สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

GREEN HEART

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

15 มี.ค. 2023

24 ก.พ.ที่ผ่านมา ครบรอบวันที่รัสเซียบุกยูเครน เป็นเวลา 1 ปี นอกจากผู้คนที่เสียชีวิตจำนวนมาก และคนนับล้านที่ต้องพลัดถิ่น ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่กระทบกระเทือนไปทั่วโลก อีกสิ่งที่เกิดขึ้น คือความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่สาหัสไม่แพ้กัน

Photo Credit: Planet

 

ตั้งแต่สงครามเริ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน พื้นที่ทางธรรมชาติของยูเครนกว่า 12,400 ตรกม. ได้รับผลกระทบจากสงคราม พื้นที่ป่ากว่า 30,000 ตรกม. ได้รับผลกระทบ โดยป่ากว่า 4,500 ตรกม. ถูกยึดหรือแปรสภาพเป็นสนามรบ พื้นที่อุตสาหกรรม และการเกษตรถูกทำลาย อุทยานแห่งชาติเสียหาย ป่าถูกเผา และแนวโน้มรังสีนิวเคลียร์รั่วไหล บริเวณรอบโรงไฟฟ้า Zaporizhzhia ที่มีการโจมตีอยู่เรื่อย ๆ

 

โดยหน่วยงานสิ่งแวดล้อมอย่าง "กรีนพีซ ยุโรปกลาง และตะวันออก" ร่วมกันกับหน่วยงาน "อีโคแอคชั่น" ของยูเครน ได้ประเมินความเสียหาย และจัดทำแผนที่คร่าว ๆ ขึ้นมา ที่นี่ https://maps.greenpeace.org/maps/gpcee/ukraine_damage_2022/

Photo Credit: GreenPeace

 

มีการประเมินมูลค่าความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมยูเครน ณ ปัจจุบัน อาจสูงก่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยมลพิษทางอากาศมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยมลพิษจากขยะและของเสีย ตามมาด้วยแหล่งน้ำและดิน

Photo Credit: Politico

 

สรุปเป็นประเด็นต่าง ๆ ได้ดังนี้

 

- โลหะหนัก จากเชื้อเพลิง และ อาวุธสงครามปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

                นักวิจัยกังวลการปนเปื้อนของเคมีในอากาศ ดิน และน้ำ จะกระทบหลายมิติของยูเครน ทั้งสิ่งแวดล้อม ชีวิตสัตว์ในระบบนิเวศ สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

 

- ผลผลิตทางการเกษตรปนเปื้อน

                ยูเครนเองเป็นพื้นที่ผลิต ธัญพืช และ พืชน้ำมัน แหล่งสำคัญของโลก สงครามทำให้มีปัญหาการส่งออกทำให้ระบบอุตสาหกรรมอาหารของโลกขาดแคลน และสินค้าปรับตัวสูงขึ้น แต่หลังจากนี้ แม้สงครามจะจบลง แม้แต่คนในพื้นที่ต้องบริโภคอาหารปนเปื้อน และพื้นที่การเกษตรที่สำคัญของยูเครน ก็อยู่ในพื้นที่ที่ปนเปื้อนสารเคมี จากกรณีศึกษาโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลที่รัสเซีย ตั้งแต่ปี 1986 จนถึงปัจจุบัน ก็ยังพบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ที่นักวิทยาศาสตร์บางคนถึงกับบอกว่าอาจต้องใช้เวลาถึง 20,000 ปี กว่าคนจะกลับเข้าไปอาศัยในพื้นที่ได้

 

- ระบบสาธารณูปโภค ปนเปื้อนเคมีจากอาวุธสงคราม

                UNEP ประเมินว่าโรงงานเคมีและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญหลายอย่าง ประมาณกว่า 618 ถูกทำลาย เช่น โรงงานน้ำ โรงงานเคมี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กระจัดกระจายในพื้นที่สงคราม ซึ่งนักวิจัยกำลังตามเก็บข้อมูล เพื่อจัดการหลังสงครามจบ

                นอกจากนี้ยังมีการปนเปื้อนลงแหล่งน้ำและดิน จากการที่ระบบบำบัดน้ำ และสาธารณูปโภคที่พังด้วย เพราะในช่วงสงคราม ไม่มีระบบจัดการของเสีย ทำให้น้ำจากโรงงานบ้านเรือนต่าง ๆ รั่วซึมสู่แหล่งธรรมชาติ ทั้งดินและแหล่งน้ำ

 

- ผลกระทบต่อสัตว์น้ำในทะเลดำ (ทางตอนใต้ของยูเครน)

                โดยปกติ นักวิทยาศาสตร์ รอบทะเลดำ พบซากปลาโลมา และวาฬ ตายเกยชายหาด มากสุด ปีละ 194 ตัว

                นับตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนเริ่มต้นขึ้น ในปี2022 เพียงไม่กี่เดือนก็บันทึกซากโลมาและวาฬกว่า 2,500 ตัว ที่ลอยมาเกยที่ชายหาด (ซากส่วนใหญ่จมลงใต้น้ำ) เป็นบันทึกยอดการตายสูงที่สุดในรอบ 12 ปี โดยนักวิจัยชี้เป้าไปที่การใช้ระบบคลื่นเสียงใต้น้ำของเรือดำน้ำรัสเซีย และการใช้เรือเป็นฐานการรบในน้ำ ยังไม่นับอาวุธที่ทำลายระบบนิเวศ ทั้งในทะเล และชายฝั่ง คุณภาพน้ำ และจำนวนปลาที่ชาวประมงเริ่มพูดกันว่า จับได้น้อยลง

 

นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากสงคราม ซึ่งยูเครนเองก็ด้อยเรื่องการรักษาสภาพแวดล้อมอยู่แล้ว นักวิจัยจากนานาชาติ ลงความเห็นว่าการบำบัดความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ของสงครามคราวนี้อาจใช้เวลาหลายร้อยปี

Photo Credit: Planet

 

ทุกสงครามสร้างความเสียหาย อย่างที่เราประเมินค่าไม่ได้ ไม่ว่าจะสงครามอ่าวเปอร์เซีย ที่มีการทำลายบ่อน้ำมัน จนน้ำมันออกมาปนเปื้อนสิ่งแวดล้มอม สงครามเคมีที่เวียดนาม ที่ทำให้คนป่วยเป็นล้าน ๆ คน ทำให้คนพิการไปหลายเจนเนอเรชั่น จนมาถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งล่าสุด ที่ดูยังไม่มีทีท่าจะหยุดลงในไม่ช้า แม้สงครามจะจบ คนบางกลุ่มอาจจะอ้างชัยชนะได้ แต่ในมุมของสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อมนั้น เราทุกชีวิตคือผู้แพ้ และสูญเสียในสงครามทุกครั้งไป

 

แหล่งข้อมูล BBC, GreenPeace, EcoAction, Politico

album

0
0.8
1