เรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีต สู่การเรียกร้องสิทธิ์เพื่อความเท่าเทียม ของ “นก ยลลดา” หญิงข้ามเพศหัวใจแกร่ง สู่ตำแหน่ง Miss Fabulous Thailand 2024

Club Pride Day Recap

เรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีต สู่การเรียกร้องสิทธิ์เพื่อความเท่าเทียม ของ “นก ยลลดา” หญิงข้ามเพศหัวใจแกร่ง สู่ตำแหน่ง Miss Fabulous Thailand 2024

11 ก.ค. 2024

“โลกนี้มันมีความลากหลายของมนุษย์เยอะมาก ไม่ใช่เกิดมาแล้วทุกคนจะเก่ง สวย หรือดีเหมือนกันหมด ขอเพียงเรายอมรับคนอีกคน ยอมรับในความเป็นมนุษย์ของเค้า ไม่ต้องไต่เส้นความดี แค่เป็นคนธรรมดาที่มีความสุข แค่นี้ก็ได้”

 

รายการ Club Pride Day คุยอย่าง Proud เมาท์อย่าง Pride ทอล์คกระทบไหล่กับตัวแม่ กับสองดีเจสุดแซ่บ “ดีเจพี่อ้อย” และ “ดีเจก็อตจิ” เปิดไมค์ต้อนรับแขกรับเชิญขวัญใจชาว Fabulous เจ้าของตำแหน่ง Miss Fabulous Thailand 2024 นางพญาเจ้าของฉายา ควีนนกฟินิกซ์ “นก ยลลดา” หญิงข้ามเพศผู้คร่ำหวอดในวงการนางงามมากว่า 20 ปี ก่อนหน้านี้เธอเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทย และมีบทบาททางการเมือง คือได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ที่ยึดมั่นเรื่องการเรียกร้องสิทธิให้ LGBTQIA+ กว่าจะมีวันนี้เธอเคยผ่านเรื่องราวมากมาย และได้เรียนรู้ความผิดพลาดในอดีต จนได้มุมมองวิธีคิด พร้อมแรงบันดาลใจดี ๆ ที่ได้นำมาแชร์ไว้ในรายการอีกด้วย

 

 

เพราะการอกหัก กลายเป็นแรงผลักดันให้กลับมาประกวดนางงามอีกครั้ง

“เรียกว่าช่วงจังหวะชีวิตมันได้พอดี เพราะนกเพิ่งเลิกกับสามีที่คบกันมา 11 ปี แล้วสิ่งที่เคยวางแผนไว้มันล้มไปหมด เราก็เลยต้องรีสตาร์ทตัวเองใหม่ ซึ่งช่วงเยียวยาหัวใจมันก็จะต้องหากิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับตัวเราทำ แล้วก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจบางอย่างให้กับสังคมด้วย และเราเป็นคนที่ชอบประกวดนางงามอยู่แล้ว ต่อให้เราแขวนส้นสูง คิดว่าตัวเองคงจะไม่ประกวดนางงามต่อแล้ว ตั้งแต่ปี 2548 คิดว่าการประกวดครั้งนั้นคงเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว สำหรับ มิสอัลคาซ่า แต่ความเป็นนางงามมันยังอยู่ในใจ อยู่ในจิตวิญญาณของเรา บางทีแค่นั่งดูนั่งเชียร์นางงามมันก็ไม่พอ อยากจะขอเดินสักหน่อย เวลาอยู่บ้านเราก็ชอบเดินเล่นแบบนางงาม แต่พอเลิกกับสามี ก็เลยคิดว่าการประกวดนางงามน่าจะเป็นโอกาสของเรา

ย้อนกลับไป 11 ปีที่คบกับสามี เราแต่งงานจดทะเบียนตามกฎหมายด้วย เพราะว่าสามีเป็นชายข้ามเพศ แล้วเค้ามีคำนำหน้าเป็นนางสาว ส่วนเราเป็นผู้หญิงข้ามเพศ คำนำหน้าเป็นนายตามกฎหมาย ทำให้สามารถจดทะเบียนได้ เราก็จดทะเบียนสมรสกันตั้งแต่คบกันได้ 3 ปี ตอนนั้นเค้าตัดสินใจอยากจะผ่าตัดแปลงเพศ แล้วต้องเอามดลูกออก เราก็ได้นั่งคุยกันว่าแล้วเราจะมีลูกไหม บทสรุปคือเราอยากจะมีลูก ซึ่งพวกเราต้องเข้าสู่กระบวนการอุ้มบุญ แล้วกระบวนการอุ้มบุญตามกฎหมายของไทย จะต้องเป็นคู่สามีภรรยากัน เราสองคนก็เลยจูงมือกันไปแต่งงานจดทะเบียน แล้วเราก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการทำอุ้มบุญตามกฎหมาย ได้ตัวอ่อนมา 4 ตัวอ่อน ทุกอย่างก็ดำเนินไปด้วยดี แล้วนกก็ไปเป็นนักการเมือง เป็นนักธุรกิจ ไปเปิดร้านอาหาร และทำรีสอร์ทที่ จ.น่าน ซึ่งเป็นบ้านเกิด เพื่อเตรียมตัวว่าปีหน้าเราจะได้เป็นแม่คนแน่ ๆ แต่มันก็มีเหตุไม่คาดคิดขึ้น คือจริง ๆ แล้วใบอนุญาตอุ้มบุญสำหรับคู่ของนก ได้มาตั้งแต่ก่อนจะมีโควิด แล้วเราก็กำลังจะทำอุ้มบุญกัน ซึ่งแม่อุ้มบุญเป็นลูกพี่ลูกน้องมาอุ้มบุญให้ โดยที่นก ใช้เชื้อของพี่ชาย ผสมกับไข่ของคุณแซม (สามี) ได้ตัวอ่อนมา พอกำลังจะใส่ตัวอ่อนเข้าไปในแม่อุ้มบุญ ปรากฏว่าโควิดมา ทำให้มีปัญหาเรื่องของการเดินทางข้ามจังหวัด บวกกับตอนนั้นมีกระแสคนไม่นิยมมีลูกแล้ว ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ ทำให้เราตัดสินใจเบรคไว้ก่อน พอโควิดหายซึ่งกินเวลากว่า 3 ปี แม่อุ้มบุญจากตอนนั้นน้ำหนัก 70 กิโลกรัม แต่พอจบโควิดแม่อุ้มบุญน้ำหนัก 102 กิโลกรัม คือกักตัวอยู่บ้านไม่ได้ทำอะไร แล้วเค้าน้ำหนักขึ้นมา 30 กิโลกรัม เราก็พาเค้าไปตรวจ คุณหมอก็บอกว่าสามารถใส่ตัวอ่อนได้นะแต่ว่าสุ่มเสี่ยงมากเลย คุณมี 4 ตัวอ่อนถ้าใส่ไป 2 แล้วถ้าเกิดว่าแม่อุ้มบุญผนังมดลูกหนาไม่พอ ก็ต้องเสียตัวอ่อนเลยนะ เราก็เลยไม่กล้าเสี่ยง เลยให้ลูกพี่ลูกน้องอีกคนหนึ่งมาอุ้มบุญแทน โดยที่เราจะต้องขออนุญาตใหม่ทั้งหมดทุกกระบวนการ กินเวลาไปอีก 1 ปี และในช่วง 1 ปีนั้น นกก็อยู่ห่างกับคุณแซม ด้วยความที่เราเป็น สจ. จังหวัดน่าน ด้วย ซึ่งพอขออนุญาตครั้งที่ 2 ได้ ก็เกิดเหตุนกเลิกกับคุณแซม เป็นจังหวะครั้งที่ 2 แล้ว ตอนนั้นเราก็คิดว่าจะทำไงต่อดี เราก็จะอายุ 45 ปี แล้วนะ เราก็อยากมีลูก เราเลยตัดสินใจเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ตัดสินใจว่าจะไม่บอกเรื่องนี้กับใครว่าเลิกกับคุณแซม แล้วก็จะดูแลลูก ปรากฏว่าวันที่เราตัดสินใจจะทำอุ้มบุญ ที่จะต้องใส่ตัวอ่อนให้กับแม่อุ้มบุญคนที่ 2 ปรากฏว่าแม่อุ้มบุญหนีตามผู้ชาย มันกลายเป็น 3 ครั้งที่เราทำอุ้มบุญไม่สำเร็จ ก็เลยตัดสินใจยั้งไว้ก่อน แล้วกลับมาฮีลใจตัวเอง ธุรกิจ บ้าน รถ ทุกสิ่งทุกอย่างที่วางแผนให้ลูกล่มสลายไปหมด แล้วเราก็ต้องกลับมาฮีลใจตัวเอง แม้นกจะใช้เวลาตัดใจเลิกกับคุณแซมเพียงแค่หนึ่งคืน แต่การฮีลหัวใจมันไม่ได้ง่ายเลย จะเล่าให้พ่อกับแม่ฟังก็ไม่ได้ เพราะเราไม่อยากเพิ่มคนเสียใจ แม้แต่เพื่อนสนิท เราก็รู้สึกว่าเพื่อนสนิทก็ไม่ใช่คนที่ควรจะมานั่งฟังเรื่องทุกข์ ๆ ของเรา นกก็เลยคิดว่าไม่พูดดีกว่า แต่ถ้าไม่พูดเลยมันอัดอั้นตันใจ

จนเราได้มาเจอ Tiktok เมื่อเราเจอสภาวะที่เจอวิธีคิดบางอย่างขณะที่เราดาวน์ เสียใจ หรือโกรธ แล้วเราสามารถตัด ระงับ แล้วฮีลใจจากความรู้สึกเหล่านั้นได้ มันสามารถที่จะส่งต่อถ่ายทอดได้ในระยะเวลา 30 วินาที พอเราได้เล่าเรื่องของเราลงไปใน Tiktok ปรากฏว่ามีคนติดตาม มีคนเข้ามาให้กำลังใจเรื่อย ๆ เริ่มเรียกร้องให้เราไลฟ์ ทีแรกนกก็ทำไม่เป็น จนได้เริ่มไลฟ์ ได้เจอคอมมูนิตี้ใหม่ ที่มีทั้งคนที่มาให้กำลังใจ และมีทั้งคนที่อกหักด้วย ซึ่งตอนนั้นใช้ชื่อช่องว่า ชมรมคนอกหัก ถึงแม้ว่าชื่อมันจะดูดีพนิดนึง แต่เราพยายามจะนำพาทุกคนไปในรูปแบบที่ Good Mood และมีความหวัง เวลาเราฟังเรื่องของคนอื่น เราก็มีความรู้สึกว่า บางทีบางมุมเค้าหนักยิ่งกว่าเราอีกนะ หรือบางเรื่องมันก็ช่วยเยียวยาหัวใจคนอื่นได้เหมือนกัน มันน่าแปลกที่เรื่องอกหักของคนสองสามคน สามารถช่วยฮีลลิ่งกันและกันได้”

 

 

เกือบตัดสินใจบวช ก่อนจะมาประกวด Miss Fabulous

“ก่อนหน้าที่จะมาประกวด Miss Fabulous นกตัดสินใจว่าอยากจะลองไปบวชดู ซึ่งเป็นความตั้งใจตั้งแต่ตอนเป็นสาวแล้ว เพราะเราหลงใหลกับเรื่องของ Philosophy, Mentality และ Psychology เราเคยศึกษาหลาย ๆ ด้าน แล้วก็มันยังมีคำถามกับเรื่องของศาสนาอยู่ว่าถ้าเราปฏิบัติ ณ เวลาที่เราเป็นฆาราวาส กับการที่เราละเพศฆาราวาส ไปเป็นภิกษุณี มันจะมีความแตกต่างในเรื่องการปฏิบัติอย่างไรบ้าง ซึ่งหลายปีก่อนด้วยความที่เรามีสามี แล้วเราก็ตั้งใจจะมีลูก เราสร้างครอบครัว แล้วก่อนหน้าที่เราจะใส่ตัวอ่อนเข้าไปในแม่อุ้มบุญ นกเคยคิดแว๊บนึงว่าจะเอาจังหวะนี้แหละขอไปบวชแป๊บนึงได้มั้ย เพราะเรารู้ว่าเดี๋ยวลูกคลอด ไม่มีทางที่ชีวิตนี้จะได้บวชอีกแล้ว ซึ่งก่อนจะไปบวชก็เลยถาม 3 คน ถามคุณแม่ก่อน ว่าแม่ขออนุญาตไปบวชได้มั้ย แม่ไม่ตอบอะไร แต่เค้าเหมือนมีเครื่องหมายคำถามอยู่ตรงหน้า ถ้าให้นกเดาก็คือ ตอนนั้นเปิดร้านอาหาร เปิดรีสอร์ทอยู่ที่น่าน แม่ก็คงคิดว่าแล้วร้านอาหารกับรีสอร์ทใครจะดูแล ถัดมาไปถามคุณสามี คุณสามีบอกว่าได้ ไปกี่วันล่ะ 5 วันหรือ 7 วัน แล้วเราบอกว่าไม่รู้เหมือนกันเพราะเราไม่ได้บวชชีพราหมณ์ เราจะไปบวชโกนหัว เพราะเป้าหมายปลายทางคืออยากบวชเป็นภิกษุณี  แต่ว่าการบวชเป็นภิกษุณี จะต้องบวชชีมาก่อน 2 ครั้ง เราต้องเคยศึกษาเรื่องการบวช แล้วก็วินัยต่าง ๆ มาก่อน เราก็เลยบอกสามีว่าจะไปบวชโกนหัวนะ ทีนี้เรื่องใหญ่เลย สามีถามว่าจะบวชได้ยังไง แล้วโกนหัวได้ยังไง กลับมาแล้วจะทำงานได้ยังไง หัวก็ไม่มีผมนะ เลยไปถามคนที่สาม ตอนนั้นกำลังทำเรื่องของสมรสเท่าเทียมแล้วก็กฎหมายรับรองของเพศสภาพอยู่ เลยถาม พี่แดนนี่ นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย แล้วพี่แดนนี่ก็บอกว่า จะบวชห่มเหลือง กับบวชเป็นฆาราวาส ก็น่าจะคล้าย ๆ กันนะ กลายเป็น 3 เอ๊ะ จาก 3 คน ก็เลยไม่ได้บวช

แต่พอก่อนหน้าที่จะประกวด Miss Fabulous ร้านอาหารก็ปิด รีสอร์ทก็ปิด สามีก็เลิกแล้ว ส่วนเรื่องสมรสเท่าเทียมเรารู้ว่าเดี๋ยวได้แน่นอน เพราะสัญญาณมันมาดี ซึ่งเป็นช่วงที่ทุกคน 3 ผ่านหมดเลย แต่ มิถุนายน 2566 นกไปเดินพาเหรดงาน Pride Month ของพี่ลูกเกด ไปกับพี่แดนนี่ แล้วงานนั้นนกดันไปเจอ พี่ไบรอัน ตัน แล้วเราก็ปลื้มเค้าในฐานะเจ้าของเวที ก็เลยไปสวัสดี แล้วบอกพี่ไบรอันว่า หนูอยากไปประกวดเวทีพ่อจังเลย เค้าแหงนหน้ามาดูแล้วบอกว่า เอาสิ แบบเนี้ยไปก็ได้เลย เค้าว่าอย่างงี้ แล้ววันถัดมา เวที Miss Fabulous ก็ประกาศว่า เปิดรับสมัครผู้เข้าประกวดอายุตั้งแต่ 18-80 ปี แล้วถัดไปอีกวัน Miss Fabulous ภาคเหนือ เปิดรับสมัคร Miss Fabulous Northern นกตัดสินใจลงสมัครเลย เรื่องบวชคือลืมไปเลย นกสมัครไปเลย โดยที่ยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง”

 

 

กว่าจะเป็น “ควีนนกฟีนิกซ์” เจ้าของตำแหน่ง Miss Fabulous Thailand 2024

“ด้วยความที่ขาไม่ได้ใส่ส้นสูงมานาน แล้วก็ไม่ได้ฝึกฝน ไม่ได้ทำอะไรเลยเป็นเวลา 20 ปี ตั้งแต่ปี 2548 จนถึง 2567 ที่เราเดินรองเท้าส้นแก้วอยู่ที่บ้าน ไม่ได้เป็นการฝึกที่มันจริงจัง ไม่ได้ไปออกกำลังกาย ไม่ได้ฝึกตอบคำถาม เราก็แค่นั่งดูแล้วก็วิเคราะห์ว่านางงามคนนี้ตอบดีหรือตอบไม่ดี หรือบางทีก็ไปเป็นกรรมการบ้าง พอตัดสินใจลงประกวด Miss Fabulous นกทำการบ้านแบบเร็วมาก ต้องไปซ้อมเดิน ต้องไปออกกำลังกาย และต้องไปเสริมจมูกด้วย จากเป็นคนที่ไม่เคยศัลยกรรมเลย เพราะยุคก่อนนางงามคนไหนทำศัลยกรรมคนนั้นตกรอบ เพราะถือว่าสวยไม่จริง แต่ยุคนี้ถ้าจมูกไม่พุ่ง กรามไม่ชัด หน้าบาน ๆ ใหญ่ ๆ อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราทำจมูกก่อนเลย ต้องบอกว่ามันกดดันมากที่เราต้องไปสู้กับเด็ก ซึ่งตอนประกวดภาคเหนือยังพอได้ เพราะด้วยความที่ภาคเหนือมันจะมีความต่อนยอน ซึ่งเราก็ยังทำได้อยู่ แต่พอเข้าเวทีกลางและเก็บตัว แล้วต้องทำกิจกรรม 12 แคมเปญ เราก็คิดว่าจะเอาอะไรไปขายเค้าดี แล้วเวลาที่เราทำกิจกรรม คนเค้ารู้ว่านกเป็นนักร้องมาก่อน เคยออกเทปมาก่อน คนก็คาดหวังว่าแคมเปญที่ต้องเต้น พี่นกต้องเต้นสะบัดแน่เลย แต่ลืมไปว่าเราอายุ 45 แล้วนะ มันผ่านมาหลายปีแล้ว แล้วในแคมเปญมันไม่ได้เต้นธรรมดา มันต้องเต้นกับสายฝน มีเปลวไฟขึ้น แล้วต้องเต้นคลุกกับน้ำคลำ คือถ้าเราเดินไม่ดีอาจจะข้อเท้าพลิกได้เลย แล้วการรักษาของเรามันไม่เหมือนเด็ก บวกกับการที่เราไม่ได้ออกกำลังกาย เราต้องระวังตัวเองมาก ๆ ทำให้กิจกรรมบางอย่าง นกต้องทำด้วยความระมัดระวัง เราต้องเซฟตัวเองว่าเราไหวไหม เพราะถ้าพลาดแล้วได้รับบาดเจ็บ เราอาจจะไม่ได้กลับเข้ามาในการประกวดอีกเลย เพราะฉะนั้นเวลาทำกิจกรรมบางอย่างมันอาจจะดูเหมือนว่าเราทำไม่เต็มที่ แต่จริง ๆ เราเต็มที่นะ เพราะเรารู้ว่าถ้าเกินกว่านี้เราไม่ปลอดภัยละ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้คะแนนเราไม่ดี คะแนนเราสู้น้อง ๆ เค้าไม่ได้”

 

 

ไม่ต้องไต่เส้นความดี แค่เป็นคนธรรมดาที่มีความสุขแค่นี้ก็ได้

“ในการประกวด Miss Fabulous Thailand 2024 รอบไฟนอล ที่นกต้องตอบคำถาม ตอนนั้นตื่นเต้นมาก เพราะเราเข้ารอบเป็นคนแรก แล้วก็ต้องตอบคำถามเป็นคนแรก กับคำถามที่ว่า การไต่เส้นความดีงามของระบบกะเทย หรือความเป็นกะเทย เป็นสิ่งที่ฉุดรั้งตรึงตรวน ให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้รับการยอมรับและถูกตีตราจากสังคมหรือไม่ เพราะเหตุใด บอกได้เลยว่า นกจับคำได้คำเดียวคือ ไต่เส้นความดี นกเลยเริ่มตอบด้วยการแนะนำคุณแม่ เพราะการประกวดนี้ เป็นครั้งแรกที่คุณแม่มาเชียร์ แล้วด้วยความที่แม่มา แล้วเราก็จับใจความได้จากคำในคำถามที่ว่า ไต่เส้นความดี ก็เลยนึกถึงแม่ว่า แม่เป็นคนที่บอกเราตลอดตั้งแต่เรายังเด็กเลยว่า เป็นอะไรก็ได้ก็ขอให้เป็นคนดี แล้วก็ขอให้เรียนเก่ง ๆ นะลูก จะเป็นตุ๊ดเป็นกะเทยเป็นอะไรก็ไม่เป็นไร เรียนเก่ง ๆ เข้าไว้ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน ตอนที่แนะนำแม่มันคือความรู้สึกปลื้มใจกับแม่มาก ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังจะพูดถัดจากนี้ เป็นสิ่งที่ฝืนคำแม่มาก ๆ แต่เราแค่อยากจะบอกว่า นกก็เป็นลูกคนหนึ่งที่กตัญญูแล้วก็มีความรักให้คุณแม่แบบเต็มหัวใจ แล้วก็อยากบอกคุณแม่ด้วยว่า สิ่งที่กำลังจะพูดต่อจากนี้ ไม่ใช่สิ่งที่อยากจะฝืนคำแม่ เราเติบโตมาได้ขนาดนี้เพราะเราเชื่อแม่มาตลอด เราก็ไต่เส้นความดีมาตลอด พยายามเรียนให้เก่ง ทำหน้าที่ของเรามาตั้งเยอะ และจากที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหว การทำงานอยู่กับชุมชน เราเลยรู้ว่า การที่จะเป็นคน 1 คน มันมีความหลากหลายของมนุษย์เยอะมาก มันไม่ใช่ว่าทุกคนจะเก่งเหมือนกันหมด ทุกคนจะสวยเหมือนกันหมด หรือมีโอกาสเหมือนกันหมด แล้วเรากำลังจะนำพาสังคมของเราไปสู่การยอมรับเฉพาะคนเก่ง ยอมรับเฉพาะคนดี ยอมรับเฉพาะคนสวยเท่านั้นเหรอ แท้ที่จริงแล้วแค่เป็นมนุษย์หนึ่งคน ที่เรายอมรับคนอีกคนในฐานะที่เค้าเป็นมนุษย์ก็ได้ใช่ไหม ไม่ต้องไต่เส้นความดีก็ได้ใช่ไหม แล้วในคำถามวันนั้น เหมือนมีประเด็นที่เกี่ยวกับเหตุการณ์สุขุมวิท 11 ด้วย ซึ่งมันเป็นเรื่องของความรุนแรง แต่สำหรับนก นกก็ไม่ได้บอกว่าความรุนแรงจะสามามารถแก้ปัญหาอะไรได้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเข้าใจด้วยว่ามนุษย์เรามันมีความแตกต่างหลากหลาย และเราก็ต้องไม่เหมารวม และก็ต้องยอมรับด้วยว่า กะเทยก็มีทั้งกะเทยที่ดี กะเทยที่อาจจะดีครึ่งไม่ดีครึ่ง หรือแม้แต่กะเทยที่ไม่ดี ซึ่งถ้าพูดถึงเรื่องของความเป็นมนุษย์ เราทุกคนก็เท่ากันหมด เพราะถ้าเปรียบเทียบกับชายหญิงทั่วไปมันก็เหมือนกันหมด แล้วกะเทยจะเป็นอะไรก็ได้ เป็น Sex Worker ก็ได้ เพราะในใจนกก็คิดว่านั่นคืออาชีพของเค้า เราอยู่ตรงนี้เราเคยรู้จักหลายคนที่เค้าเลือกที่จะเป็นแบบนั้น ตั้งแต่ยุคที่นกเป็นสาว ตอนที่เราเริ่มต้นทำเรื่องรับรองเพศสภาพ ตอนนั้นก็มีเพื่อนหลายคนที่สู้ไปด้วยกัน แล้ว ณ เวลานั้นพอไม่สำเร็จ เพื่อนหลายคนก็เลือกที่จะไปเป็น Sex Worker อยู่ที่ต่างประเทศ แล้วทุกวันนี้เค้าก็มีชีวิตที่อาจจะดีกว่าเราด้วยซ้ำ ได้รับการรับรองเพศสภาพ คำนำหน้าเป็น Miss บางคนเป็นมาดาม มีสามี มีครอบครัวที่ดี แต่หันกลับมามองตัวเอง เรายังคงอยู่ที่เดิม ยังต่อสู้เพื่อให้ได้ได้รับการรับรองเพศสภาพเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถที่จะไปปรามาสว่าใครได้ว่า เค้าเลือกทางเดินแบบนั้นแล้วมันจะไม่ดี กับการที่เป็นเรา เก่งดีมีอาชีพที่ได้รับการนับหน้าถือตา แล้วตอบไม่ได้ว่าปลายทางชีวิตเรามันจะดี มันตัดสินไม่ได้เลยค่ะ”

 

 

ข้อผิดพลาด ที่กลายเป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์ 7 วันติด!

“ย้อนกลับไป ที่นกได้จับพลัดจับผลูมาประกวดเวทีผู้หญิงเพราะสมัยก่อน ยังมีคำว่าแมวมองอยู่ คือแมวมองที่เป็นพี่เลี้ยงนางงาม เค้าไปเจอนกตอนที่ประกวดนางนพมาศที่มหาวิทยาลัย ซึ่งที่ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดกว้างเรื่องเพศมาก แล้วเราประกวดได้ตำแหน่งขวัญใจ แล้วแมวมองที่เป็นพี่เลี้ยงนางงามก็ตื๊อเรา เราก็พยายามเลี่ยง จนเลี่ยงไม่ได้ เลยบอกว่าหนูไปประกวดเวทีนี้ให้พี่ก็ได้ แล้วถ้าหนูประกวดเสร็จไม่ว่าจะได้มงกุฎหรือไม่ได้ หนูจะไม่ประกวดต่อแล้ว หนูขอประกวดแค่เวทีเดียวนะคะ

พอไปสมัคร ตอนนั้นบัตรประชาชนไม่มี เพราะเราเอาไปเช่าหนังสือ เลยถามว่าใช้บัตรนักศึกษาแทนได้ไหม แล้วบัตรนักศึกษาธรรมศาสตร์ไม่มีคำนำหน้า กองก็รับสมัคร แล้วจำได้เลยว่าเวทีแรกในชีวิตที่ประกวดกับผู้หญิงคือ ดิโอลด์สยาม แล้วเวทีนั้นเราได้ที่ 1 หลังจากนั้นเราขออนุญาตคืนคำ จากที่บอกแมวมองว่าจะไม่ประกวดต่ออีก เพราะตอนนั้นเราคิดว่าตัวเองคงไม่ได้ตำแหน่ง เราเป็นเด็กบ้านนอก ไม่เคยประกวดกับผู้หญิง แล้วเราจะได้ตำแหน่งได้ยังไง แต่พอได้ที่ 1 มันทำให้เราอยากประกวดต่อ

พอประกวดไปเรื่อย ๆ เราเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง แล้วมีเพื่อนที่สนิทกัน เค้าแนะนำว่าไปทำบัตรประชาชนไหม มีเอเจนซี่นะ ไปสวมบัตรคนตาย แล้วมันใช้ได้จริง ๆ เลย เราก็เก็บตังค์ไปทำ ซึ่งตอนนั้นน่าจะอายุประมาณ 19 ปี เราตัดสินใจบนความคิดของเด็กอายุ 19 ปี ในเมื่อเราแปลงเพศแล้ว ทำอะไรแล้วทุกอย่างแล้ว เป้าหมายเดียวของฉันคือการเป็นผู้หญิงจริง ๆ ได้ใช้ชีวิตแบบผู้หญิงจริง ๆ ไม่ได้ต้องการไปหลอกอะไรใคร แต่เมื่อเราไปสวมบัตรแล้ว เราไม่สามารถหยิบบัตรประชาชนใบนั้นมาบอกว่าฉันสวมบัตรมานะเพราะมันผิดกฎหมาย เราจำเป็นที่จะต้องเก็บความลับนั้นไว้ และใช้ชีวิตแบบผู้หญิงที่เราต้องการต่อไป

ซึ่งเราใช้ชื่อในบัตรประชาชนใบนั้น ในการเรียนจนจบปริญญาโท ได้เป็นตัวแทนประเทศไปประกวด Miss Tourism International และได้รางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมกลับมา ไปสมัครเป็นแอร์โฮสเตส ระยะเวลา 6 ปีที่เราใช้ชีวิตแบบผู้หญิงทั่วไป มันมีโอกาสมากมายเลยจริง ๆ เพราะถ้าเราอยู่ในสภาวการณ์กะเทยคนหนึ่ง แค่เราจะไปสมัครเป็นพนักงานอะไรสักอย่าง อย่าว่าแต่แอร์โฮสเตสเลย เค้ายังไม่รับเราเลยในยุคนั้น ซึ่งตอนนี้นกไม่ได้ทำการเมืองแล้ว ก่อนหน้านั้นนกเป็น สจ. มา 8 ปี และตอนนี้นกรับหน้าที่เป็น คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วาระดำรงตำแหน่ง 3 ปี ซึ่งจะได้รับการร้องเรียนเข้ามาด้วยเรื่องพวกนี้ตลอด เพราะฉะนั้นที่บอกว่าสังคมเปิดกว้าง แต่สำหรับทรานส์ นกบอกเลยว่ายังไม่เปิด

พอเราไปประกวดต่างประเทศกลับมา ปีถัดมาจะต้องจัดประกวดนางงามสยามอีกครั้ง กองก็ให้เราซึ่งเป็นนางงามสยามคนเก่าไปถ่ายโปสเตอร์ ซึ่งก็เริ่มมีต่อมเอ๊ะจากพี่เลี้ยงนางงาม เพราะก็มีพี่เลี้ยงที่รู้จักเราว่าเราเป็นอะไร จึงเกิดคำถามกันว่าสรุปแล้วนางงามสยามเค้าประกวดผู้หญิงหรือประกวดกะเทยกันแน่ หลังจากนั้นนักข่าวตามเรื่องเลย นก หัสดี เป็นใคร ตามจนเจอเรื่องราวความจริง หลังจากนั้น 7 วัน หนังสือพิมพ์ลงข่าวหน้าหนึ่ง เป็นข่าวของนก 7 วันติด แล้วชีวิตนกล่มสลายเลย ทั้ง ๆ ที่ชีวิตตอนนั้นมันดำเนินไปแบบดีอยู่แล้ว แต่มันต้องล่มสลายเพราะความกล้าก๋ากั่นของเราเอง”

 

 

เรียนรู้ความผิดพลาด สู่การเรียกร้องสิทธิ์เพื่อความเท่าเทียม

“ล่าสุดที่นกโพสต์ใน Facebook ของตัวเองว่า จะเอา นางสาว ไปหลอกใครคะ กะเทยนะไม่ใช่ผี ซึ่งถ้ามองกันแค่ชั้นเดียว คนคงคิดว่านกกำลังจะบอกว่าคนก็คิดว่ากะเทยเป็นคนไม่ใช่ผี ผีนั่นแหละที่จะหลอก แต่แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่นกกำลังจะสื่อสารก็คือ มันไม่ใช่นกคนเดียวนะ ช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีแค่ ยลลดา คนเดียวที่ไปสวมบัตรคนตาย ด้วยความที่นกทำงานชุมชน นกรู้ว่ามีสาวข้ามเพศหลายคนที่ต้องถูกจับ จากการที่เค้ายอมเอาตัวเองไปสวมบัตรประชาชน ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันผิด แต่เพราะเค้าต้องการที่จะใช้ชีวิตแบบที่ผู้หญิงคนหนึ้งเป็น จนทำให้กะเทยต้องยอมไปเป็นผี คือไปสวมบัตรประชาชนคนตายกลายเป็นผีแล้วเอาไปหลอกคนอื่น

แต่ถ้าวันนี้ เราแค่เปลี่ยน Paradigm สังคมสักหน่อยว่า สิทธิมนุษยชนของคน เราไม่ได้ปฏิเสธหรือไม่ภูมิใจในการเกิดหรือการเป็นตัวตนของเรา เพียงแต่ว่าเราพูดถึงเรื่องของการใช้ชีวิต เราไม่มาเถียงกันว่าอดีตที่ผ่านมาคืออะไร แต่เรามาคุยกันว่า ที่ไปของคนที่เป็นทรานส์ เค้าจะไปต่อยังไง แล้วมันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ที่ต้องใส่ใจกับมันจริง ๆ แต่ตอนนี้สังคมไทยกำลังคิดว่าสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว จะขออะไรอีก ได้คืบจะเอาศอก แต่จริง ๆ มันคนละเรื่องกัน เรื่องของการแต่งงานก็คือเรื่องแต่งงาน เรื่องของการรับรองเพศสภาพก็คือเรื่องการรับรองเพศสภาพ มันคนละเรื่องกัน

นกว่าจริง ๆ แล้ว เรื่องของการรับรองเพศสภาพ ควรจะเป็นเรื่องจากเจตจำนงค์ของบุคคลนั้น   ซึ่งไม่เกี่ยวกับาการแปลงเพศหรือไม่แปลงเพศด้วยนะ เกี่ยวกับว่าเค้าต้องการเป็นเพศไหน เพราะจริง ๆ แล้วเลเยอร์ของการเป็นทรานส์ มันมีทั้งคนที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว คนที่พยายามผ่าตัดแปลงเพศแล้วแต่ผ่าตัดไม่ได้ และคนที่ไม่ได้ต้องการที่จะผ่าตัดแปลงเพศ แต่สิ่งที่เค้ามีเหมือนกันคือ เค้าดำรงตนและใช้ชีวิตในเพศที่ข้ามมาแล้วจากเพศกำเนิดของเค้าเหมือนกัน  เพราะฉะนั้นสิ่งที่เค้ากำลังเผชิญเหมือนกัน ก็คือเค้าจะถูดลดทอนคุณค่าต่อการรับรู้ รับทราบ รับรองการเป็นเพศสภาพใหม่ของเค้าในปัจจุบัน

จริง ๆ แล้วการรับรองเพศสภาพ กับการให้คำนำหน้า มันเหมือนการเปลี่ยนชื่อเลย แล้วเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ตอนที่นกทำเรื่องคำนำหน้าแล้วก็เรื่องการรับรองเพศสภาพ ถ้าเราให้เฉพาะคนที่แปลงเพศแล้ว มันก็เหมือนเรากำลังละทิ้งเพื่อนเราไว้ข้างหลัง เพราะจริง ๆ แล้ววันนี้ การที่เราจะมองเห็นใครสักคนนึงในสังคม เราไม่จำเป็นที่จะต้องไปเปิดดูว่าเค้ามีอวัยวะอะไร เค้าเป็นเพศอะไร เหมือนกฎหมายฉบับหนึ่ง คือกฎหมาย พรบ.คำนำหน้านามสตรี ที่ถูกเปลี่ยนจากผู้หญิงที่แต่งงานแล้วต้องเป็นนาง สามารถที่จะเลือกเป็นนางก็ได้ นางสาวก็ได้ แล้วสามารถใช้นามสกุลสามีหรือไม่ก็ได้ มันคือสิทธิความเป็นส่วนตัวกับผู้หญิง ไม่ตีตราผู้หญิงว่าผู้หญิงคนนี้แต่งงานมาแล้วหรือยัง ซึ่งกฎหมายต้องรับรองบุคคล ไม่ใช่ไปตีตราบุคคล วันนี้ก็เช่นเดียวกัน การรับรองเพศสภาพ มันต้องช่วยซัพพอร์ททุกคน ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนน้อย กฎหมายก็ต้องรับรองบุคคลนั้น ถ้าคนหนึ่งคนเค้าไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตของเค้า ในการที่มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ หรือในการเป็นเพศของเค้าได้ กฎหมายต้องรับรองเค้า

ทุกวันนี้ต่อให้ไม่มี พรบ.รับรองเพศสภาพ การหลอกก็เกิดขึ้น ชายอาจจะไปหลอกหญิงว่ายังไม่มีภรรยาแล้วมีหญิงอีกคนหนึ่ง หรือหญิงก็อาจจะหลอกผู้ชายว่ายังไม่เคยมีลูก แต่อาจจะมีลูกมาแล้ว 3 คน หรือชายคนหนึ่งอาจจะหลอกว่าไม่เคยติดคุกมาก่อน แต่ที่จริงเคยผ่านการติดคุกมาแล้ว หรือแม้แต่หญิงข้ามเพศไปหลอกผู้ชายว่าเป็นผู้หญิง ต่อให้ไม่มีบัตรประชาชนก็หลอกได้ แต่นกกำลังจะชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่นกทำมาเพราะไม่อยากให้สังคมผลักให้กะเทยกลายไปเป็นผีอีก เราไม่อยากจะต้องสวมบัตรใคร เราไม่ต้องการจะทำผิดกฎหมาย แล้วเป็นข้อตกลงที่มนุษย์ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข แล้วมันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเปลี่ยนแปลงไม่ได้งั้นกลับไปเราก็คงต้องใช้กฎหมายตราสามดวงเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นหากกฎหมายเดิมล้าสมัยและมันไม่ทันกับโลกแล้ว ก็ต้องปรับแก้เท่านั้นเอง” - นก ยลลดา

 

 

พบเรื่องราวชีวิตหลากสีสันใน Club Pride Day คลับที่เต็มไปด้วยแบ่งปันข้อคิดแรงบันดาลใจ และมีคลังความรู้ที่พร้อมแชร์ ไปกับแขกรับเชิญพิเศษ และสองดีเจสุดแซ่บ “พี่อ้อย” และ “ก็อตจิ” ได้ในทุกสัปดาห์

 

ติดตามชมรายการย้อนหลัง

album

0
0.8
1