ใช้ชีวิต ลด Food Waste มุมมองความยั่งยืนฉบับ “PEAR is hungry”

GREEN HEART

ใช้ชีวิต ลด Food Waste มุมมองความยั่งยืนฉบับ “PEAR is hungry”

17 เม.ย. 2024

นอกเหนือจาก ขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่กำจัดได้ยาก และยังเป็นปัญหาเรื้อรังแล้ว อีกหนึ่งอย่างที่กำจัดได้ยาก และกลายเป็นปัญหาไม่น้อยเช่นเดียวกัน นั้นคือ ขยะอาหาร

ขยะอาหารคืออะไร ?

ขยะอาหาร หรือเศษอาหารเหลือทิ้ง เป็นอีกอย่างที่เราทุกคนนั้นมักสร้างมันขึ้นมาใน ทุกวันหรือหากเราทานอาหารหมดก็ยังมีขยะอาหารที่เกิดขึ้นจากการผลิตอยู่ดี ขยะอาหารแบ่งย่อย เป็น 2 ประเภท คือ

Food Loss หรือ ขยะอาหารที่เกิดจาก การสูญเสียในขั้นตอนการผลิต การจัดเก็บ การแปรรูป การขนส่ง เช่น การคัดทิ้งผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ การตัดแต่งวัตถุดิบเพื่อการแปรรูป 

Food Waste คือ  เศษอาหารเหลือจากมื้ออาหาร ทั้งการรับประทานไม่หมด เช่น เศษผักผลไม้ที่ใช้ตกแต่ง เปลือกกุ้ง หอย ปู  เปลือกผลไม้  เปลือกไข่ อาหารที่หมดอายุ

 

อาหารขยะก็ย่อยสลายได้หนิ แล้วจะเป็นปัญหาได้ยังไง  ??

แม้ว่าขยะอาหารจะสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติโดยใช้เวลาไม่นานนัก แตกต่างกับ ขยะพลาสติก ที่ต้องใช้ระยะเวลากว่า 500 ปี แต่ด้วยจำนวนของขยะอาหารที่เกิดขึ้นจาก ภาคอุตสาหกรรม และภาคผู้บริโภค แต่ละวันมีปริมาณที่มากมายมหาศาล ทำให้ต้องใช้วิธีกำจัดโดยการ ฝังกลบดิน และเมื่อขยะอาหารเหล่านั้นรวมตัวกันในปริมาณมากจะปล่อย ก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกถึง 8% ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคคมนาคม และมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากภาคการบินทั่วโลกถึง 4 เท่า เป็นอีกปัญหาที่เราทุกคนมักมองข้าม และควรร่วมมือกันแก้ไข เพื่อรักษ์สิ่งแวดล้อมของเราให้ยั่งยืนสืบไป

 

 

จะดีกว่าไหม หากการดำเนินชีวิตของเราลด Food Waste ให้ได้มากที่สุด !!

วันนี้กรีนเวฟ ได้มาพูดคุยกับคุณ แพร-พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ เจ้าของช่อง “PEAR is hungry”  Content Creator สายยั่งยืน ที่จะมาให้ความรู้ และแชร์ประสบการณ์ การใช้ชีวิตอย่าง ลด Food Waste

 

 

“PEAR is hungry”

“ช่อง PEAR is hungry ด้วยความที่แพรเป็นคนชอบกิน แต่เราไม่ใช่ Food Review เราชอบเรื่องราวที่มาของอาหาร ก็เลยเริ่มต้นจากตรงนั้น ทำไปได้สักพักก็เริ่มหยิบสิ่งที่เรา สนใจต่าง ๆ ในชีวิตมารวมอยู่ในช่อง นั่นก็คือเรื่องของความยั่งยืน” 

 

“จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจเรื่องความยั่งยื่นอย่างจริงจัง” 

“จุดเริ่มต้นเกิดจาก แพรได้ร่วมทริป “Chiang Dao Classroom”  ที่มีพี่มล และแพรรี่พายเป็นคนจัด ซึ่งเราจะต้องเข้าป่า 5 วันโดยที่ไม่มีไฟฟ้าและประปา ประสบการณ์ ที่ได้มาเลยคือ เราไปอยู่ต้นน้ำ ดังนั้นวิถีชีวิตคือเข้าไปอยู่กับธรรมชาติ เห็นเลยว่าทุก ๆ อย่างที่เรากระทำ มันมีผลกับธรรมชาติหมดเลย แค่จะสระผม ยาสระผมที่เราใช้ มันจะหลุดติดไปในแม่น้ำ ไหลลงไปปลายน้ำ ระหว่างทางจะมีสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นจะได้รับผลกระทบจากการกระทำของเราไป มันเลยทำให้รู้สึกเลยว่าทุกอย่าง Connect กันเป็นวงจรหมดเลย และท้ายสุด มันก็กลับมากระทบตัวเราด้วย พอเห็นเลยตั้งใจเลยว่า จะใช้ชีวิตให้ลดผลกระทบต่อธรรมชาติ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

 

“มุมมองปัญหา Food Waste ในประเทศไทย”

“ปัญหา Food Waste ในประเทศไทยเป็น ​Invisible Problem ปัญหาที่ ยังมองไม่เห็น เรามักมองว่าขยะอาหารสามารถย่อยสลายตัวเองได้ มันไม่น่ามีปัญหาที่หนักเท่า ขยะพลาสติก แต่ในความเป็นจริง ปัญหาขยะอาหารส่งผลประทบต่อสิ่งแวดล้อม หนักไม่ต่างกัน เพราะเวลาที่ขยะอาหารย่อยสลายตัวเอง จะสามารถสร้างก๊าซมีเทน ที่เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมันส่งผลประทบต่อโลกร้อนโดยตรงยังมี ปัญหาเรื่องเชื้อโรค ปัญหาเรื่องการติดไฟ และอีกเยอะแยะมากมาย เมื่อยังไม่เห็นว่าขยะอาหารเป็นปัญหา ตัวเราจึงสร้างมันโดยไม่รู้ตัว อันที่จริง มีการเก็บสถิติในปี 2567 ว่าคนไทยผลิตขยะอาหาร 146 ก.ก. ต่อคน ต่อปี เมื่อเทียบแล้วเหมือน แพร ผลิตตัวแพร ที่เป็นขยะอาหาร 4 คน ต่อปี เยอะมาก ! ! ซึ่งทั้งหมด แพรคิดว่าเกิดจากคน ยังไม่รู้ถึงปัญหาเรื่อง Food Waste ว่ารุนแรงมากแค่ไหน เลยทำให้ปัญหาบานปลายทั้งที่จริง ๆ เราลดความรุนแรงมันได้ด้วยตัวเราเอง“

 


 

“ใช้ชีวิตอย่างไรให้ลด Food Waste”

“เราว่ามันทำได้ด้วยการลดตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือ กินหมดจาน เป็นแคมเปญ ที่เราทำเมื่อปีที่แล้ว ชวนคนมาลด Food Waste ด้วยการกิน  เพียงแค่เรา สั่งพอกินและกินหมดจาน เท่านี้เราก็ลดขยะอาหารได้แล้ว อย่างแพรเองเป็นคนที่กินข้าวน้อย เน้นกับข้าว เน้นผัก เวลาสั่งอาหารก็จะบอกกับร้านเลยว่า ‘ป้าคะ หนูขอข้าวประมาณ 1 ใน 3 จากปกติค่ะ’  เพราะเรารู้ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ข้าวถูกตักมาไว้ที่เราแล้วเนี่ย ข้าวนั้นจะไปไหนต่อไม่ได้ และตัวเราเองก็กินไม่หมด ทางแก้คือลดปริมาณก่อนเอาเท่าที่เรากินหมด

และถ้ายังกินไม่หมดอีก ก็จะพกกล่องใส่กลับบ้าน และเอามาทำเป็น เมนูแปลงร่าง (Leftovers) คือการเอาเมนูเก่ามาทำใหม่ให้อร่อยขึ้น เช่น ข้าวที่เรากินไม่หมดเอากลับมา ทำเมนูข้าวผัด ซึ่งข้าวค้างคืนทำเป็นข้าวผัดอร่อยมาก หรือเพิ่มไอเดียเอามาทำเป็นเมนู ข้าวทอด ข้าวพองก็ได้ หนึ่งในเมนูแปลงร่างที่ทำใน Pear is hungry ที่ชอบมากคือการเอาข้าวเหนียว ที่เหลือจากร้านส้มตำ เอามาทำเป็น โมจิไส้ถั่วแดง แบบญี่ปุ่นเลย

นั่นคือสิ่งที่เราอยากสื่อสารผ่านคอนเทนต์ในช่องของเรา  เพราะเราอยากให้คนดูได้ไอเดีย ว่าเราใช้ชีวิตแบบลดขยะอาหารได้นะ และแค่คนดูดูเราแล้วเปิดตู้เย็นทำเมนูแปลงร่าง (ลด Food Waste) แค่นี้แพรก็ดีใจมากแล้ว เพราะเราได้เพิ่มนักกำจัด Food Waste มาได้อีก 1 คนแล้วนะ 


“How To ลด Food Waste แบบฉบับแพรเหรอ? ก็ กินหมดจาน และทำเมนูแปลงร่าง ถ้าไม่รู้ว่าจะทำเมนูอะไรดี เข้ามาที่ช่อง PEAR is hungry  ได้เลย 555”


 

อย่างเปลือกไข่ เปลือกผลไม้ที่เราไม่สามารถกินให้หมดได้ละ ?

“อย่างที่บ้านแพรทำ คือเอาเศษอาหารเหลือ มาหมักเป็นปุ๋ยชีวภาพ แต่แพรเข้าใจว่า ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถทำได้ ดังนั้นลองดูว่าในสภาพแวดล้อมของเราสามารถทำอะไรได้บ้าง ถ้ามีพื้นที่นำมาฝังดินได้ไหม ถ้าฝังดินไม่ได้ ซื้อเครื่องมือในการทำปุ๋ยได้ไหม ถ้ายังไม่ได้ งั้นเราลองรวบขยะอาหารที่สร้างมาให้เป็นถุงเดียวกัน เพื่อที่เวลาเราทิ้งขยะ เราจะสามารถ แยกขยะได้เลย เพื่อพี่ ๆ ที่เค้าจัดการเรื่องขยะจะสามารถนำขยะที่เราแยกไปจัดการได้ง่ายขึ้น วิธีง่าย ๆ แค่นี้เลย”

“ถ้าเราที่เป็นต้นทางแยกขยะ พี่ๆ ที่เค้านำขยะไปจัดการต่อจะสามารถจัดการขยะได้ดีขึ้น จริง ๆ ค่ะ”


 

การลด Food Waste จะทำให้การใช้ชีวิตลำบากขึ้นหรือเปล่า ?

“แม้ว่าแพรจะนำเสนอเรื่อง Food Waste ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแพรจะสามารถ ทำมันได้อย่าง 100% ในทุกวัน คือแพรมีเป้าหมายไว้ว่า จะใช้ชีวิตโดยกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด แต่มันก็ต้องไม่กระทบตัวเราเองด้วย ให้มันเฟรนลี่กับตัวเราเอง เพราะว่าปัญหานี้เป็นเรื่องระยะยาว มันไม่ใช่แค่ว่าเราจะทำแบบนี้สัก 3 เดือน หรือ 1 ปี แต่เราจะค่อยๆ ปรับตัวเองให้ทั้งชีวิตของเรา สามาถลดผลกระทบต่อระบบนิเวศได้จริง ๆ เมื่อไหร่ก็ตามถ้าเราฝืน เราจะทำสิ่งนั้นได้ไม่ยาว และปลายทางที่ตั้งใจไว้ก็จะไม่เกิด”

 

“แพรไม่ได้มองปัญหานี้ว่า เป็นการทำความดีหรือไม่ดี แต่แพรว่ามันคือ Norm ปกติ ที่เราทุกคนควรมองเห็นปัญหาและช่วยกันแก้ไข”

 

อยากฝากอะไรให้ผู้คนสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น

“หลายคนน่าจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้แล้ว มันเห็นชัดมาก เรื่องนี้ไม่ใช่ เรื่องของใครคนใดคนนึง ดังนั้นถ้าเรามีความพร้อม สามารถที่จะเลือกใช้ชีวิตได้ ก็อยากจะให้ มาลองใช้ชีวิตที่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อมกันไม่จำเป็นต้องเหมือนแพรก็ได้นะ เอาแบบที่ Friendly กับเราและ ​Friendly กับโลกด้วย”

 

ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เราทุกคนควรร่วมมือกัน แก้ไขอย่างจริงจัง หากทุกคนสนใจ ทางคุณแพรแอบบอกมาว่าเร็ว ๆ นี้จะมีแคมเปญ  #กินหมดจาน ซีซั่น 2 จะเป็นรูปแบบไหนอย่างไร อย่าลืมติดตาม และร่วมสนุกกันด้วย อย่าลืมติดตามคุณแพร PEAR is hungry ในทุกช่องทางด้วยนะครับ

 

Youtube : PEAR is hungry

TokTik : @pearishungry

Instagram : pearishungry

Fackbook : PEAR is hungry
 

..........................................................................


Author : MIK_Mikazuki

album

0
0.8
1