“ชีวิตมันต้องเจอความเจ็บปวดเป็นเรื่องธรรมดา
สิ่งสำคัญคือคุณใช้ชีวิตอยู่กับความเจ็บปวดยังไง How do you live with the pain?
ความเจ็บปวดมาเดี๋ยวมันก็หายไป แต่ถ้าเราทนได้ เราจะได้อะไรกลับมาที่มันดีกว่านั้น”
เปิดคลับให้ได้ฟังสีสันของชีวิต และเติมข้อคิดแรงบันดาลใจในทุกสัปดาห์ สำหรับรายการ Club Pride Day คุยอย่าง Proud เมาท์อย่าง Pride ทอล์คกระทบไหล่กับตัวแม่ กับสองดีเจสุดแซ่บ “ดีเจพี่อ้อย” และ “ดีเจก็อตจิ” ที่ได้เปิดไมค์ต้อนรับแขกรับเชิญสุดจึ้ง “ปันปัน Pangina Heals” แดร็กควีนตัวแม่ ที่ได้สร้างคอมมูนิตี้ Waacking Dance เมืองไทย สู่การเป็นตัวแทนแดร็กควีนไทย ที่ได้ไปโชว์ความสามารถบนเวทีโลกอย่าง RuPaul's Drag Race UK vs The World สีสันแรงบันดาลใจของชีวิต ได้ถูกส่งต่อไว้ในรายการสัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่มาสุดจึ้ง ของชื่อ Pangina Heals
“ชื่อนี้มาจากที่ปันดูรายการ RuPaul's Drag Race แล้วตอนนั้นยังไม่ได้เริ่มแต่งหญิงเลย แต่ว่าชอบศาสตร์นี้มาก แล้วมีควีนคนหนึ่งที่ชื่อ อองไจน่า แล้วเค้าเป็นคนเอเชียเหมือนกัน พอเราติดตามรายการก็รู้สึกว่าอยากเป็นเหมือนเค้าจังเลย เพราะเราไม่ค่อยเห็นคนเอเชียที่เป็นแดร็กควีนในรายการระดับโลก เราก็เลยผสมชื่อของปันกับไจน่า
แล้วปันก็รู้สึกว่าคำว่า Pangaea มันสำคัญ คือโลกสมัยก่อนเคยเป็น Pangaea เป็นทวีปเดียวกันก่อนที่จะแตกแยก แล้วปันรู้สึกว่าการแต่งหญิง และการเต้น มันทำให้เรากลับมาอยู่โลกเดียวกันได้
ส่วนคำว่า ฮีลส์ ที่แปลว่า เยียวยา ปันรู้สึกว่าแดร็ก และการเต้น มันทำให้เราเยียวยาตัวเองในศิลปะนี้ และเยียวยาคนอื่นได้ด้วย เพราะมันทำให้คนอื่นมีความสุข พอรวมกันเลยกลายเป็นชื่อ Pangina Heals
ซึ่งชื่อจริง คือ เด็กชาย แพนแพน นาคประเสริฐ เป็นชื่อไทยที่แปลกมาก เพราะว่าแม่ของปันเป็นคนไต้หวัน เลยตั้งชื่อว่า แพนแพน (กระทะสองใบ) ซึ่งความฝันตอนเด็กของ แพนแพน คืออยากเป็นนักมายากล เพราะว่าชอบสัตว์ เวลาเห็นว่านักมายากลเสกนกพิราบได้ ก็เลยอยากเลี้ยง ทำให้อยากเป็นนักมากลบ้าง เหตุผลมีเท่านั้นเลยค่ะ”
อยากเป็นแดนเซอร์ เพราะชอบความมั่นใจ แต่ตอนนั้นไม่มีความมั่นใจ
“เพราะว่าปันชอบความมั่นใจ แต่ตอนนั้นปันไม่มีความมั่นใจ แล้วปันเห็นแดนเซอร์เวลาเค้าเต้นบนเวที ได้เห็นสีหน้า หรือสายตาทุกอย่างเค้าดูมั่นใจจังเลย เค้าดูโอเคทุกอย่าง ไม่มีปัญหาอะไรเลย แล้วเราอยากไปอยู่จุดนั้น รู้สึกว่าอยากเป็นแดนเซอร์ ก็เลยไปเรียนเต้น ในช่วงที่อยู่มหาวิทยาลัย เริ่มมีแก๊งเต้น แล้วซ้อมกันในที่จอดรถทุกวัน 40 กว่าคน ตั้งแต่ 1 ทุ่ม ถึงตี 2 ทุกวัน เต้นกันหนักมาก แล้วซ้อมกันเป็นเดือน ๆ เลย
ปันคิดว่าพ่อแม่ปันคาดหวัง เพราะว่าปันได้เข้าโรงเรียนค่อนข้าง Top คือเข้า University of California, Los Angeles มันเป็นมหาวิทยาลัยที่อเมริกา ซึ่งค่อนข้างมีชื่อเสียง พ่อกับแม่เค้าคงหวังว่าลูกจะเป็นอะไรก็ได้ แต่เค้าก็คงไม่นึกว่ามันจะเป็นแดนเซอร์ เพราะหลายคนคงคิดเรื่องเต้นกินรำกิน แต่โชคดีอย่างหนึ่งคือ พ่อปันเค้าชอบบอกตั้งแต่เด็กว่า You ทำอะไร เงินมันจะมาที่หลัง แต่ความสุขถือเป็นกำไรของชีวิต มีความสุขก่อน แล้วเงินจะตามมา นั่นคือสิ่งที่พ่อพูดไว้เลย พ่อบอกว่าถ้าเกิด You รวยมาก แต่ไม่มีความสุข แล้ว What's the point of life? ทำไปเพื่ออะไรถ้า You ไม่ได้ให้ความสุขกับตัวเอง หรือคนอื่นเลย
ส่วน คุณแม่ เค้าใช้เวลาเพื่อที่จะสนับสนุน ตั้งแต่จุดแรกเลยตอนที่เพื่อน ๆ เค้าเห็นว่าปันประสบความสำเร็จ แล้วเค้ามาบอกกับแม่ปันว่า ลูกเธอเก่งเนาะ แม่เค้าถึงจะแบบอ๋อเหรอ ลูกฉันเก่งเหรอ เค้าจึงเริ่มเปลี่ยนความคิด เพราะว่าแม่ปันเค้าค่อนข้างจะแคร์ว่าคนรอบข้างคิดอะไร สังคมเค้าคิดยังไง ซึ่งก็ไม่ผิดเพราะปันมองกลับไปในตัวเค้า เค้ามีจุดคิดของคนอีกสมัยหนึ่ง ปันก็เลยต้องพยายามเข้าใจเค้า แต่ว่าแม่ก็สนับสนุนในระดับหนึ่งครับ
การเป็นแดนเซอร์ ปันว่าเป็นสิ่งที่นำมาใช้กับการเป็นแดร็กได้เยอะมาก แค่ขึ้นไปยืนบนเวทีแล้วสรีระเราสวย หรือไม่สวย มันสำคัญมาก ๆ อย่างที่สองคือเวลาเราจะแสดง การเต้น มันก็ได้เอามาใช้ในการที่จะสื่อเรื่องที่เราจะเล่าให้มันชัดขึ้น ซึ่งมันช่วยให้เราคิดเสมอว่าเวลาโชว์ไลน์ต้องสวยเสมอ”
ปันปัน กับการก้าวเข้าสู่วงการ Drag Queen
“มันเริ่มตั้งแต่การที่ปันเป็นแดนเซอร์ก่อน แล้วก็ได้เห็นนางโชว์ในคลับ ซึ่งปันชื่นชอบนางโชว์มาตั้งแต่เด็กแล้ว พอเราได้ไปดูโชว์ที่ซอย หรือว่าหลายๆ ที่ เราได้เห็นคาบาเร่ต์โชว์ ที่ ทิฟฟานี่ ว่าเวลาที่เค้าแสดง เรารู้สึกว่าเค้ามีความสุขจัง เค้าสวยจังเลย เราอยากเข้าไปอยู่ในโลกของเค้า ที่ทุกอย่างมันดูงดงาม มันไม่มีความเครียด เราก็เลยชอบในจุดนั้น หลังจากนั้นพอปันได้มาศึกษาการเต้นแล้วเรารู้สึกว่า แล้วทำไมการเต้นกับแดร็กไม่ผสมกัน ถ้าผสมกันมันน่าสนใจ แล้วปันก็เรียน Waacking Dance มาก่อน ซึ่ง Waacking Dance เริ่มต้นจากการที่แดนเซอร์ไปดูงานโชว์ในยุค 70 แต่เรารู้สึกว่ามันไม่มีนางโชว์ที่เป็น Waacker เลย เราก็เลยผสมผสานกันเป็น Waacking Drag Queen นั่นก็คือจุดเริ่มต้น
คนหลาย ๆ คน คิดว่าปันเป็น Performer เป็น Entertainer ทำได้ทุกอย่าง แล้วก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าถามว่า Pangina Heals เป็นคนยังไง ก็ตอบได้ว่า คือคนปากสุนัข แล้วก็เป็นคนผมบลอนด์ แล้วก็พูดตรง
ปันชอบแต่งเป็น มารายห์ แครี่ เพราะเราชอบมารายห์มาก ฟังทุกอัลบั้ม ฟังทุกเวอร์ชั่น ปันมีความสุขเวลาได้ยินเพลงเค้า แล้วทุกอิริยาบทในชีวิตของเราสามารถเห็นเค้าได้ อย่างเวลาอกหักก็ฟังเพลงนี้ เวลาเศร้าก็ฟังเพลงนี้ เวลามีความสุขก็ฟังเพลงนี้ เวลาอยากจะออกไปเที่ยวฟังเพลงนี้ มันมีแบบทุกอารมณ์”
Drag คือศิลปะ ที่ทุกคนทุกเพศสามารถแต่งได้
“กับความคิดที่ว่า แดร็ก คือผู้ชายแต่งหญิง ปันว่านี่เป็นความคิดของ 5-10 ปีที่แล้ว ในสมัยนี้ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร ผู้หญิง ผู้ชาย ทรานส์ หรือไฮโดรเซ็กซ์ชวล ก็สามารถแต่งแดร็กได้ ผู้ชายแท้ก็สามารถแต่งหญิงได้ เพราะว่าแดร็กคือศิลปะ เราแค่แต่งข้ามเป็นอะไรบางอย่าง ข้ามไปเป็นคาแรกเตอร์อย่างหนึ่ง นั่นก็ถือว่าเป็นแดร็กแล้ว
เวลาแต่งแดร็กมันต้องเก็บรายละเอียดเยอะมาก ใช้เวลาแต่งหน้าแต่งตัวราว ๆ 3 ชั่วโมง แต่ก่อนหน้านั้น เราต้องนั่งซ้อมร้องเพลงไปแล้วกี่เดือน ถ้าเราจะแสดงเพลงนี้ต้องเว้นช่วงหายใจตรงไหน มองคนดูตรงช่วงไหน คือมันเป็นศาสตร์ที่ลึกซึ้งมาก เพราะคนดูโชว์เค้ารู้ว่าแดร็กแต่ละคนเก็บรายละเอียดเยอะขนาดไหน
การแต่งแดร็ก มันมาพร้อมกับความเจ็บปวด อย่างแรกส้นสูง ส่วนมากเค้าไม่ได้ทำส้นสูงไซส์ใหญ่ ซึ่งปันใส่ไซส์ 42-43 เพราะฉะนั้น การหาซื้อรองเท้ามันเป็นอะไรที่ยากมาก แล้วบางครั้งเวลาเห็นคู่นี้มันสวย แต่ไซส์มันอาจจะลดลงมาจากไซส์เรา 1 ไซส์ เราก็จะบอกกับตัวเองว่าฉันต้องใส่ให้ได้เพราะมันสวย จนกลายเป็นจุดที่ทำให้เท้าปวด เพราะเวลาใส่รองเท้าไซส์เล็กก็จะโดนบีบ อย่างที่สองคือการใส่ คอร์เซ็ท ปันเคยเป็นโรคกระเพาะ เพราะใส่คอร์เซ็ท ซึ่งเวลาใส่มันจะถูกบีบ พอถูกบีบมาก ๆ กรดไหลย้อนมันก็จะขึ้นมาเพราะว่าอาหารก็ลงไปไม่ได้ แล้วเมื่อก่อนตอนทำไนท์คลับต้องใส่คอร์เซ็ททุกวันเลย อย่างที่สามคือ วิก บางครั้งเวลาเราใส่วิกแน่นเกินไปแล้วเวลาดึงออก ปันเคยหนังศีรษะออกมาด้วย เพราะต้องใส่เป็นวิกกาว แล้วกาวเดี๋ยวนี้เหนียวมากเลย และอย่างที่สี่เจ็บที่สุดสำหรับปันคือเล็บ อันนี้เจ็บที่สุด เคยใส่เล็บอะคริลิค แล้วเวลาจะแคะออก มันรู้สึกเหมือนกับเอาประตูมาทับนิ้วทุกรอบเลย แล้วเราต้องแคะเอง สมมติว่าเราต้องการจะเปลี่ยนเล็บสำหรับโชว์ต่อไป เราจะต้องรีบ ๆ แคะ มันเจ็บมากเลย
แต่มันแลกมากับความสุขทุกครั้ง เพราะว่าเวลาปันมองไปเห็นคนดู แล้วเห็นทุกคนยิ้ม หรือบางครั้งเค้าขำ ซึ่งรู้สึกว่าการที่เราเป็นคนพุทธ มันเหมือนกับเป็นการให้บุญอย่างหนึ่ง แล้วเราได้บุญด้วย เพราะว่าคนดูเค้าลืมปัญหาในชีวิต จากการที่เราทำให้เค้ามีความสุข
การแต่ง Drag ต้องเริ่มจาก คอนเซ็ปต์ สมมติเราจะแสดง ก็ต้องคิดก่อนว่าเราจะโชว์เพลงอะไร เพลงนี้สื่อถึงอะไร การแต่งตัวจะเป็นยังไง แล้วเวลาสื่อออกมาจะสื่อสารกับคนดูเรื่องอะไร แล้วเราต้องคิดตั้งแต่หัวจรดเท้า ซึ่งปันไม่ชอบแต่งลุคไหนบ่อย บางลุคปันแต่งรอบเดียว เพราะว่าเราจะทำให้ได้ดีที่สุดในจุดนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นตู้เสื้อผ้าของปันแน่นมาก บ้านปันมี 2 ห้องนอน ซึ่งห้องนอนห้องหนึ่งจะมีแต่เสื้อผ้าอย่างเดียวเลย ซึ่งเสื้อผ้าส่วนมากปันก็คือจะโละให้กับน้อง ๆ ที่ร้านปัน ให้เค้านำไปใช้ต่อ
ปันเรียนจบศิลปะ วาดรูป เพ้นท์ติ้ง ถ่ายรูป รูปปั้น เรียนหมดเลย ที่เลือกเรียนศิลปะเพราะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งเดียวที่ปันทำแล้วไม่พัง เพราะว่าจริง ๆ แล้ว ปันเรียนไม่ค่อยเก่ง ก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยคะแนนเราก็ไม่ได้สูงมาก แต่ว่าเค้าดูเราที่ Portfolio ตอนที่สอบเข้า ปันเก็บผลงานที่เคยวาดรูป แล้วรู้สึกว่าเราทำออกมาได้สวย ซึ่งอาจจะได้ความเป็นศิลปินมาจากคุณยาย คือคุณยายของปันเค้าเป็น Painter แต่ว่าคุณยายไม่ชอบให้ลูกหลานทำงานศิลปะ เพราะว่าคุณยายเค้าเป็นนักวาดรูปช่วงสงคราม แล้วในช่วงสงครามใครจะซื้อรูป เค้าก็เลยต้องกลับไปเรียนบัญชี แม่ของปันก็เลยไม่ได้อยากเป็นศิลปิน แต่ปันกลับชอบศิลปะ”
งานโชว์ กับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
“มีบางครั้งที่เราตั้งใจโชว์มาก แต่คนดูไม่เข้าใจ หรือบางครั้งโชว์อยู่ดี ๆ แล้วเพลงดับ สิ่งที่เราต้องทำคือแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วสมัยก่อนปันเป็นคนที่เครียดกับเรื่องพวกนี้ ปันจะรู้สึกเฟลไปเป็นอาทิตย์เลย แล้วปันเพิ่งเรียนรู้ว่าทำไมเราไม่คิดใหม่ เพลงนี้สมมติว่าเราเล่นได้ไม่ดีที่สุด รอบหน้ามันยังมี มันยังมีวันพรุ่งนี้ จนเริ่มรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ปันปล่อยวางลงมาก แต่จากประสบการณ์เวลาโชว์ปันก็เคยมีคนมาดึงวิกบ้าง เอาเมนูมาโยนใส่ปันบ้าง เคยแรงถึงขั้นมีคนจ้างมือปืนไปรอปันหน้าคลับ เพราะเราพูดตลก พูดแซวแขกแล้วก็จะชอบจิกกัดทุกคน ปรากฎว่าเค้ารับไม่ได้ เค้าก็เลยไปจ้างมือปืนมา 2 คน แต่ว่าปันก็ไปแจ้งความ เค้าก็ไม่กล้ามาทำอะไร ไม่เคยนึกเลยว่าการมาโชว์ จะต้องมาหนีมือปืนด้วย
ซึ่งการรับรู้เรื่องการแต่งแดร็กของต่างชาติ กับ คนไทย ปันว่ามันต่างกันในระดับนึง คือมันอาจจะมี Reference บางอย่าง ที่คนดูแล้วคนอาจจะเข้าใจ แต่ท้ายที่สุด โชว์ที่ดีก็คือโชว์ที่ดี เรื่องบางเรื่องที่เราพยายามจะเล่า เค้าอาจจะไม่ได้เข้าใจ แต่ถ้าโชว์ออกมาดี มันก็คือโชว์ที่ดี ซึ่งคนดูไม่จำเป็นต้องเข้าใจทุกอย่าง สมมติเราไปรำไทยที่เมืองนอก แต่เรารำได้สวย ซึ่งมันอาจจะมีภาษาของท่ารำที่คนต่างชาติไม่เข้าใจ แต่พอเรารำสวย คนต่างชาติก็ชอบ”
ปันปัน กับการยอมรับตัวตน จากคนในครอบครัว
“ต้องบอกว่าเวลาเราเป็นแดร็กควีน แล้วก็เป็นเกย์ด้วย มันเหมือนกับว่า เราจะต้องออกมาบอกโลกสองรอบ คนส่วนมากที่ไม่เป็นแดร็กควีน ก็จะมีวันหนึ่งที่เค้าอยากจะบอกพ่อแม่ว่า ‘สวัสดีค่ะ ชอบผู้ชายนะคะ’ แต่พอเราเป็นแดร็กควีน เราก็ต้องกลับไปบอกพ่อแม่อีกว่า ‘สวัสดีค่ะ เราชอบผู้ชายนะคะ และเราชอบแต่งหญิงด้วยค่ะ’
ซึ่งก่อนหน้านั้นการรับรู้ของครอบครัวปันไม่ค่อยแย่นะ เพราะมันค่อนข้างจะชัดอยู่ในเรื่องของความตุ้งติ้งของปันที่มีมาตั้งแต่เด็ก และปันไม่เคยรู้สึกผิดกับความตุ้งติ้ง เพราะเรารู้สึกว่ามันสนุกดี จริง ๆ แล้ว ตอนที่บอกว่าเป็นเกย์ พ่อแม่ค่อนข้างโอเค แต่พอบอกว่าแต่งแดร๊กปุ๊บ แม่กลับรับไม่ได้สุด ๆ ส่วนคุณพ่อกลับโอเค ซึ่งปันแปลกใจมาก ปันใส่ชุดราตรีจะไปโชว์ คุณพ่อก็ขับรถไปส่ง แต่แม่กลับบอกว่า เธอเป็นได้แค่เกย์ แต่เป็นแดร็กไม่ได้นะ ปันคิดว่าแม่เค้าคงคิดว่าปันอยากแปลงเพศ ซึ่งจริง ๆ ไม่ได้จำเป็นเลย อย่างที่ปันบอกไปว่า แดร็ก ไม่ได้สำคัญเลยว่าคุณจะเป็นสาวประเภทสองหรือเป็นเกย์ สมัยก่อนเวลาเราเขียนคำว่าแดร็ก ก็จะมีแค่ภาพสาวประเภทสอง และมีเกย์อยู่ใต้ร่มของการโชว์คาบาเร่ต์ แต่ปัจจุบันนี้ แดร็กควีน คือใครก็ได้ที่แต่งข้ามไป ไม่ได้เกี่ยวว่ามีอวัยวะอะไร แล้วอยากผ่าตัดแปลงเพศไหม
เวลามีคนถามปันว่า ความสำเร็จอะไรที่ปันภูมิใจที่สุด สิ่งนั้นคือข้อความที่ได้มาจากแม่ที่บอกว่า I’m so proud of you ฉันภูมิใจในตัวเธอจังเลยนะ คือมันยิ่งใหญ่มาก เพราะเรารู้สึกว่า เค้าก้าวข้ามอะไรบางอย่างเพื่อที่จะมายอมรับเราได้ในสิ่งที่เราเป็น มันอาจจะใช้เวลานิดนึง กว่าที่เค้าจะมาถึงจุดนี้ แต่อย่างน้อยเราก็มาถึงจุดนี้แล้ว จุดที่เค้ายอมรับเราได้
หรือวันที่ปันไปแสดงครั้งนึง วันนั้นปันชนะได้รางวัลที่ 1 แล้วพ่อของปันเวลาไปเจอใครก็บอกว่าเนี่ยลูกชายฉัน คือเค้าภูมิใจแล้วเรารู้สึกว่าพ่อแม่หลาย ๆ คน อยากให้ลูกสืบทอดนามสกุล ซึ่งปันไม่สามารถที่จะสืบทอดนามสกุลในทางที่คุณต้องการได้ แต่ฉันสามารถสืบทอดนามสกุลของเราในวิธีอื่นได้นะ”
ถอดบทเรียน 3 ปี การเป็น Host ที่ดีต้อง...?
“ปันได้มาเป็น Host ในรายการ Drag Race Thailand แบบงง ๆ คือเราชอบรายการนี้มาตั้งนานแล้ว มีวันหนึ่ง พี่เต้ กันตนา เค้าก็บอกว่าเดี๋ยวจะมีรายการนี้ ให้รอไปก่อน 3 ปี ซึ่งเราก็ทำงานของเราไปเรื่อย ๆ พอผ่านไป 3 ปี รายการเกิดขึ้นจริง แล้ว 1 เดือน ก่อนที่จะถ่าย ทีมงานก็ติดต่อเรามา ตอนนั้นก็คิดว่า แล้วเราต้องหาชุดอะไรยังไง ไม่รู้เรื่องเลย แล้วคิดว่าคงไม่ทัน แต่ก็ตัดสินใจตอบรับรายการไป แล้วปันก็ได้มาเจอกับ พี่อาร์ต อารยา ซึ่งตอนแรกก็ไม่ได้ชอบนางเลย เพราะพี่อาร์ตหน้าเหวี่ยงมาก ตอนนั้นเราเป็นคนที่ไม่รู้จักแฟชั่น เราไม่เข้าใจแฟชั่น ทำให้ไม่ค่อยชอบในตอนที่เจอพี่อาร์ตครั้งแรก แต่พอรู้จักพี่อาร์ตมากขึ้น นางก็เหมือนแม่คนหนึ่ง เป็นคนน่ารัก ไม่มีอะไรเลย ซึ่งช่วงแรก ๆ ที่เข้าไปทำรายการ เราทำแบบงง ๆ เพราะปันไม่เคยมีประสบการณ์ Host มาก่อน หลังจากนั้นผ่านไป 2 ซีซั่น แล้วเดี๋ยวซีซั่น 3 กำลังจะมาในปีนี้
ปันว่าการเป็น Host สิ่งสำคัญคือการฟัง และเรื่องของจังหวะ คือการที่เราจะตะโกนโหวกเหวกโวยวาย มันไม่ได้มีพลังมากกว่าที่เราคิด ถ้าเกิดเราฟัง แล้วเราให้ความคิดดี ๆ เด็ก ๆ จะได้อะไรมากกว่า อย่างซีซั่น 1 ปันรู้สึกว่า ปันเล่นบทเป็นเหมือนกับเพื่อนสาวที่เสียงดังตลอดเวลา ดังนั้นในซีซั่น 3 ปันเข้าใจแล้วว่า การที่จะคอมเมนต์อะไรบางอย่าง มันไม่พอที่จะเป็นกรรมการ มันต้องให้แนวทางด้วย ติเพื่อก่อ คือข้อที่สำคัญที่สุดของการที่จะเป็นครูคนหนึ่ง ซึ่งเวลาคอมเมนต์ ปันจะพยายามบอกพวกเค้าว่า ปันคิดอะไรอยู่ แล้วแก้ยังไงดี แต่ก็มีบางรอบที่ปันรู้สึกว่าชุดอะไรเนี่ยน่าเกลียดมากเลย นี่เป็นเวทีทรงเกียรติมากเลยนะ ใส่ชุดนี้ได้ยังไง แต่ปันจะด่าแล้วก็บอกสาเหตุ”
ภูมิใจที่สุด! ความเป็นไทยที่เสนอผ่านตัวตน Drag ของ ปันปัน
“การที่ได้ไปแข่ง RuPaul's Drag Race ตอนนั้นปันกดดัน เพราะปันเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เข้าไปแข่งในรายการนี้ ซึ่งในช่วงนั้นรายการมีประมาณ 15 ซีซั่นแล้ว ไม่เคยมีคนไทยสักคนเลย แล้วปันดูรายการนี้มาตั้งแต่เด็ก เราอยากแข่งมาก มันเป็นความฝันที่เราไม่เคยกล้าฝัน พอเราได้เป็นกรรมการของรายการนี้ แล้วก็คิดว่าใครเค้าจะเอากรรมการไปแข่ง แต่งครั้งนั้นมันเป็นครั้งแรกที่เอากรรมการมาแข่งในรายการ และเป็นครั้งแรกที่คนไทยไป และปันเป็นลูกครึ่งไต้หวัน ปันก็รู้สึกว่าเป็นครั้งแรกที่คนไต้หวันได้เข้าไปในรายการด้วย มันเป็นครั้งแรกของหลาย ๆ อย่างมาก เราอยากไปคว้ารางวัลมาให้ประเทศไทย ตอนนั้นปันร้องไห้ทุกวันเลย มันกดดันมาก และนั่นคือสาเหตุที่ตอนออกจากรายการ ปันร้องไห้ ซึ่งไม่ได้เสียใจที่เราแพ้ แต่เราเสียใจที่รู้สึกว่าตัวเองอาจจะนำเสนอประเทศเราไม่ดีพอ มันเหมือนอกหัก ปันใช้เวลา 2-3 เดือน กว่าที่จะมารู้ว่ามันเป็นเกม การแข่งขันคือเกม เราต้องเอาชนะใจคนดู ไม่ว่าเราจะทำอะไรออกมา เราใช้ชีวิตอย่างสวยงามได้ การแข่งขันเป็นสิ่งหนึ่งที่จุดประทัดให้เรา แต่ว่าถ้าเกิดเรามาใช้ชีวิตจริง แล้วเราตรงต่อเวลา เรารักในสิ่งที่เราทำ เชื่อว่าไม่มีอะไรหยุดยั้งเราได้
ตอนไปแข่งทุกชุดที่ปันใส่ มาจากไทยดีไซน์เนอร์ทั้งหมด ทุกอย่างที่ปันเอาไปนำเสนอต้องบ่งบอกถึงการที่ปันภูมิใจในการเป็นคนไทยเพราะเราภูมิใจมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรม เรื่องเสื้อผ้า อาหารประเทศไหนอร่อยเท่าประเทศไทย ปันก็เลยอยากไปเล่าเรื่องประเทศไทย ในแนวทางของปัน ที่มันเป็นการเล่าผ่านการเป็นแดร็ก
ปันพยายามมากตอนที่ไปแข่ง ช่วงเก็บตัวช่วงนั้นเป็นช่วงโควิด แล้วตอนที่ทีมงานโทรมาบอกว่าเธอได้เข้ารายการนี้ ตอนนั้นปันทิ้งทุกอย่างเลย ไม่รับงานเลย เราอยากเรียนเพิ่มและต้องทำตัวให้เหมือนฟองน้ำที่ต้องดูดซับทุกอย่างจากทุกคนรอบข้างเรา ต้องกลับไปเรียนการทำผมใหม่ ต้องเรียนแต่งหน้าใหม่ ต้องเรียนเดินแบบ เรียนแอคติ้ง เรียนนั่งสมาธิ เรียนประวัติศาสตร์แฟชั่น เรียนตัดเย็บ รวมแล้วปันเรียนเพิ่มกว่า 11 คลาส เริ่มตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงตี 1 ทุกวัน แล้วมันมีเวลาในการเตรียมตัวประมาณเดือนครึ่ง ซึ่งน้อยมาก แต่ปันก็ตั้งใจเรียนทุกวัน เราต้องอุดรูให้หมด และแม้ว่าปันจะแพ้ แต่ในที่สุดเราเก่งขึ้น กลายเป็นคนที่มีความสามารถมากขึ้น จากการเรียนสิ่งพวกนี้ แล้วจากการประกวดเวทีนี้ ทำให้ปันได้ทัวร์ทั่วโลกเลย ได้มี Residency ที่ลาสเวกัส มันเป็นความฝันของนักแสดงคนหนึ่งเลยที่จะได้ไปโชว์ที่เวกัส แล้วทุกวันมีคนมาดูเรา 600 กว่าคน ซึ่งเราเป็นคนไทยที่ไปยืนตรงนั้น มันเหมือนเราไปสร้าง Landmark อย่างหนึ่ง
และสิ่งสำคัญสำหรับคนที่อยากไปแข่ง คือเรื่องภาษา เพราะพอเราดูรายการของเมืองนอกแล้ว เค้าต้องการคนที่สื่อสารในภาษาที่ทุกคนมาเจอกันจุดตรงกลางได้ แล้วการที่คุณจะเป็นพิธีกรถ้าคุณมีทักษะภาษาที่มากกว่าภาษาเดียว คุณก็สามารถรับงานได้มากกว่างานเดียว ปันเลยรู้สึกว่าถ้าคุณเป็นแดร็กควีน ภาษาเป็นเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่างถ้าไปประกวด Miss Universe การที่นางงามสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง กับการสื่อสารออกมาแล้วมีล่ามคอยแปล แบบไหนประทับใจกรรมการมากกว่า แน่นอนว่าการสื่อสารที่ออกจากใจเรา และพูดได้ชัดเจน ตรงประเด็น มันประทับใจกว่า
ในการแข่งขันเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องผิดหวัง แต่ผิดหวังแล้วเราลุกขึ้นกลับมาอีกครั้งยังไง เพราะว่าทุกครั้งที่คุณผิดหวังหรือเสียใจ คุณเรียนรู้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับมัน คุณต้องกลับมาดูตัวเองว่าเราเสียใจเพราะอะไร แล้วเราก้าวข้ามมันไปยังไง เพราะอย่าคิดว่าชีวิตมันจะไม่มีความเจ็บปวด ยังไงก็มีความเจ็บปวดอยู่ดี แต่สิ่งที่สำคัญคือ คุณใช้ชีวิตบนความเจ็บปวดยังไง มันสอนอะไรเราบ้าง ความเจ็บปวดมาเดี๋ยวมันก็หายไป แต่ถ้าเราทนได้ เราจะได้อะไรกลับมา ที่มันดีกว่า”
เปิดหัวใจ ส่องความรัก ของ ปันปัน
“ปันไม่มีสเป็กนะเอาตรง ๆ เพราะเรามีสเป็กทุกชาติ คือแบบ คนลาตินมันก็สเป็กแบบนี้ คนไทยก็สเป็กแบบนี้ คนจีนก็สเป็กแบบนี้ ปันรู้สึกว่าเรื่องความรัก ที่ปันเคยคบก็คือมีทั้ง 3 ปี 2 ปี แต่ตอนนี้ ปันอยู่ในจุดที่ปันไม่อยากมีแฟน
เราผ่านประสบการณ์ในเรื่องความรักมาเยอะพอที่รู้สึกว่าฉันรักตัวเองมากที่สุด แล้วเป็นคนขี้รำคาญคนมากเลย แล้วก็รู้สึกว่าในจุดนี้ ปันอายุ 36 ปี ปันมีความสุขกับการที่จะไปต่างประเทศ ไปเจอคนโน้นคนนี้แล้วน่าสนใจ สมมติเราบินไปปารีสวันนึง แล้วเจอผู้ชายคนนึง แล้วเค้าก็ชอบเรามาก แล้วถ้าเราบอกว่าฉันมีแฟนแล้ว เราก็จะไม่ได้คุยกับผู้ชายคนนี้ แล้วไม่ได้ไปทานดินเนอร์กับเค้านะ ดังนั้นอย่าปิดกั้นตัวเอง แต่มันก็แล้วแต่ความสุขของคน ปันกำลังจะบอกว่าสิ่งที่มันใช้ได้กับปัน อาจจะใช้ไม่ได้กับคนอื่น แต่ปันแค่รู้ว่า ความสุขของปันมันคือการรักตัวเอง แล้วก็เพื่อนรอบข้างที่ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการ พี่กอล์ฟ หรือหลาย ๆ คนที่อยู่ข้าง ๆ มันเติมเต็มจนปันรู้สึกว่าฉันไม่ได้จำเป็นที่จะต้องมีแฟน”
สีสัน แรงบันดาลใจ จาก ปันปัน Pangina Heals
“เรื่องคอมเมนต์เชิงลบ ไม่สนค่ะ เราบล็อกบ้างก็ได้ เราไม่ต้องคิดมากก็ได้ แล้วอีกอย่าง คนที่ด่าเค้าไม่ได้มาแคนเซิลงานเรา เรายังได้เงินอยู่ เรายังหางานอื่นได้อยู่ ถ้าออแกไนเซอร์เค้าด่า นั่นอาจจะเรื่องหนึ่ง แต่ปันเชื่อว่าในอาชีพของพวกเรา ถ้าเกิดเราแคร์ทุกคน เราคงเป็นบ้าไปแล้ว
หลักในการทำงาน หนูซีเรียสมากเรื่องความ Professional คือหนูไม่เคยไปงานไหนสายเลย หนูจะเป็นคนที่เหมือนข้างหลังสมองมันเหมือนมีระเบิดอยู่ แล้วถ้าไปสายจะรู้สึกว่าระเบิดมันจะระเบิดใส่หัวเรา และปันรู้สึกว่า งานทุกงานมีเกียรติ ถ้าเราให้เกียรติตัวเอง แล้วก็ให้เกียรติคนอื่น เพราะฉะนั้นเวลาปันจะขึ้นเวที ทุกอย่างเราต้องคิดแล้วก็ต้องทำการบ้านให้มากที่สุด เราต้องถามตัวเองว่าเราทำงานนี้ เรามีความสุขรึเปล่า เพราะว่าชีวิตมันสั้นมากเลย ถ้าเราทำงานหนึ่งแล้วเรามีความสุข แล้วทำให้คนอื่นมีความสุข มันไม่เสียดายเลยถ้าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น แต่อย่าให้มันเกิดเถอะ” - ปันปัน Pangina Heals
พบเรื่องราวชีวิตหลากสีสันใน Club Pride Day คลับที่เต็มไปด้วยแบ่งปันข้อคิดแรงบันดาลใจ และมีคลังความรู้ที่พร้อมแชร์ ไปกับแขกรับเชิญพิเศษ และสองดีเจสุดแซ่บ “พี่อ้อย” และ “ก็อตจิ” ได้ในทุกสัปดาห์
ติดตามชมรายการย้อนหลัง