามารถบรรเทาอาการปวดได้ เช่น การว่ายน้ำ การเดิน การปั่นจักรยาน การเล่นโยคะ การเล่นพิลาทิส การบริหารและการยืดกล้ามเนื้อ เป็นต้น

การรักษาโดยใช้ยา

     การใช้ยาแก้ปวด ยาที่แพทย์มักจะจ่ายให้กับผู้ที่มีอาการปวดหลังคือยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) เช่น พาราเซตามอล ไทลินอล หรือยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโปรเฟน นาโปรเซน หรือยาที่ออกฤทธิ์แรงกว่า ยาแก้ปวดถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลข้างเคียงต่อการทำงานของไตในผู้ป่วยบางรายได้ และเกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้นะคะ

     หากการใช้ยาบรรเทาอาการปวดรูปแบบอื่น ไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้ แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดสเตียรอยด์เข้าที่บริเวณรอบๆ เส้นประสาทไขสันหลัง หรือในบริเวณที่ปวด ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบรอบเส้นประสาทไขสันหลังได้

การรักษาหลังการรักษาโดยใช้ยา

การทำกายภาพบำบัด 

เป็นการรักษาที่ทำให้ผู้ป่วยบรรเทาอาการปวด ช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายได้ถูกวิธี และลดอาการบาดเจ็บให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำได้ตามปกติ โดยแพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดหลังสำหรับการบาดเจ็บหรือมีปัญหาสุขภาพระยะยาว เช่น การปวดเรื้อรัง โรคข้ออักเสบ เป็นต้น วิธีการรักษาอาจแตกต่างกันออกไป เช่น การออกกำลังกาย การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและเงื่อนไขของผู้ป่วยแต่ละรายค่ะ

การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy) 

มีจุดประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ความรู้สึก และพฤติกรรม โดยนักบำบัดจะวิเคราะห์ความคิดและพฤติกรรม และให้ผู้ป่วยลองคิดและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางบวก หลังจบการรักษาแล้วสามารถช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้นค่ะ

การรักษาโดยการผ่าตัด

การผ่าตัดใช้รักษาอาการปวดหลังจากบางสาเหตุ เช่น การติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง หรือปวดหลังที่เกิดจากการกดทับเส้นประสาทจนมีอาการอ่อนแรงที่ขาร่วมด้วย โดยทั่วไปมักจะเป็นทางเลือกท้ายๆ  เมื่อรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่มีอาการดีขึ้น

แพทย์ทางเลือก

ไคโรแพรคติก (Chiropractic) 

     เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของการดูแลสุขภาพ สรีระและโครงสร้างของมนุษย์ เป็นการรักษาที่ไม่ใช้ยา และไม่มีการผ่าตัด มุ่งเน้นไปที่การจัดกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และกระดูกบริเวณกระดูกสันหลัง โดยใช้มือ อาจได้ยินเสียงที่เกิดจากแก๊สบริเวณข้อต่อ ซึ่งเป็นปกติของการรักษาด้วยวิธีนี้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง หรือปวดคอจากการเคล็ดขัดยอกตอนยกของหนักเกินไป และไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน หรือโรคไขข้ออักเสบ แต่การรักษาด้วยวิธีการนี้ ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนว่าอาการปวดหลังส่วนใหญ่มาจากปัญหาของแนวกระดูกสันหลัง

 การฝังเข็ม การนวดทุยหนาและยาจีน

           เป็นศาสตร์การรักษาทางเลือกรูปแบบหนึ่งของจีนโบราณ โดยจะฝังเข็มที่มีขนาดและความยาวแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของผู้ป่วย ฝังลงไปตามจุดฝังเข็มที่ถูกพิจารณา โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเส้นประสาทรับความรู้สึกใต้ผิวหนังและกล้ามเนื้อ ส่งผลให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟินส์(Endrophins) เพื่อบรรเทาอาการปวด โดยจะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 20-40 นาทีต่อครั้ง 

            มีวิธีรักษาอาการปวดหลังอยู่หลายวิธี แต่วิธีที่เริ่มง่ายที่สุด น่าจะเป็นการรักษาด้วยตนเองและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนะคะ ค่อยๆปรับ ค่อยๆเปลี่ยน เพื่อสุขภาพหลังของคุณและคนที่คุณรัก ด้วยความปรารถนาดีจากพวกเราชาว Green Wave ค่ะ ^^


ขอบคุณข้อมูลและความรู้ดีดีจากคุณหมอตี้ค่ะ Facebook : ดร เยาวเกียรติ แพทย์จีน ฝังเข็ม

Collector by รุ่งโนรี ’Girl Music & Travel Lover

related HEALTHY LIFESTYLE

นั่งทำงานนานๆ ยืดเส้นยืดสายยังไงดี

24 ม.ค. 2022

นั่งทำงานนานๆ ยืดเส้นยืดสายยังไงดี

การนั่งทำงานหน้าคอมนานๆ ยังเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอยู่ดี ดังนั้นใครที่ต้องนั่งทำงานหน้าโต๊ะคอมพิวเตอร์ทุกวัน หากไม่อยากป่วยเป็นโรคต่างๆ ควรทำตามเคล็ดลับของแพทย์แผนจีน วันนี้จะเล่าให้ฟังค่ะนั่งนานเกินไปผู้ใหญ่ชาวอเมริกันเฉลี่ยร้อยละ 60 จะนั่งอยู่กับที่เฉยๆ และนานกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน กลุ่มนักวิจัยได้เปรียบเทียบ ระหว่างผู้เข้าร่วมที่นั่งอยู่หน้าโทรทัศน์ หรือหน้าจออื่นๆไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง กับผู้ที่ใช้เวลา 4 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น ปรากฏว่าผู้ที่นั่งมากกว่า 4 ชั่วโมง มีโอกาสเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 50 (ไม่ว่าสาเหตุใดก็ตาม) มากกว่าผู้เข้าร่วมในกลุ่มแรก แถมโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 125มีอาการเรื้อรังตามมานอกจากอาการปวดกล้ามเนื้อหลังแล้ว การนั่งทั้งวันยังมีส่วนเกี่ยวโยงกับโรคหัวใจ และโรคเบาหวาน ยิ่งนั่งนานก็ยิ่งทำให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรี่ได้น้อยลงเนื่องจากกล้ามเนื้อของเราไม่ได้ทำงาน หัวใจไม่ได้สูบฉีดเร็วและแรง ด้วยเหตุนี้กรดไขมันจึงสะสม และอุดตันหัวใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ในความเป็นจริงผู้ที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวหรือนั่งเกือบตลอดทั้งวัน มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจมากกว่าผู้ที่เคลื่อนไหวเป็นประจำถึง 2 เท่า นอกจากนี้การนั่งมากเกินไป ยังทำให้อัตราการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นด้วยค่ะเบลอทั้งวันการนั่งมากเกินไป ยังส่งผลต่อสมองของเรา เมื่อกล้ามเนื้อเคลื่อนไหว หัวใจก็จะสูบฉีดเลือดที่มีออกซิเจนสูงไปยังสมอง ในทางกลับกัน การนั่งนานๆจะชะลอการทำงานทุกอย่างในร่างกาย รวมถึงการทำงานของสมองด้วย นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับความรู้สึกซึมเศร้า และเพิ่มความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมแพทย์แผนจีนแนะนำระหว่างที่นั่งปั่นงานอยู่ ลองตั้งเวลาให้ลุกขึ้นเดินไปเดินมาในบ้านทุกๆ ชั่วโมงดู อาจจะเดินเข้าห้องน้ำ กดน้ำมาดื่ม ชงชา กาแฟการเดินบ่อยๆ จะเผาผลาญพลังงานได้ และป้องกันโรคอ้วนได้ด้วยค่ะดื่มน้ำมากขึ้นใครที่รู้ตัวว่าอยู่ในห้องทำงานตลอดเวลา แทบไม่ได้กระดิกตัวไปไหน อย่าลืมดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวันด้วยนะคะ หาเวลาจิบน้ำ ทุกๆ ชั่วโมง จะตั้งขวดลิตรเอาไว้บนโต๊ะ แล้วพยายามดื่มน้ำให้หมดภายใน 1 วันก็ได้ค่ะ แล้วสังเกตสีปัสสาวะของตัวเอง หากสีปัสสาวะยังเป็นสีเหลืองเข้มอยู่ แสดงว่ายังดื่มน้ำไม่เพียงพอ ต้องดื่มน้ำเพิ่ม และตัวเลือกที่ดีที่สุด ควรเป็นน้ำเปล่า หากเบื่อหรือขี้ลืมจริงๆ จะฝานผลไม้ที่เพิ่มความสดชื่นอย่างมะนาวลงไปในน้ำเปล่าด้วยก็ได้นะคะ แต่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงด้วยนะคะ กลัวจะเป็นโรคเบาหวานกันก่อนท่าบริหารจากแพทย์แผนจีนท่าบริหารต้นคอ เริ่มจากนำมือข้างซ้ายอ้อมไปจับศีรษะด้านขวา ดึงมาทางด้านซ้ายจนรู้สึกตึง นับ 1 - 10 สลับใช้มือข้างขวาอ้อมจับศีรษะด้านซ้ายทำเช่นเดียวกัน นับ 1 - 10 จากนั้นประสานมือบริเวณท้ายทอย ดันไปด้านหน้าจนรู้สึกตึง นับ 1 - 10ท่าบริหารกล้ามเนื้อหัวไหล่ ยกไหล่ขึ้นไปจนสุด แล้วเกร็งค้างไว้ นับ 1 - 10 จากนั้นกดไหล่ลงไปให้สุด แล้วเกร็งค้างไว้ นับ 1 - 10 ท่านี้สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องของการปวดไหล่เป็นประจำค่ะท่าบริหารผ่อนคลายกล้ามเนื้อแขนท่าที่ 1 เพื่อยืดแขน โดยประสานมือ จากนั้นจึงเหยียดขึ้นไปเหนือหัวเราจนสุดแขน การทำแบบนี้จะทำให้กล้ามเนื้อแขนได้ยืดออกแล้วให้เงยหน้ามองขึ้นด้านบน เพื่อเปลี่ยนท่าทางของช่วงคอ ค้างท่านี้ไว้นับ 1 - 10 แล้วค่อยเอาลงค่ะท่าที่ 2 เพื่อคลายความเมื่อล้าของกล้ามเนื้อแขน ใช้มือซ้ายจับฝ่ามือขวา จากนั้นเหยียดแขนทั้งสองไปข้างหน้า แล้วจึงดัดข้อมือขวาเข้าหาตัวจนรู้สึกว่าตึงบริเวณด้านในข้อศอกขวา ทำค้างไว้นับ 1 - 10 แล้วจึงเปลี่ยนข้างท่าบริหารนิ้ว และฝ่ามือเป็นท่าที่ช่วยผ่อนคลายอาการเมื่อยล้าที่นิ้ว และฝ่ามือ กำมือทั้ง 2 ข้างให้แน่นที่สุด แล้วกำมือค้างไว้นับ 1 - 5 จากนั้นจึงค่อยๆ คลายออกช้าๆ เหยียดนิ้วและกางนิ้วมือออกให้มากที่สุด เท่าที่ทำได้ แล้วค้างไว้นับ 1 - 5 แล้วจึงกลับมาอยู่ท่าเดิม ทำแบบนี้เรื่อยๆ ประมาณ 2 – 3 รอบค่ะท่าบริหารกล้ามเนื้อด้านหน้าอก และแก้ปัญหาไหล่ห่อท่าที่ 1 ให้ลุกขึ้นยืน จากนั้นนำมือประสานกันด้านหลัง ค่อยๆ ยกขึ้นมาจนถึงระดับที่เรารู้สึกว่าตึง นับ 1 - 10ท่าที่ 2 เป็นการยืดด้านหลัง โดยการกอดตัวเองให้แน่นที่สุด ให้มือไขว้กันเยอะที่สุด โดยเอามือโอบด้านหลังของตัวเองให้มากที่สุด นับ 1 - 10ท่าบริหารหลังยืนตัวตรง ยกแขนทั้งสองข้างเหนือศีรษะ ประสานมือเอาไว้ แล้วค่อยๆ เอนตัวไปด้านหลังจนรู้สึกตึงแล้วนับ 1 - 10ท่าบริหารบริเวณช่วงสะโพกท่านี้จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อบริเวณสะโพก ซึ่งมักจะไปกดทับเส้นประสาท ทำให้รู้สึกมีปัญหา ปวดบริเวณสะโพก ชาลงขา และเท้า ทำโดยยกเท้าซ้ายขึ้นมาวางทับเหนือเข่าขวา จากนั้นเอนตัวมาด้านหน้า จะรู้สึกตึงบริเวณต้นขาด้านซ้าย นับ 1 - 10 จากนั้นสลับเท้าด้านขวาทำเช่นเดียวกันค่ะท่าบริหารกล้ามเนื้อด้านข้างยืดมือขึ้นบนสุดประกบกัน จากนั้นเอนตัวทางด้านซ้าย นับ 1 - 10 จากนั้นเอนตัวมาด้านขวา นับ 1 - 10ท่าบริหารขาเหมาะสำหรับผู้ที่ยืนนานๆ หรือใส่รองเท้าส้นสูง ไขว้ขาซ้ายเข้ากับขาขวา จากนั้นค่อยๆ ก้ม เอามือไปแตะหน้าขา นับ 1 - 10ลองทำดูนะคะแล้วคุณจะมีความสุขกับการทำงานมากขึ้นไม่ว่าจะทำที่บ้านหรือที่ทำงาน เราจะสุขภาพดีไปด้วยกันค่ะ ^^ขอบคุณข้อมูลและความรู้ดีดีจากคุณหมอตี้ค่ะFacebook : ดร เยาวเกียรติ แพทย์จีน ฝังเข็มCollector by รุ่งโนรี ’GirlMusic Travel Lover

album

0
0.8
1