เปิดชีวิตที่ไม่อิงบท ของ “พชร์ อานนท์” ผู้กำกับที่บันทึกประวัติศาสตร์ฉบับย่อ ผ่านจักรวาลหอแต๋วแตก

Club Pride Day Recap

เปิดชีวิตที่ไม่อิงบท ของ “พชร์ อานนท์” ผู้กำกับที่บันทึกประวัติศาสตร์ฉบับย่อ ผ่านจักรวาลหอแต๋วแตก

21 มี.ค. 2024

เปิด Club แชร์เรื่องราวสีสันชีวิต พร้อมแบ่งปันข้อคิดแรงบันดาลใจในทุก ๆ สัปดาห์ สำหรับ Club Pride Day คุยอย่าง Proud เมาท์อย่าง Pride ทอล์คกระทบไหล่กับตัวแม่ ที่มีโอกาสเปิดไมค์ต้อนรับแขกเชิญสุดพิเศษ “พชร์ อานนท์” ผู้ที่มีหลากหลายฉายา ทั้งบรรณาธิการมือโปร, นักปั้นมือทอง, ผู้กำกับหนังกะเทย, ผู้กำกับร้อยล้าน ฯลฯ ที่การันตีว่าเขาเป็นผู้กำกับที่มีรายชื่อหนังภายใต้ฝีมือมากที่สุดในแวดวงหนังไทย ที่มาพร้อมเอกลักษณ์ที่รู้จักกันดีในเรื่องของความสด แบบคิดบทพูดกันตรงหน้าฉาก ไม่มีการเขียนสคริปต์ก่อนเหมือนหนังทั่วไป ซึ่งกวาดรางวัลอันทรงคุณค่ามานับไม่ถ้วน กว่าจะประสบความสำเร็จได้ในวันนี้ เขาผ่านเรื่องราวอะไรมาบ้าง รวมถึงมีหลากหลายข้อคิดแรงบันดาลใจ ที่ได้แชร์เอาไว้ในรายการอีกด้วย

 

 

ย้อนวัยใส ของ ด.ช.พชร์ อานนท์

“ไม่เคยคิดเลยว่าวันนี้จะได้เป็นผู้กำกับ เพราะว่าแต่ก่อนตัวเองเป็นเด็กบ้านจน เราโตจากสลัมซอยนานา ที่มันเป็นทางด่วนแถวเพลินจิต แล้วอยู่มาวันหนึ่งเขาไล่ที่เพราะจะมีการทำทางด่วน ที่บ้านก็พากันย้ายไปอยู่สำโรง ในซอยแบริ่ง แล้วก็เวลาเรียนหนังสือ ป.1 - ป.4 เราก็ช่วยที่บ้านหาเงินไปด้วย ตอนนั้นคุณพ่อรับจ้างก่อสร้าง พอเราขึ้น ม.1 ก็เริ่มทำงานรับจ้างหาเงินไปด้วย ขึ้น ม.6 ก็เริ่มเป็นกระเป๋ารถเมล์, ขายเรียงเบอร์ หรือเป็นพนักงานเสิร์ฟ พอจบ ม.6 ก็คิดว่าจะไปเอ็นทรานซ์คณะอะไรดี แม้จะรู้ว่าถ้าเรียนมหาวิทยาลัยต้องใช้เงินเยอะ แต่เราก็ลองไปสอบดูเพราะเขาต้องให้สอบเอ็นทรานซ์ทุกคนอยู่แล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่มีเงินเรียนก็เลยไปทำงานที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ เป็นพนักงานเสิร์ฟเวลาเขามีงานจัดเลี้ยง ทำงานได้วันละประมาณ 80 – 100 บาท ก็ทำไปเพราะต้องใช้เงิน”

 

 

จุดเริ่มต้นบนเส้นทางบรรณาธิการ

“ในตอนที่ทำงานที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ มีวันหนึ่งพอเลิกงาน 5 ทุ่มเราก็เปลี่ยนใส่ชุดนักเรียนกลับบ้าน ซึ่งมันต้องเดินผ่านบางกะปิเทอเรซ ไปขึ้นรถเมล์ตรงข้างหน้าโรงแรมโรงแรมแอมบาสซาเดอร์ แล้วพอเราเดินผ่านก็มีคนกลุ่มหนึ่งเดินเข้ามาคุยกับเรา แล้วก็ชวนเราไปถ่ายแบบ ไปถ่ายแนะนำตัว ตอนนั้นหนังสือนิตยสารต่าง ๆ มันต้องมีการให้ถ่ายแนะนำตัวก่อน เราก็ไปถ่าย จนเริ่มพูดคุยสนิทสนมกับทีมงาน เราก็บอกพี่ ๆ ทีมงานว่าอยากทำงาน เขาก็ถามว่าหาโฆษณาเป็นไหม แล้วก็ให้ลองไปหาโฆษณาลงหนังสือแต่ละหน้า เราก็เลยได้เริ่มเป็นเซลล์ขายโฆษณาในหนังสือก่อน แล้วก็ทำสไตลิสต์หาเสื้อผ้ามาถ่ายแบบให้กับหนังสือ เมื่อพ.ศ.2527 ทำมาสักพักตอนนั้นมันจะสอบอยู่แล้ว ซึ่งเราได้เงินเดือน 14,000 บาท ซึ่งเยอะมาก เราก็ตัดสินใจว่าจะไม่เรียนแล้ว แต่ก็ลงเรียนที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เอาไว้ ก็ไปเรียนแต่ก็ไม่จบ จากนั้นพอเราทำงานอยู่ประมาณ 2 ปี บรรณาธิการคนเก่าเขาลาออก พี่ ๆ ก็ถามเราว่าสนใจเป็นบรรณาธิการบริหารไหม เราก็ตกลงรวบตึงเป็นบรรณาธิการจนถึงปีพ.ศ. 2529 แล้วสมัยนั้นนายแบบนางแบบมันก็เริ่มถ่ายวนไปวนมา เราก็เลยตั้งใจว่าไปหาเด็กใหม่ดีกว่า ซึ่งเป็นเล่มแรกเลยที่หาเด็กใหม่มาถ่าย จน พ.ศ 2533 ก็ไปเจอ มอส ปฏิภาณ เต๋า สมชาย โมทย์ ปราโมทย์ ซึ่งเราไม่ใช่แมวมองหรอก เพราะต้องการคนมาถ่ายหนังสือมากกว่า เราไม่ใช่โมเดลลิ่ง แล้วเราก็ได้น้องพวกนี้มา”

 

จากบรรณาธิการ สู่นักปั้นมือทอง

“เรื่องเด็กที่เราหาสามารถอยู่ได้ยาวนานในวงการบันเทิง เราว่าเป็นดวงสมพงษ์กันมากกว่า อย่าง แอนดริว ทีแรกก็ไม่ยอมมา แต่เราก็ปั้นจนไปเป็นดารา อย่าง เต๋า ทีแรกก็สงสัยแล้วสงสัยอีกว่าเราเป็นใคร ตอนนั้น เต๋า เป็นคนเรียบร้อยมาก จะทำอะไรก็ต้องถามย่าก่อน อย่างตอนเจอ มอส ครั้งแรก ตอนนั้นมอสเป็นเด็กอุเทน แล้วพี่ก็แต่งตัวแบบกางเกงยีนส์ เสื้อขาวเซอร์ ๆ มอสเลยคิดว่าพชร์เป็นจิ๊กโก๋ คิดว่าเราจะหาเรื่อง เราก็เลยให้ผู้หญิงไปขอเบอร์ เพราะว่าเราก็กลัวตอนนั้นเค้าอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ พอได้เบอร์มาเราก็โทรไปคุย

ซึ่งการเลือกว่าจะปั้นใครคือถ้าเห็นจะรู้เลยว่าคนนี้ใช่รึเปล่า แล้วเมื่อก่อนมันไม่มีศัลยกรรม ไม่มีฉีดโบท็อก ถ้าเราเห็นแววว่าหน้าตาดีเป็นดาราได้ก็จะเลือกมาปั้น ซึ่งเยอะมากในวงการ อย่างเช่น ออย ธนา, ฝันดี ฝันเด่น, มอส, เต๋า, โมทย์, โด่ง สิทธิพร, ต่อ ณัฐวัฒน์, อั้ต อัษฎา, ฟลุ๊ค เกริกพล อย่างผู้หญิงก็มี เต๋า สโรชา, ชาช่า อัลเทอร์เมท, หญิง ฌัชฌา, อั้ม ฐนิชา

อย่างคำว่า แมวมอง เกิดจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเขียนให้ นักปั้นมือทองแมวมองระดับประเทศ แต่เราไม่ชอบคำนี้ เพราะว่าเราคือบรรณาธิการบริหารเธอกับฉัน เราก็รู้สึกว่ามาเรียกแมวมองแล้วมันไม่ใช่ เราไม่ได้ทำโมเดลลิ่ง เพราะเราไม่ได้หาเงินเลย รับเงินเท่าไหร่เด็กก็รับกันไปเอง เราก็แค่คุยเรื่องราคาให้ เรามีเงินเดือนของเราอยู่แล้วตอนเป็นบรรณาธิการ แต่เราก็เป็นผู้มีอิทธิพลในวัยรุ่นสมัยนั้น เมื่อก่อนไปเดินสยามไม่ได้เลยเด็กเดินผ่านพยามยามให้เราเห็นเต็มไปหมดเลย แล้วเรารู้เลยว่าเด็กคนนี้พรีเซนต์ตัวเอง ซึ่งมันไม่ได้ไง ถ้ามันได้เราจะเดินเข้าไปหาเอง

อย่างตำนานบันไดหน้าสยาม มีอยู่จริง เพราะเราเจอ จอห์น ดีแลน ที่นั่น เพราะเขาประกวดเต้นเสร็จแล้วเขาก็ไปนั่งหน้าบันไดสยาม แล้วพวกพชร์ชอบนั่งเล่นกันเพราะว่าพวกวัยรุ่นสมัยก่อนเขาจะไปนั่งหน้าบันไดสยาม เราก็ชวนน้องไปเป็นดาราไหม น้องก็ตกลงก็ได้เป็นดารา แต่ปัจจุบันมันไม่มีแล้วเขากั้นไปหมดแล้ว ตอนนี้มันถูกจัดให้สวยไปแล้ว เมื่อก่อนมันจะเป็นบันไดธรรมดาแล้วรถเมล์ก็จะมาจอด คนก็จะมานั่งรอนั่งเล่น เป็นที่รวม ฝันดีฝันเด่น และ ออย ธนา พชร์ก็เจอที่นั่น”

 

 

จุดเริ่มต้น ของผู้กำกับร้อยล้าน

“ตอนนั้นพ.ศ.2535 ผมมีเด็กหลายคน แล้วทางบริษัทเขาก็อยากได้เด็กไปเล่นหนัง ก่อนหน้านั้นแก๊งมอส ที่เป็นเด็กปั้นเรา ก็เอาไปเล่นหนังให้บริษัท Five Star เรื่องสะแด่วแห้ว เรื่องนั้นเราไม่ได้ทำแต่พาเด็กไปเล่น ก็มีเด็กเราหมดเลย 5 คนเล่น เพราะตอนนั้นพวก กระโปรงบานขาสั้น ยังไม่มา แล้วหนังมันทำเงิน หลังจากนั้นเราก็พาเด็กไปเล่นหนัง ถ้าว่างจากทำหนังสือก็จะพาเด็กไป จากนั้นเจ้าของ Five Star ชื่อคุณเชน ที่เสียชีวิตไปแล้วเรียกเราเข้าไปคุยว่าสนใจเป็นผู้กำกับไหม ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่ได้สนใจ เพราะว่าตอนเรียนเราอยากเป็นคุณครู อยากสอนหนังสือเพราะว่าเราชอบ และเรื่องทำหนังเราไม่ได้เรียนมา ก็เลยปฏิเสธไป แต่ในตอนที่เราไปกับเด็ก เราก็ไปดูว่าเขาทำยังไง เขาเล่นยังไง ถ่ายยังไงแล้วเราก็ชอบ คอยจำว่าเขาถ่ายยังไง แสงมันมาตรงไหน นักแสดงเดินออกมายังไง หลังจากนั้น อาเปี๊ยก พิศาล ก็ชวนไปเที่ยวกอง แล้วก็ชวนเราไปเป็นผู้กำกับ เราก็บอกว่าได้ครับ เพราะอยากลองดู จากนั้นเราก็ไปเล่าให้เขาฟังว่าเราอยากทำเรื่องอะไร เพราะว่าตอนนั้นหนังเด็กนักเรียนมันเยอะ เราก็เลยไม่ทำหนังนักเรียน เลือกไปทำหนังแฟนตาซี ถ่ายประมาณปี พ.ศ.2538 พอปีพ.ศ.2539 ก็ฉายต้อนรับปีใหม่ ก็กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดของปีพ.ศ.2539 ซึ่งสมัยก่อนหนังทำรายได้ 60 ล้านบาท ก็เยอะแล้ว เพราะว่าค่าตั๋วมัน 70-80 บาทเอง แล้วหนังปีพ.ศ.2539 มีแต่หนังใหญ่ ๆ เต็มไปหมด แต่ของเราชนะที่ 1 ก็เลยได้เป็นหนังยอดเยี่ยม หนังทำเงินสูงสุดแห่งปี”

 

 

หนังพี่พชร์ ไม่ต้องมีบท จริงไหม?

“จริง ๆ มันก็ไม่มีตั้งแต่เริ่มเข้าวงการเลย ตั้งแต่เรื่อง สติแตกสุดขั้วโลก คนจะนิยมว่าถ้ามีบทที่ดีจะเป็นหนังที่ดี แต่เราไม่ชินกับการมีบท เราเคยเขียนบทมาแล้วปรากฏว่าถ่ายไม่ได้เลย เพราะว่าคนเขียนคนนึง คนกำกับคนนึง มันก็ไปคนละทาง เราก็จะไปกำกับตามจินตนาการของคนเขียนบทมันก็ไม่ใช่เพราะว่าเราจินตนาการว่าหนังเราต้องเป็นแบบนี้ เราก็ต้องคิดเอง ก็เลยทิ้งบทเลย หลังจากนั้นเรื่อง 18 ฝน ก็ไม่มีบท แต่การมีบทก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งจริง ๆ แล้วตามหลักมันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป มันแล้วแต่ความถนัดของแต่ละบุคคล โดยปกติถ้าหนังไม่มีบททำไม่ได้เพราะมันยาก ทุกคนต้องจดต้องจำอะไรที่เขียนมา แต่ของเรามันจำอยู่ในหัวอยู่แล้ว

โดยในการทำงาน เราจะไปสำรวจโลเคชั่นก่อน จากนั้นเราก็จะประชุมว่าสถานที่นี้จะเกิดอะไรบ้าง ก็จะเล่าให้ทีมงานฟัง แล้วมอบหมายว่าทีมงานไปหาปืนมานะ ไปหารองเท้ามานะ พอไปถ่ายเราก็ไม่มีบทเลย เราก็แค่บอกนักแสดงว่าใครเข้าฉากบ้างก็เล่นเลย โดยจะบอกนักแสดงก่อนถ่ายว่าจะพูดอะไรบ้าง แล้วเดี๋ยวจะมีนักแสดงหลักที่จะเติมบทให้แต่ห้ามนอกเรื่อง ซึ่งมันมีบทให้พูดให้จำอยู่แล้ว จากนั้นก็ช่วยเติมนิด ๆหน่อย ๆ แต่เค้าโครงของเรามันไม่ได้เขียนขึ้นมาเป็นกระดาษ มันอยู่ในหัวแล้ว ซึ่งมันไม่ได้ทำกันง่าย ๆ และก็ไม่เข้าใจว่าตัวเองทำได้ยังไง แล้วก็เคยได้รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วยนะ เรื่องเพื่อนกูรักมึงว่ะ ได้ไปเมืองนอกอย่างเรื่องเอ๋อเหรอ ได้รับรางวัลเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเมื่อก่อนเราไปเทศกาลหนังเยอะมาก แต่มันไม่ค่อยเป็นข่าว มันมีแต่ข่าว พชร์ อานนท์ ทำหอแต๋วแตก”

 

 

คำด่าเชิงลบ ที่ไม่กระทบจิตใจแล้ว

“ปกติเราเป็นคนอารมณ์ดีอยู่แล้ว เป็นคนตลก บ้า ๆ บอ ๆ แต่พอดีเราไม่ได้อยู่ค่าย เราไม่ได้มีแบ็คอัพ เราคือตัวคนเดียวตลอด และคนก็จะมองว่าเราดุ จริง ๆ แล้วมันก็คือการป้องกันตัวเองไม่ให้ใครมายุ่ง จนหลายคนมองเหมือนว่าเราดุ เราหวงเด็ก แต่จริง ๆ พชร์เป็นคนบ้า ๆ บอ ๆ ไม่อย่างนั้นคงไม่ทำหนังตลกแบบนี้หรอก

แล้วเมื่อก่อนมันไม่มีโซเชียล มันมีแต่พันทิป นั่นคือเริ่มเลย เข้าพันทิปก็จะเจอคนด่าทุกเรื่อง แต่เราก็เฉย ๆ ไม่สนใจ เพราะว่าหนังเราประสบความสำเร็จ ด่าไปเลย ยิ่งด่าหนังยิ่งดังไม่เป็นไร หลังจากนั้นพอเราทำหนังมีสาระ อย่าง 18 ฝนคนอันตราย คนก็เลิกด่าเราไปพักนึง พอมาเรื่อง ว๊ายบึ้ม เชียร์กระหึ่มโลก คนก็กลับมาด่าเราอีก โดนด่ามาตลอด แต่หมอดูเคยทักว่า เราเป็นคนที่ถ้าโดนด่าแล้วจะดัง ก็เลยคิดว่าด่าได้ด่าไปเถอะ ถ้าเราคิดมากคงไม่อยู่มาถึงทุกวันนี้หรอก”

 

เปิดคลังหนังในดวงใจ ของ พชร์ อานนท์

“หนังในดวงใจก็ชอบหลายเรื่อง อย่าง Life is Beautiful ที่เป็นหนังสงคราม เราชอบมากสมัยเด็ก ๆ หรืออย่าง Titanic ก็ชอบ เพราะว่าหนังยุค 90 มีหนังดี ๆ เยอะมาก อย่างเรื่อง Notting Hill เราก็ชอบมากเพราะรู้สึกว่าเค้าเก่งเรื่องเขียนบท ดูสามชั่วโมงยังไม่เบื่อเลย ส่วนตัวชอบหนังดราม่า หนังชีวิตคน หนังจริงจัง แต่พอได้ทำหนัง กลับเริ่มจากหนังตลก จนกลายเป็นผู้กำกับหนังตลก แต่พอได้ทำหนังดราม่าเราก็เต็มที่เลยอย่าง เอ๋อเหรอ หรือ 18 ฝน ก็ถือว่าเป็นหนังดราม่าจัด ๆ เลย เราชอบหนังแนวดราม่าอยู่แล้ว แต่พอได้ทำหนังจริง นาน ๆ ครั้ง นายทุนถึงจะให้เราทำดราม่า ส่วนใหญ่ก็จะได้ทำแต่ หอแต๋วแตก

ถ้าเป็นหนังที่ตัวเองทำ แล้วกลายเป็นหนังในดวงใจเลยก็คือเรื่อง เอ๋อเหรอ และ 18 ฝน เพราะเราได้ใช้ฝีมือเยอะ และเราถนัดหนังแบบนั้น ถ่ายกันสบาย ๆ แต่ถ้าเป็นเรื่อง เพื่อนกูรักมึงว่ะ เวลาเราถ่ายต้องรอเมฆ รอฟ้า รอฝน มันต้องรอหลากหลายองค์ประกอบ แต่เรื่องเอ๋อเหรอ หรือ 18 ฝน เรารู้สึกว่ามันง่าย ไม่ต้องมาเครียดที่จะทำให้คนหัวเราะ จริง ๆ ทำหนังดราม่าง่ายกว่ามาก เพราะเวลาทำหนังตลกเรื่องความขำของคนมันไม่เท่ากัน บางคนก็ไม่ตลกกับหนังของเราก็มี”

 

 

จุดกำเนิดของ จักรวาลหอแต๋วแตก

“ตอนนั้นเราทำหนังเรื่อง เพื่อนกูรักมึงว่ะ แต่อยู่ในช่วงรอเข้าฉาย แล้วเราก็ต้องหางานทำเรื่องต่อไป ตอนนั้นเราอยู่ สหมงคลฟิล์ม ก็นั่งคิดงานอยู่กับเสี่ยเจียง คิดชื่อแรกไปเสนอ เสี่ยเจียงก็บอกว่า ชื่อมันขายไม่ได้ เดี๋ยวคิดชื่อให้ใหม่ ทีแรกจะชื่อ โกยเถอะกะเทย เพราะตอนนั้นโกยเถอะโยมมันดัง เราก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นผมขอทำเรื่อง หอแต๋วแตก ดีกว่า แต่เสี่ยเจียงปฏิเสธว่าไม่ทำ เราก็เลยบอกว่า งั้นขอกลับไปทำที่เก่าดีกว่า ที่ Five Star เราก็กลับไปทำ แล้วเริ่มต้นด้วย หอแต๋วแตก ก็เล่าเรื่องให้ทีมงานฟัง ว่าเป็นเรื่องที่ กะเทยเป็นเจ้าของหอ อยู่ ๆ ก็มีคนตาย โครงเรื่องมีเท่านี้ เค้าก็ถามว่าต้องใช้งบเท่าไหร่ พอเราเสนองบไป เค้าก็ตกลงบอกว่าเอาเลยทำเลย เราก็เปิดกองเลย นัดคิวดารานักแสดง เราก็เลือก พี่จตุรงค์ โก๊ะตี๋ แล้วก็ชวน อาจารย์ยิ่งศักดิ์ เพราะตอนนั้นท่านก็ดังจาก คุยแหกโค้ง ส่วน พี่เอกชัย ตอนนั้นเค้าไม่ค่อยทำเพลง แต่เราเคยเห็นเค้าเล่นตลกแล้วแต่งเป็นกะเทยก็ลองติดต่อ แล้วพี่เอกชัยก็โอเค จนได้ครบสี่คน หาลูกพี่จตุรงค์คนนึง ก็ได้ อาโคย เป็นเด็กวัยรุ่นซื่อ ๆ  พูดอีสาน จากนั้นก็เปิดกองเลย ตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าจะถ่ายอะไร แต่เราหาโลเคชั่นได้แล้ว เราก็ให้ทีมงานเตรียมชุดมาเยอะ ๆ แล้วเริ่มปั้นทีละนิด เก็บทีละหน่อย จนมันสำเร็จเป็นหอแต๋วแตก 

ตอนคุยกับนักแสดงเราก็พูดว่า เล่นเป็นเจ้าของหอสี่คน ตอนแรกเราก็นึกชื่อตัวละครกันไม่ออก แต่พี่จตุรงค์เค้ามีชื่ออยู่แล้วว่า แต๋ว เพราะเรื่องเกิดที่หอของเจ๊แต๋วไง แต่ โก๊ะตี๋ ยังไม่มีชื่อ แล้วตอนนั้น แพนเค้ก เขมนิจ กำลังดัง ก็เลยให้โก๊ะตี๋ชื่อแพนเค้กไปละกัน และช่วงนั้น มดดำ คชาภา ก็กำลังดังเหมือนกัน ก็ให้พี่เอกชัยชื่อมดดำ ส่วนเจ๊การ์ตูน ก็มาจาก การ์ตูน อินทิรา นั่นเอง

ต้องบอกว่าคำว่า LGBTQ+ สังคมในยุคนั้นคนยังไม่สนับสนุนหรอก แต่คนก็มองว่า หอแต๋วแตก เป็นหนังตลกมากกว่า ตลกกะเทยมันเพิ่งจะกลับมา ก่อนหน้านั้นหนังกะเทยมันก็มี สตรีเหล็ก และต่อมาก็หนังของเรา คนก็มองว่าเป็นหนังตลก กะเทยแต่งตัวแปลก ๆ บ้า ๆ บอ ๆ แล้วก็สนุกสนาน แล้วตอนถ่าย ถ้าเค้าคิดอะไรได้เราก็พูด สำหรับหอแต๋วแตกทุกภาคที่ผ่านมา ภาคที่ประสบความสำเร็จที่สุด ก็คือ ภาค 2 ที่มีตัวละครอุษามณี ภาคนั้นได้ 100 ล้านบาท เฉพาะกรุงเทพได้ 70 ล้าน ต่างจังหวัดอีก 30 ล้าน

แล้วทุกครั้งที่มีภาคใหม่ ๆ เวลาติดต่อนักแสดง ก็มีคนอยากเล่นบ้าง ไม่เล่นบ้าง ตามสไตล์เค้า อย่างภาค 2 อาจารย์ยิ่งศักดิ์ ก็ไม่เล่น เราก็เอา แอนนา ชวนชื่น มาเล่น ซึ่งพออาจารย์ยิ่งศักดิ์ไม่เล่น เราก็เขียนบทให้เค้าไปเมืองนอกก่อน แต่พอเค้าตัดสินใจกลับมาเล่นทีหลัง เราก็เขียนบทไปว่า กลับมาจากเมืองนอกพร้อมผัวฝรั่ง ส่วน พี่แอนนา เค้าเล่นกะเทยไม่ได้ พอนักแสดงคนอื่นเค้าเล่นกัน พี่แอนนา เค้าก็ยืนหัวเราะ เราก็เลยให้ พี่ติ๊ก พา พี่แอนนา เข้าห้องแล้ว ก็ให้พี่ติ๊กออกมาคนเดียว แล้วก็เล่นมุก ใครฆ่าอารยา ทำให้พี่แอนนากลายเป็นศพอยู่ในห้องน้ำแล้วทิ้งปริศนาว่าใครฆ่าอารยา เพราะในเรื่อง พี่แอนนา ชื่ออารยา อย่างดีเจนุ้ย เค้าเป็นดีเจ ต้องจัดรายการทุกวัน แล้วมันหาคิวยาก เราก็จัดการปัญหาโดย ให้ ดีเจนุ้ย กับ ตั๊ก บงกช ใส่หมวกกันน็อคไว้ แล้วทำเป็นว่าหมวกกันน็อคมันมีระเบิด แล้วมีรถจอดอยูคันหนึ่ง ก็ให้ทั้งคู่เดินเข้าไปในรถ ปิดประตูอยู่เฉย ๆ แป๊ปนึงนะ พอถ่ายเสร็จก็บอกว่านุ้ยกลับบ้านได้เลย พี่ถ่ายเสร็จแล้ว หลังจากนั้นเราก็ให้ฝ่ายตัดต่อ ไปใส่ CG รถระเบิด ให้ดีเจนุ้ยตายอยู่ในรถ คิวดีเจนุ้ยก็เลยเคลียร์เสร็จ ไม่มีปัญหาละ

แต่มันก็มีตัวละครที่ตายไปแล้ว แต่ก็กลับมาได้เหมือนกัน อย่าง แพนเค้ก ช่วงนั้นภาค 6 ก็ทะเลาะกับโก๊ะตี๋ เลยให้มันตาย ๆ ไป ไม่ทำต่อแล้ว แต่พอหนังได้เงิน 100 ล้าน นายทุนให้เงินมาทำต่อ เราก็คิดว่าทำยังไงดี แพนเค้กมันตายไปแล้ว ก็เลย เอาให้มันโผล่ขึ้นมาจากบ่อน้ำ แล้วก็บอกว่า ยมทูตเค้าจับผิดตัว เค้าจับอีกแพนเค้กนึง ไม่ใช่แพนเค้กนี้ ทำให้ หอแต๋วแตก มันมีมาเรื่อย ๆ เจ้แต๋ว ก็อยู่กับเรานานมาก เพราะเป็นตัวหลักไงมันไม่ต้องตาย”

 

 

หอแต๋วแตก แหกสัปะหยด กับตำนานตัดต่อเพิ่มเพียงข้ามคืน

ตอนนี้ หอแต๋วแตก แหกสะหยด เป็นหนังรายได้อันดับหนึ่งของปีพ.ศ. 2567 แต่ภาคนี้สนุกจริง คนส่วนใหญ่จะรอดูฉาก สุขุมวิท11 ซึ่งนัดกอง 1 ทุ่ม ถ่ายเสร็จประมาณ 5 ทุ่ม พอเสร็จก็เอาไปตัดต่อ ถึงมือตัดต่อประมาณตี 2 ตื่นเช้ามา 8 โมง มือตัดต่อบอกว่าเสร็จแล้ว เขาทำเร็วเพราะว่ามันชิน ทำมาประมาณ 32 ปีแล้ว ตั้งแต่ปีพ.ศ.2535 ทำตั้งแต่เรืองสติแตกสุดขั้วโลก มันก็เลยเป็นอะไรที่ไม่ได้ยากสำหรับพชร์แล้ว

พชร์ เป็นผู้กำกับตั้งแต่ปีพ.ศ.2535 อย่าง หอแต๋วแตก เราสามารถปั้นได้ โดยเอาเหตุการณ์ปัจจุบันมาใส่ ตอนแรกเราก็ไม่ได้คิด เราแค่ทำเพื่อให้ตัวเองทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้ตกยุค ก็เอาเรื่องนั้นมาใส่ เรื่องนี้มาเติม ผูกกันไปเรื่อยเพราะเราไม่ได้เขียนบท อย่างล่าสุดฉาก สุขุมวิท11 ตอนนั้นเพื่อนกำลังมิกซ์หนัง แล้วก็มีเพื่อนอีกคนโทรมาบอกว่า ดูสิมีมอันนี้กำลังมา เรื่องราวซอยสุขุมวิท 11 ที่กะเทยทะเลาะกัน เอาไปใส่ในหนังเลย แล้ววันนั้นเป็นวันที่ 4 ตอนกลางคืน แล้วหนังจะเข้าโรงภาพยนตร์วันที่ 14 ซึ่งมันไม่ทันแล้วเพราะหนังจะฉายแล้ว มิกซ์เสร็จต้องไปทำดนตรี ปรับเสียง ถ้าให้เติมคงไม่ทันแล้ว จากนั้นเราก็มานั่งไถฟีดในโซเชียล เลยเห็นว่าทำไมมันเยอะแบบนี้ แล้วมีแต่คนเชียร์ให้เราเอาไปใส่ไว้ในหนัง เราก็ตัดสินใจรับสมัครกะเทย 50 คน มาถ่ายฉากสุขุมวิท 11 เลย ซึ่งทีแรกหานักแสดงไม่ได้ แล้วเราดูรายการโหนกระแสอยู่ เลยติดต่อ พี่หนุ่ม กรรชัย ส่งข้อความไปหาพี่หนุ่มเพื่อขอเบอร์แขกรับเชิญหน่อย พชร์จะเอามาเล่นหนัง พี่หนุ่มบอกว่าเดี๋ยวจัดการให้ เขาก็เอาเบอร์มาให้เรา เราก็ให้ลูกน้องโทรติดต่อ จากนั้นก็ไปหาโลเคชั่นโลเคชั่น ทีแรกไปที่ สุขุมวิท 11 เขาไม่ให้ถ่าย เพราะมันยังอยู่ในรูปคดี เราก็ไปตระเวนหาเพิ่ม ก็ไปเจออยู่ที่หนึ่ง ตรงเดอะฮับ พหล-อารีย์ ก็ไปถ่ายตรงนั้น ให้โก๊ะตี๋ไปเล่นเป็นฟิลิปปินส์ แล้วให้พี่จตุรงค์เล่นเป็นคนไทยที่ไปช่วย เก็บรายละเอียดทุกเม็ด แล้วเราต้องส่งเซ็นเซอร์ ก่อนหน้านั้นหนังเราส่งเซ็นเซอร์ไปแล้วรอบหนึ่ง พออยากได้ฉากนี้เพิ่มเข้าไป ถ้าอย่างนั้นต้องเซ็นเซอร์ใหม่ เราก็ยอมส่งเซ็นเซอร์ใหม่ ดูตั้งแต่ต้นม้วนยันท้ายม้วนใหม่ แล้วก็เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น หอแต๋วแตก แหกสัปะหยด 11 ซึ่งก็คือสุขุมวิท11ตามระบบของการส่งเซ็นเซอร์ แล้วนักแสดงสมทบก็มาเกือบหมดเลย มีพี่ตุ้มนักมวย มาเป็นสาวไทยทำท่าชกมวย แต่วันที่เกิดเหตการณ์จริง พี่ตุ้มเขาไม่ได้ไป แล้วมีหลายคนจากเหตุการณ์จริง ก็มาอยู่ในหนังของเราด้วย

ซึ่งวิธีการของสอดแทรกฉากต้องมีอะไรเป็นลูกเล่น พอหนังเราจบก็เอาฉากนี้แทรก แล้วเราก็บอกว่า ข้อคิดดี ๆ จากหอแต๋วแตก แหกสัปะหยด สามัคคีคือพลัง หยุดความรุนแรง ทดแทนด้วยรอยยิ้มและความรัก เป็นห่วงนะ พชร์ อานนท์

 

 

เมื่อ ‘เจ๊แต๋ว’ โทรมาเซอร์ไพรส์กลางรายการ

มี 1 สายสุดพิเศษ ที่โทรเข้ามาแชร์เรื่องราวสุดประทับใจจากการถ่ายทำภาพยนตร์หอแต๋วแตก นั่นคือสายของ คุณจตุรงค์ มกจ๊ก ผู้รับบท เจ๊แต๋ว โดย คุณจตุรงค์ ได้แชร์ความประทับใจว่า “ตั้งแต่มีหอแต๋วแตกมา ชอบภาค 10 ที่สุด เพราะว่าภาคอื่นมันชอบให้ แพนเค้ก, เจ๊การ์ตูน และ เจ๊มดดำ พูดว่า เจ๊เห็นอย่างที่ฉันเห็นไหม, เจ๊ อย่าบอกนะ ว่าา!!! ซึ่งมันพูดแต่ประโยคนี้จนเราไม่อยากพูดประโยคต่อไป เราแบบเบื่อมาก ก็เลยชอบภาค 10 ที่สุด เพราะภาคนี้ มันประหลาด ภาคอื่นมันวิ่งอยู่กันแต่ในหอ แต่ภาคนี้มันไปเรื่อย ไปต่างจังหวัด ไปน้ำตก ไปวิ่งดงอ้อย ไปสุดมากเลย หอแต๋วแตก แหกสัปะหยด ภาคนี้คือต้องดูเลย เพราะมันแปลกที่สุด มันสนุก แล้วสถานที่เราไปถ่าย มันก็ออกมาสวยมาก”       

 

สีสัน แรงบันดาลใจ จาก พชร์ อานนท์

“เราก็พยายามทำหนังออกมาให้มันดีที่สุด ทุกคนทำหนังเค้าก็ตั้งใจทำ บางครั้งหนังของเรามันอาจจะไม่ใช่รสชาติที่ถูกใจใครทั้งหมด แต่ก็ต้องเข้าใจ และให้กำลังใจ เราเป็นคนไทยด้วยกัน ต้องให้กำลังใจกันนะ เราก็จะพยายามทำผลงานให้ผู้ชมได้ชมกัน เพราะถ้ามันไม่แน่จริง หอแต๋วแตกมันไม่มีมาถึง 10 ภาค เราก็ตั้งใจทำ ยังไงก็ฝากกันเอาไว้ด้วย ไม่ใช่ด่าอย่างเดียว เพราะคนที่ด่า ก็ไม่ใช่คนที่ดูหนังของเรา อย่าเอา หอแต๋วแตก ไปเทียบกับ เพื่อนกูรักมึงว่ะ หรือ เอ๋อเหรอ มันเเทียบกันไม่ได้อยู่แล้วเพราะหนังคนละสไตล์กัน เราก็พยายามที่จะคุมโทนในหนัง เหตุการณ์ในเรื่องมันเยอะ แต่มันก็ไม่ทำให้เสียหนังนะ

การดูหนังมันเป็นเรื่องของรสนิยม คนชอบหนังดราม่าไปดูหนังตลกเค้าก็ไม่ชอบ ส่วนคนชอบหนังตลกไปดูหนังดราม่า เค้าก็ไม่ชอบเหมือนกัน ความชอบแต่ละคนไม่เหมือนกัน และเทียบกันไม่ได้ อย่างหอแต๋วแตก เป็นหนังที่โดนด่าเยอะมาก แต่ก็เป็นหนังทำเงินเยอะที่สุด และคนชอบก็เยอะมากที่สุด แรก ๆ เราก็สนใจคำด่า แต่หลัง ๆ เราไม่สนใจละ เรามาสนใจคนที่ดูหนังของเราดีกว่า ทำหนังที่เอาใจกลุ่มคนเหล่านี้ที่ชอบดูหนังของเราดีกว่า” - พชร์ อานนท์

 

 

พบเรื่องราวชีวิตหลากสีสันใน Club Pride Day คลับที่เต็มไปด้วยแบ่งปันข้อคิดแรงบันดาลใจ และมีคลังความรู้ที่พร้อมแชร์ ไปกับแขกรับเชิญพิเศษ และสองดีเจสุดแซ่บ “ดีเจพี่อ้อย” และ “ก็อตจิ”  ได้ในทุกสัปดาห์

 

ติดตามชมรายการย้อนหลัง

album

0
0.8
1