Tree Plotter รับบทเป็นนักสำรวจต้นไม้ 1 วัน เค้าทำอะไรกัน?

GREEN HEART

Tree Plotter รับบทเป็นนักสำรวจต้นไม้ 1 วัน เค้าทำอะไรกัน?

24 พ.ค. 2023

หลายคนชอบไปเที่ยวต่างประเทศ เพราะมีทัศนียภาพสวยงาม เจริญตาเจริญใจ  ภาพต้นไม้สวยๆ มีพุ่มพันธุ์ไม้เป็นระเบียบ 2 ข้างถนน ที่ถ่ายรูปมาอวดกัน  แต่รู้หรือเปล่าว่า ยิ่งสวย ยิ่งสมบูรณ์เท่าไหร่ ก็หมายถึง ระบบการดูแลรักษา จัดการ ก็ต้องดีตามไปด้วย

อย่างล่าสุดที่เจอมาคือ ที่อเมริกา เมืองวิสคอนซิน  เป็นเมืองที่อยู่กับธรรมชาติ อย่างกลมกลืน มีทั้งความเจริญ และ มีทั้งธรรมชาติเติบโตไปด้วยกัน สิ่งที่พบคือ เค้ามีระบบการดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะมีหน่วยงานดูแลจริงจัง แต่ที่สำคัญคือ มีอาสาสมัครชุมชน คนที่อยู่ละแวกนั้นช่วยกันดูแลอยู่ ดูแลแม้กระทั่ง พันธุ์แมลง ต้นไม้ ดอกหญ้า ข้างทาง เช่นบางพื้นที่เค้าจะไม่ตัดวัชพืชจนเหี้ยนหายไปหมด เพราะวัชพืชบางส่วนเป็นที่อยู่ของแมลง และเป็นอาหารของสัตว์อื่น ที่จะทำให้ระบบนิเวศน์แถวนั้นอยู่ได้ 

พอดูงานที่นั่นเสร็จแล้วก็ได้แต่นึกถึงละแวกบ้าน ละแวกที่ทำงานตัวเอง นึกในใจว่าระบบแบบนี้ ไม่น่าจะเป็นจริงได้ในเมืองไทย 

จนกระทั่งเสาร์ที่ผ่านมา (20 พฤษภาคม 2566) เฟี้ยตได้ไปเจอโครงการที่น่าสนใจ ของกลุ่ม Big Trees โครงการนี้ มีชื่อว่า "Tree Plotter" นักสำรวจต้นไม้ในเมือง ย่านอโศก จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เลยขอไปแจมดู

 

 

โดยก่อนหน้านี้ ทางกลุ่มประกาศหาอาสาสมัคร ลงไปตรวจสุขภาพต้นไม้ เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลในการดูแล รักษา พื้นที่ในแต่ละย่าน ที่ผ่านมาได้ศึกษาย่านสีลมเสร็จเป็นที่เรียบร้อย และ ตอนนี้มาต่อที่ย่านอโศก

จริง ๆ แล้ว เฟี้ยตเดินผ่านย่านนี้แทบทุกวัน แต่โฟกัสอยู่ที่จะเดินบนทางเท้าอโศกยังไงให้ปลอดภัยมากกว่า เช่นพยายามเดินหลบ สิ่งปลูกสร้าง ที่ขวางอยู่บนฟุตบาท เสาไฟ ป้ายโฆษณา ป้ายหาเสียง ตู้เหล็กชุมสาย รถเข็นพ่อค้า แม่ค้า กระเบื้องปูพื้นที่ไม่เรียบ แต่ที่ไม่เคยสังเกตเลย คือมันมีต้นไม้ใหญ่ อยู่บนฟุตบาทอโศก หลายสิบต้น

 

 

อาสาสมัครของเรา แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม สำรวจ ต้นไม้ 2 ข้าง ถนนอโศกมนตรี ตั้งแต่แยกอโศกเพชร ไล่ขึ้นไปทาง แยกอโศกสุขุมวิท  โดยแต่ละกลุ่ม ประกอบด้วยอาสาสมัคร จากหลากหลายอาชีพ มีทั้งนักศึกษา คนเกษียณอายุ สถาปนิก บุคคลทั่วไป มาร่วมกัน ช่วยกันตรวจสุขภาพต้นไม้ในหลาย ๆ มิติ ทั้งความสูง, เส้นผ่านศูนย์กลาง, สภาพภายนอก,ความสมบูรณ์, กิ่งกระโดง โรค  ความเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อต้นไม้,  ความเสี่ยงที่ต้นไม้อาจสร้างอันตรายให้กับชุมชน, ความกว้างทรงพุ่ม, ฯลฯ งานไม่ได้ยากนะ แต่ร้อน และใช้ความใส่ใจสูง 

 

 

ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลต้นไม้ และการจัดการเมืองต่อไปในอนาคต เคยเห็นไม้ ต้นไม้ที่โดนตัดแต่งแบบผิดๆ แล้วในที่สุดมันก็ตายคาต้น หรือ ต้นไม้ที่โค่นพาดเสาไฟ แล้วไฟดับไปทั้งแถบ ก็เพราะเราขาดข้อมูลประเมินเบื้องต้นเหล่านี้ น่ะแหละ ทำให้เราจัดการมันไม่ได้เต็มที่

 

 

เมื่อลงไปเก็บข้อมูลจริง พบว่างานสำรวจต้นไม้ทำคนเดียวน่าจะช้ามาก ต้องมีอย่างน้อย ทีมละ 3-4 คน พวกเราก้ม ๆ เงย ๆ อยู่แถวต้นไม้ จนคนผ่านไปมามองด้วยความสงสัย

แอบแทรกตัวลงไปในวิน มอเตอร์ไซค์บ้าง เพราะเป็นที่พักของพวกพี่ๆเค้า  และพอเราเก็บข้อมูลต้นไม้ไปเรื่อย ๆ เราพบว่า ต้นไม้ ไม่ใช่แค่มีไว้ประดับเมืองสวย ๆ มันเป็นที่พักพิงกลางแดดร้อนจัดของทั้งวิน มอเตอร์ไซค์ พ่อค้า แม่ค้า ที่ขายอาหาร ให้เหล่ามนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย หรือแม้แต่สัตว์ที่ทำรังอาศัยอยู่บนต้นไม้

 

 

ต้นไม้ที่สำรวจส่วนใหญ่ มีสภาพไม่สมบูรณ์ ขาดการดูแล ถ้าเป็นคนก็คง เป็นคนขาดสารอาหาร  นอกจากได้รู้เรื่องต้นไม้ที่เราเดินผ่านทุกวันมากขึ้น มันยังเปิดโลกว่า ทุกชีวิตต่างผูกพัน พึ่งพากัน โดยที่เราจะรู้ตัว หรือ ไม่รู้ตัวก็ตาม 

 

 

และก็น่าดีใจ ที่ได้เห็นกลุ่มคนอาสา ที่สละเวลามาช่วยกันดูแลสภาพสิ่งแวดล้อมของทุกคน เพราะเมื่อไหร่ที่เราเข้าใจว่าทุกชีวิตสัมพันธ์ และทุกสิ่งที่เราทำเชื่อมโยงถึงกัน เมืองก็จะน่าอยู่ขึ้น 

 

 

หากสนใจร่วมกิจกรรม กับ กลุ่ม Big Tree สนับสนุน ในมุมที่คุณถนัด คลิก : https://www.facebook.com/BIGTreesProject ได้เลย

 

 

album

0
0.8
1