ความเหงาฆ่าเราได้

GREEN HEART

ความเหงาฆ่าเราได้

13 มี.ค. 2024

ความเหงาฆ่าเราได้

องค์การอนามัยโลกออกมาประกาศภัยแห่งความเหงา ว่าเป็นโรคที่กำลังคร่าชีวิตผู้ใหญ่กว่า 2 ล้านคน รอบโลก ในการวิจัยกว่า 90 ขิ้น ติดตามผู้คนในการสำรวจตั้งแต่ 6 เดือนไปจนถึง 25 ปี พบความเชื่อมโยงว่าการปลีกตัวจากสังคม ทำให้ตายก่อนวัย 32% และ คนที่เหงาตายก่อนวัย 4%

 

ความเหงาคืออะไร

ความเหงา (Loneliness) เป็นความรู้สึกการขาดความสัมพันธ์ทางสังคม ที่ไม่ได้เพียงพอ หรือ ตรงกับที่ตนเองต้องการ  ซึ่งบางทีไม่ได้อยู่ที่จำนวนความสัมพันธ์ แต่อยู่ที่คุณภาพความสัมพันธ์ ที่สำคัญกว่า ต่างจากการปลีกตัวทางสังคม เป็นการตัดขาดทางสังคม เพราะเงื่อนไขต่างๆเช่น อยู่ในสถานที่ห่างไกล สถานที่ที่ผู้คนเข้าถึงยาก เป็นต้น 

 

“คนที่มีครอบครัว มีแฟน มีเพื่อนเยอะ แต่ไม่มีคุณภาพความสัมพันธ์  หรือ ไม่เป็นที่น่าพอใจ ตรงแบบที่ต้องการ 
ก็อาจเเหงาได้มากกว่า คนเพื่อนน้อย แต่มีความสัมพันธ์ที่ตอบโจทย์ ช่วยเหลือ สนับสนุนกันได้“

ความเหงาทำให้เรารู้สึก ว่างเปล่า โดดเดี่ยว และไม่เป็นที่ต้องการ และความเหงายังเกี่ยวข้องกับการแยกตัวจากสังคม การขาดทักษะทางสังคม บุคลิกการเก็บตัว และ อาการซึมเศร้า 

 

ความเหงาแบ่งได้เป็น  3 ประเภท : 

1.ความเหงาแบบชั่วคราว (Transient Loneliness) คือ ความเหงาในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว เป็นความเหงาประเภทที่พบได้บ่อยที่สุดแต่อาจจะไม่ได้มีความรุนแรง

2.ความเหงาจากสถานการณ์ (Situational Loneliness) เป็นความเหงาที่มักจะเกิดขึ้นหลังเผชิญกับเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อชีวิต เช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การหย่าร้าง การจบความสัมพันธ์กับใครสักคน หรือการย้ายถิ่นฐานของคนที่มีความผูกพันต่อกัน

3.ความเหงาแบบเรื้อรัง (Chronic Loneliness) เป็นความเหงาที่มักจะเกิดขึ้นในเวลาที่เราเกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจในความสัมพันธ์ของตนกับผู้อื่นเป็นระยะเวลายาวนานติดต่อกัน และไม่สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นได้ ความเหงาประเภทนี้มักเกิดขึ้นกับคนที่มีปัญหาในด้านการปรับตัว

 

ความเหงามันน่ากลัวขนาดนั้นเลยหรือ?

โดยปกติแล้ว ถ้าเราจัดการความเหงา ประเภท 1 และ 2 ได้ มันก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร จนกระทั่งมันเกิดขึ้นเป็นระยะเวลายาวนาน จนเกิดเป็นความเหงาแบบเรื้องรัง  และเริ่มส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน 

 

สาเหตุของความเหงา

ไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยเดียว แต่ละคนมีสาเหตุที่แตกต่างกันไปเช่น 

1.ความเหงาสามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตาม “วิธีคิด และ วิธีมอง”ของเรา เช่นการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคล, การเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของตนกับผู้อื่น,  รวมถึงประสบการณ์ในอดีตอาจทำให้บุคคลมีความคาดหวังต่อความสัมพันธ์ของตนกับผู้อื่น ทำให้เกิดการรับรู้และตีความว่าตนเองกำลังรู้สึกเหงาขึ้นมาได้

2.กรรมพันธุ์ (Genetics) เคยมีการศึกษาพบว่า ความเหงาได้รับอิทธิพบจากกรรมพันธุ์ ตั้งแต่ 37-55% 

3.ลักษณะบุคลิกภาพ (Personality) ของบุคคลที่มีความแตกต่างกัน เช่น บุคลิกภาพแบบขี้อาย (shyness) หรือการขาดทักษะทางสังคม ก็อาจจะทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดความรู้สึกเหงาได้ง่ายกว่าคนที่มีบุคลิกภาพแบบมั่นใจ (confidence)

4.ค่านิยมและบรรทัดฐานทางสังคมวัฒนธรรม (Culture & Social Values) ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละสังคม เช่น วัฒนธรรมของคนตะวันตกเน้น ความเป็นปัจเจกสูง (individualism) ก็อาจจะมีแนวโน้มที่ทำให้เกิดความรู้สึกเหงาได้มากกว่า วัฒนธรรมของคนเอเชียที่เน้นการอยู่ร่วมกัน (Collectivism) และช่วยเหลือกันภายในสมาชิกของครอบครัว แต่อย่างไรก็ดียังไม่มีข้อสรุปว่าค่านิยมแบบไหนสร้างความเหงามากกว่ากัน

5.สถานการณ์ทางสังคมหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Social Events)ในขณะนั้น เช่น ความเครียดของคนว่างงาน ความรู้สึกไม่พึงพอใจในสถานภาพสมรส การสูญเสียคนรัก การย้ายที่อยู่ใหม่อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ส่งผลให้บุคคลรู้สึกเหงาได้

 

"ความเหงาที่มีผลกระทบกับชีวิต คือ ความเหงาแบบเรื้อรังที่อันตรายกว่าโรคอ้วนถึง 2 เท่า มีความรุนแรงเท่ากับ สูบบุหรี่ 15 มวน/วัน 
และรุนแรงเท่าการไม่ออกกำลังกาย ความดันโลหิตสูง และ การดื่มเหล้าหนัก"

 

ผลกระทบของความเหงา

ความเหงาเรื้อรังส่งผลกระทบทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต :

• เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความจำเสื่อม

• เพิ่มความเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด

• ส่งผลต่อคุณภาพการนอน ทำให้มีคุณภาพในการนอนไม่ดี และรบกวนการนอนหลับ

• ส่งผลต่อภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความเครียด อยากฆ่าตัวตาย

• ทำให้อาการอัลไซเมอร์หนักขึ้น 

• ส่งผลให้มีความพึงพอใจในชีวิตต่ำ

• ความจำ การเรียนรู้ลดลง ตัดสินใจผิดพลาด

• เสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ความเหงาเรื้อรังอาจทำให้ป่วย แต่ความป่วยเอง ก็ทำให้เหงาได้ด้วยเช่นกัน เพราะสุขภาพที่ไม่ดี ทำให้ขาดการติดต่อจากสังคม และผู้ป่วยต้องการซัพพอร์ทจากสังคมมากกว่าคนไม่ป่วยด้วย

 

สัญญาณของความเหงา

หลายคนไม่รู้ตัวว่ากำลังเจอกับสภาวะความเหงาเรื้อรัง กว่าจะรู้ตัวอีกที อาจมีภาวะซึมเศร้า หรือ มีพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อตัวเองไปแล้ว จากการวิจัยพบว่า คนที่มีอาการเหงาเรื้อร้ัง มักมีอาการเหล่านี้

อาการทางกายได้แก่ :

• กินมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาล และไขมัน เพราะทำให้รู้สึกดีขึ้นได้เร็ว

• ออกกำลังกายน้อยลง เคลื่อนไหวตัวน้อยลง

• ไถหน้าจอไปเรื่อย ดูทีวีไปเรื่อยๆ 

• เสพติด ไม่ว่าจะเป็นการ ช็อปปิ้ง ซื้อของออนไลน์ ซื้อของไม่จำเป็น ติดเกมส์ หรือ ยาเสพติด

• สูบบุหรี่ ดื่มเหล้ามากขึ้น

• เสพติดเซ็กซ์ มีเซ็กซ์ไปเรื่อยๆ 

 

อาการทางใจได้แก่ :

• ปลีกตัวจากผู้คน

• รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่า ขาดความเคารพและชอบในตัวเอง ขาดความมั่นใจ 

• เก็บอารมณ์ ความรู้สึก ความเครียดเพิ่มขึ้น 

• เข้าสังคมอย่างหนัก 

• โกรธแบบไม่มีเหตุผล

• แกล้งทำเป็นมีความสุข 

• พฤติกรรมต่อต้านสังคม

 

วิธีป้องกันและรับมือกับความเหงา

1.ทบทวนความรู้สึกที่เกิดขึ้นของตน ว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้น คือความเหงา ความเศร้า ความโดดเดี่ยว หรือเป็นความรู้สึกอะไร เพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปของความรู้สึกที่เกิดขึ้น และเป็นสัญญาณที่บอกให้เราเริ่มใส่ใจเรื่องของความสัมพันธ์

2.กลับมาทบทวนความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง มองหาความสัมพันธ์ที่ตนเองต้องการหรือความสัมพันธ์ที่มีคุณค่า ปริมาณของความสัมพันธ์อาจไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของความสัมพันธ์ที่มีอยู่

3.พัฒนาความสัมพันธ์เดิมที่เราอาจละเลย ไม่ได้ติดต่อสื่อสารกับคนรอบข้างมานาน การพัฒนาฟื้นฟูความสัมพันธ์ขึ้นใหม่ บอกเล่าความรู้สึก เรื่องราวในชีวิตประจำวันกับความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจ กับคนที่มีค่านิยม ทัศนคติ ที่คล้ายกัน จะเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ในเชิงคุณภาพมากขึ้น

4.เปิดโอกาสให้ตนได้เรียนรู้ที่จะมีความสัมพันธ์ใหม่ ๆ และไม่ปิดกั้นตัวเองในการสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบๆข้าง

5.หากิจกรรม งานอดิเรกทำเพิ่มเติม การกลับมาอยู่กับตัวเอง ให้เวลาตัวเอง บางครั้งสามารถทำให้ความเหงาชั่วครั้งชั่วคราวลดลงได้ และได้พบเจอผู้คนใหม่ๆ ที่ใจตรงกัน

6.เลี้ยงสัตว์เลี้ยง การมีสัตว์เลี้ยงสักตัวจะทำให้เกิดความผูกพัน เกิดความสัมพันธ์ที่มีความหมายและช่วยลดความเหงาลงไปได้

7.พูดคุยปรึกษากับนักจิตวิทยา เพื่อหาวิธีรับมือกับความเหงาเพิ่มเติม

8.มองโลกด้านดีไว้ คนเหงาส่วนใหญ่ มักกลัวการโดนปฏิเสธ จึงไม่กล้าเริ่มต้นสร้างสัมพันธ์กับคนใหม่ๆ และการที่เรารู้ตัว และลุกขึ้นมาจัดการกับความเหงา ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการจัดการกับความรู้สึก ทำให้เราเข้าใจตัวเอง และคนอื่นมากขึ้น ซึ่งจะต้องค่อยๆไปทีละก้าว เพื่อความแข็งแรงของใจในระยะยาว มันไม่ได้สำเร็จเพียงชั่วข้ามคืน

 

งานวิจัยพบว่าคนที่เหงาน้อย มักเป็นคนที่แต่งงานแล้ว มีรายได้สูงกว่า และมีการศึกษาที่สูงกว่า  ขณะที่ความเหงาระดับสูงสัมพันธ์กับ สุขภาพทางกาย การอยู่คนเดียว การมีสังคมขนาดเล็ก และมีคุณภาพความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่ดี 

 

ถ้าเรามีความเข้าใจเราจะรู้ว่า ความเหงา ไม่ใช่ความอ่อนแอ ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ของชีวิต ความเหงาเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าสถานะไหน การศึกษาอย่างไร เป็นคนมีสังคม หรือ ไม่มีสังคมก็ตาม  

 

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่อยู่ร่วมกันมาตั้งแต่สมัยไหน แต่สภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ทุกคนมีความเป็นส่วนตัว เป็นปัจจเจกมากขึ้น ทำให้ผู้ใหญ่จำนวนมากไม่มีเพื่อนสนิทเลย ซึ่งการมีเพื่อนสนิท และได้พบหน้า เจอตัวกัน ช่วยคลายความเหงาได้มาก และดีต่อสุขภาพกายและใจ ทั้งกับคนที่มีสุขภาพปกติ และคนป่วย ทำให้อาการป่วยไม่หนักขึ้น  เราควรฝึกสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ มากกว่าชินชาไปกับความเหงาไปเอง

 

ถ้าเราต้องกินข้าว ออกกำลังกาย นอนพักผ่อน เพื่อสุขภาพกายที่แข็งแรงอย่างไร การบริหารสุขภาพใจ ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ก็มีค่าอย่างนั้น เพราะคุณภาพของความสัมพันธ์ กำหนด คุณภาพของชีวิตนั่นเอง

 

ข้อมูลจาก

• Nature

• CNN

• WHO

• Verywell Mind

album

0
0.8
1