ล้วงเรื่องราวชีวิต พร้อมเปิดมุมมองธุรกิจ ของ “นาตาเลีย เพลียแคม” Drag Queen ตัวแม่ที่พร้อมดูแล ให้คุณไปสบายแบบครบวงจร

Club Pride Day Recap

ล้วงเรื่องราวชีวิต พร้อมเปิดมุมมองธุรกิจ ของ “นาตาเลีย เพลียแคม” Drag Queen ตัวแม่ที่พร้อมดูแล ให้คุณไปสบายแบบครบวงจร

09 ก.พ. 2024

หายใจไม่ออก บอกนาตาเลีย!...เปิด Club รวมสีสันของชีวิต พร้อมแบ่งปันข้อคิดแรงบันดาลในในทุก ๆ สัปดาห์ สำหรับ Club Pride Day คุยอย่าง Proud เมาท์อย่าง Pride ทอล์คกระทบไหล่ตัวแม่ กับสองดีเจสุดแซ่บ “ดีเจพี่อ้อย” และ “ดีเจก็อตจิ” ที่ได้เปิดไมค์ต้อนรับแขกรับเชิญสุดจึ้ง “นาตาเลีย เพลียแคม” จากเจ้าของธุรกิจหลังความตาย สู่การเป็นผู้ชนะรายการ Drag Race คนแรกของไทย ยกระดับผู้มีความหลายหลายให้ทั่วโลกได้รู้จัก ซึ่งกว่าจะมีวันนี้ เธอผ่านหลากหลายเรื่องราวชีวิต หลากหลายอุปสรรค ที่ได้นำมาแชร์ในรายการไว้ด้วย

 

 

เปิดที่มาของชื่อสุดปัง “นาตาเลีย เพลียแคม”

“ชื่อ นาตาเลีย เพลียแคม เป็นชื่อที่ใช้ในการเป็น Drag Queen ซึ่งต้องเล่าอย่างก่อนว่า แต่เดิมธุรกิจของครอบครัวนาตาเลีย เป็นธุรกิจการขายโลงศพ ซึ่งเราเป็นคนที่ชอบเรื่อง Marketing ชอบ Branding ก็เลยสร้างแบรนด์ขึ้นมา พอเราต้องมาเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ เลยคิดว่ามันต้องมีกิมมิก มันต้องเป็นสิ่งที่ทำให้คนจดจำ ประกอบกับว่าเราประกวด Drag Race Thailand ก็เลยต้องสร้างมีมและแฮชแท็กขึ้นมา แต่เดิมเราเป็นอาเฮียขายโลงศพ ก็เลยตั้งเป็นแฮชแท็ก #หายใจไม่ออกบอกนาตาเลีย ต่อมาเราทำน้ำดื่มด้วย แต่ไม่ได้เอามาเพื่อขาย เราเอามาไว้บริการให้กับทางลูกค้า เพราะบางทีในงานศพมันก็ต้องมีน้ำดื่ม เราก็เอาไปน้ำดื่มของเราไปร่วมสนับสนุน จากนั้นก็เลยมีแฮชแท็กเพิ่มมาอีกก็คือ #น้ำดื่มมังกรเขียวใช้กินใช้กรวดในขวดเดียวกัน กลายเป็นแฮชแท็กประจำตัวที่เราใช้ตั้งแต่นั้นมาค่ะ”

 

 ลูกชายคนโต กับความคาดหวังจากครอบครัว

“นาตาเลีย โชคดีในเรื่องของครอบครัวตรงที่ว่า เค้ามีความคาดหวังแต่เค้าก็ไม่ได้มาจี้ ซึ่งคนที่มีการพูดถึงและทำให้รู้สึกในใจ ก็คือคนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัว เช่นบางทีเพื่อนป๊ามาที่บ้านก็ชอบถามว่า ลูกลื้อมีเมียรึยัง เราก็ตอบในใจว่ามีแล้วแต่เป็นผู้ชาย แต่ความจริงคือก็ต้องบอกว่ายังไม่มีครับ เดี๋ยวเรียนก่อน หรือขอทำงานก่อน ซึ่งเรามองว่าครอบครัวเราคาดหวังแต่เค้าไม่ได้พูดออกมา มันกลายเป็นชาเล้นจ์สำหรับเราที่จะต้องแข่งขันกับตัวเอง ทะเยอทะยานที่จะชิงดีชิงเด่นตลอดเวลา เพราะเราคิดว่าเราอาจจะทำตามมวลความคาดหวังของคนที่เป็นบุพการีไม่ได้ แต่เราก็ต้องมีอะไรบางอย่าง เพื่อให้รู้สึกว่ามันฟูลฟีลหัวใจ มันทำให้นาตาเลียพยายามหาเงินใช้เองตั้งแต่อายุ 18 ปี ใช้ความสามารถทางด้าน Cheerleading สมัครทุนเพื่อเรียนฟรีตั้งแต่ ปวช. จนถึงปริญญาโท ซึ่งเราสนุกกับชาเล้นจ์ในชีวิตที่ตัวเองตั้งขึ้น และการแข่งขัน หรือการประกวดต่าง ๆ มันตรงจริตของตัวเราด้วย มันก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าเรามองข้ามบางอย่างได้

ความทะเยอทะยานของเราคือ สมมติว่าเราเห็นก็อตจิ ในรายการเทยเที่ยวไทย เราก็รู้สึกว่าทำไมคนหนึ่งคน ถึงเป็นพิธีกรในเทยเที่ยวไทยได้สนุกขนาดนี้ แล้วเค้าเป็นลูกคนจีนเหมือนกัน หรืออย่างเราเห็นพี่อ้อยจัดรายการวิทยุมานาน และเราก็รู้สึกว่าทำไมผู้หญิงหนึ่งคนสามารถที่จะลุกตื่นขึ้นมาตอนเช้า หรืออยู่ตอนดึกได้ และพร้อมที่จะมารับฟังปัญหาทุกคน ซึ่งนาตาเลียเองก็รู้สึกว่า ฉันก็ต้องทำได้สิ เพียงแต่ว่ามันอยู่บนความคาดหวังของใคร วันนี้มันอยู่บนความคาดหวังของนาตาเลียว่า นาตาเลียไปประกวด นาตาเลียมีความสุข เราได้พื้นที่ เราชอบความบันเทิง เราชอบการแสดง เราต้องการอยู่หน้าไมค์ เราต้องการพูดให้ทุกคนรู้ ซึ่งมันอาจจะมีคนไม่ชอบบ้าง แต่สุดท้ายพื้นที่ส่วนใหญ่คือคนที่ชอบเรา เราต้องคิดให้เป็นวัฏจักรแห่งความเป็นมนุษย์ ว่ามันไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราจะเอาความสุขส่วนใหญ่บนมาตรฐานของเรา ให้มาเป็นแรงขับเคลื่อนแล้วก็ก้าวข้ามผ่านปัญหา ไม่ใช่ว่านาตาเลียไม่เคยมีความทุกข์ เราเคยแบบทุกข์หนักมาก บ้านล้มละลาย ป๊าเป็นสโตรก ไม่มีเงินเลย เราผ่านมาหมดแล้ว แต่เรายังเชื่อว่า ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ นอนคืนนี้ พรุ่งนี้ก็เริ่มเรื่องใหม่แล้ว”

 

 

ก้าวแรก ของเฮียเจ้าของธุรกิจโลงศพ

“มันเริ่มจากที่เราต้องเข้าไปช่วยงานธุรกิจของคุณพ่อ ซึ่งจะเน้นหนักในเรื่องของการทำ Branding แล้วก็สร้างการรับรู้ เพราะโลกธุรกิจมันเปลี่ยนไป ตอนนั้นป๊าขายแต่แบบออฟไลน์ เค้าไม่ได้สนใจช่องทางการขายออนไลน์เลย เราก็เลยเห็นโอกาสตรงนี้เลยไปสร้างมันขึ้นมา ซึ่งจากใจจริง นาตาเลียรู้สึกว่านี่เป็นธุรกิจที่มันไม่ใช่ไลฟ์สไตล์ของเราเลย แล้วพอเราเป็นลูกคนโต มันจะตามมาด้วยความคาดหวัง แต่ในยุคก่อนมันไม่มีเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นการขายแบบปากต่อปากมันยังคงใช้ได้อยู่ แต่พอวันหนึ่งมาเจออะไรหลาย ๆ อย่าง ป๊าก็เริ่มเรียกให้กลับมาทำธุรกิจไหม บวกกับที่เราประกวดรายการ Drag Race Thailand พอดี ช่วงนั้นหนูเลยตกลงกลับมาช่วยงานป๊า ทำมาสักพักก็มารู้ว่าป๊าป่วยเป็นสโตรก แล้วเราก็ไม่เคยมีความรู้เรื่องนี้ในชีวิตเลย พอมาเหตุการณ์นี้ทุกอย่างก็กลับตาลปัตรหมดเลย มันก็เลยเหมือนไม่อยากทำ แต่สุดท้ายเราก็ทิ้งไม่ได้ เพราะธุรกิจนี้ ก็คือ DNA ของเรา แล้วพอต้องมาทำธุรกิจเรารู้สึกว่ามันสามารถบูรณาการให้เป็นการทำธุรกิจในแบบของนาตาเลียได้ โดยเฉพาะในเรื่องของงานศพ และเชื่อว่าสินค้าของนาตาเลีย เป็นสินค้าหนึ่งที่ลูกค้าไม่เคยคอมเพลนเลย”

 

“ความตาย” สามารถเป็นสิ่งที่สวยงามได้ ถ้าเรารู้จักจัดการมัน

“เรื่องการบริหารจัดการ หรือการเตรียมการความตาย มันมีอยู่ในวัฒนธรรมอยู่แล้ว โดยเฉพาะวัฒนธรรมจีน ที่จะมีการซื้อฮวงซุ้ยหรือโลงศพ และคนจีนเชื่อว่าเป็นการต่ออายุต่อดวงชะตา แต่ถ้าเป็นคนไทยก็จะมองว่าเตรียมไว้ทำไม แช่งหรือเปล่า ส่วนที่เมืองนอกหรือประเทศอื่น มันจะมีธุรกิจที่เรียกว่า Funeral Planner เป็นธุรกิจในการจัดการงานศพ ซึ่งจะคล้ายกับ Wedding Planner ที่จะบริหารจัดการงานแต่งงาน

ความฝันของนาตาเลีย คือต้องการทำร้านโลงศพธรรมดา หรือตอนนี้ผู้คนรู้จักในออนไลน์ เพราะ นาตาเลียขายในออนไลน์เป็นหลัก นาตาเลียต้องการทำให้เห็นว่า เราสามารถบริหารจัดการ และดีไซน์ความตายได้ตามต้องการ นาตาเลียเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ความตาย มันสามารถเป็นสิ่งที่สวยงามได้ ถ้าเรารู้จักที่จะจัดการหรือบริหารมัน นาตาเลียยังคิดถึงงานศพของตัวเองเลยว่า โลงศพฉันควรเป็นยังไง อาหารขอเป็นเบนโตะเซ็ทได้ไหม บรรยากาศของพื้นที่เราทำให้เป็นกลิ่นอโรมาดีไหม แล้วผู้คนไม่จำเป็นจะต้องใส่สีดำอย่างเดียวดีไหม ของชำร่วยในงานขอเป็น Flash drive ที่พอเอาไปเสียบเข้าคอมพิวเตอร์จะเห็นบทพูดเรื่องการเตรียมตัวตายของนาตาเลีย พร้อมกับแต่งตัวเป็น Drag Queen แล้วโชว์ให้ดูก่อนตาย ให้ดูว่าความสุขตอนที่ฉันมีชีวิต รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ที่ฉันสร้างมันยังคงอยู่กับเธอตลอดไป แล้ววันใดที่เธอลบความทรงจำจาก Flash drive มันแค่ลบความทรงจำแต่ฉันยังคงเป็นประโยชน์ต่อเธอ เพราะเธอจะเอา Flash drive นั้นไปทำอย่างอื่นได้ต่อ

แล้วเราไม่ได้พูดเองเออเอง จากการวิจัยซึ่งเป็นตัวจบปริญญาโทของเรา พบว่า จำนวนประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นผู้หญิง ให้ความสำคัญกับเรื่องการวางแผนการตายมากกว่าผู้ชาย ในขณะเดียวกันมีสิ่งที่เค้าต้องการคือ 1.บริหารดีไซน์ในแบบที่เค้าต้องการได้ 2.อยู่ในงบประมาณที่เค้าจัดการได้ และ 3.ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นต้องอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมประเพณีที่ถูกต้อง”

 

 

ส่องเทรนด์ธุรกิจคอนโดความตาย

“ถ้าเราดูหนังฮ่องกงสมัยก่อน เราจะเห็นว่าเวลาเค้าไปงานศพ มันจะมีเป็นบล็อกเป็นชั้น ๆ ซึ่งเมืองไทยก็มีเหมือนกันในสมัยก่อน แต่มันไม่ได้ถูกพูดถึง แต่พอเรามาทำธุรกิจด้านนี้ ก็ได้ไปเจอพาร์ทเนอร์ที่เป็นบริษัทขายสุสานที่มาเลเซีย แล้วก็กระจายไป Southeast Asia ไปสู่ต่างประเทศ แล้วเค้าก็มาสร้างฮวงซุ้ย กับคอนโดสำหรับเก็บกระดูกที่เมืองไทย ทำแบบสวยงามเลย เราก็เลยมาผลักดันเรื่องนี้ว่าจริง ๆ แล้ว ถ้าคุณอยากจะได้ช่องเก็บกระดูกที่สวยงาม เค้าก็มีการจัดการนะ แล้วเราก็คิดไปถึงว่า ถ้าเป็นฮวงซุ้ย เวลาเราซื้อเสร็จ เราจะต้องเอาดวงชะตาใส่ลงไปในหลุมศพ สมมติว่านาตาเลียซื้อฮวงซุ้ยให้บิดามารดา นาตาเลียก็ต้องเอาทำพิธีกรรมที่เรียกว่า แซกี ทิ้งไว้ในหลุมศพเพื่อต่อดวงชะตาของบิดามารดา วันนึงนาตาเลียมองเห็นโอกาสว่า ช่องเก็บกระดูกมันเอาไว้ใส่ศพคนตายแบบเผา ฮวงซุ้ยใช้ใส่ศพคนตายแบบไม่เผา ผู้คนกำลังนิยมชมชอบที่อยากจะมีอายุยืนนานแล้วก็สนใจเรื่องมู ก็เลยคิดว่าฉันต้องทำแซกีในฮวงซุ้ย ให้ไปอยู่ในช่องเก็บกระดูกได้อีก ซึ่งซินแสหลายท่านก็บอกว่าลื้อจะบ้าเหรอ มันผิดธรรมเนียมประเพณี นาตาเลียก็บอกซินแสว่า อั๊วะถามหน่อย สมมติลื้อต้องทำแซกีเพื่อดวงชะตาโดยมีเงิน 1 ล้านบาท ลื้อต้องทำ 1 ล้านบาทเลย หรือ 1 ล้านบาทบวก ๆ เพื่อทำหลุมศพ แล้วมันก็ยังไม่มีใครอยากตาย ลื้อใส่ได้เมื่อไหร่ แต่วันนี้นาตาเลียจะมาขายแซกีในช่องเก็บกระดูกซึ่งเสียเงินไม่ถึง 2 แสนบาท แล้วแต่ว่าชั้นมันจะอยู่ตรงไหน ลองคิดนะว่าระหว่างคนมีเงิน 1 ล้านบาทแล้วหมดไป กับคนมี 1 ล้านบาทแล้วเหลือ 8 แสน ใครมีความสุขมากกว่ากัน จากนั้นก็มีซินแสบางคนที่สนับสนุนความคิดเรา นาตาเลียเชื่อว่า วัฒนธรรมรากเหง้าบางอย่างมันสูญเสียไป เพราะผู้คนไม่ปรับเปลี่ยน แล้วไม่ยอมหาจุดเชื่อมให้เข้าหากัน สุดท้ายมันก็จะหายไป แต่นาตาเลียไม่ได้คิดแบบนั้น นาตาเลียคิดว่าโลกมันเปลี่ยนไป คนเราก็ต้องเปลี่ยนตาม บางคนก็ต้องพัฒนา หรืออย่างน้อยคือเรามีฟังก์ชั่นให้เค้าเลือก ทำสิ่งต่าง ๆ ให้เค้าได้มีโอกาสเลือก สุดท้ายถ้าเค้าจะไม่เอา มันก็อยู่ที่เค้า ไม่ได้อยู่ที่เรา”

 

 

จุดเริ่มต้น บนเส้นทาง Drag Queen

“ก่อนที่จะมาเป็น Drag Queen นาตาเลียได้ตำแหน่ง Miss ACDC ปี 2006 มาก่อน สมัยนั้นโซเชียล และโลกออนไลน์ยังไม่เหมือนทุกวันนี้ พอมาปี 2018 ก็มีคนมาชักชวนว่า จะมีรายการจากเมืองนอกชื่อรายการ Drag Race ซึ่งเรารู้จักรายการ แต่เราไม่เคยดู ด้วยความที่เราอยู่กับการประกวดอยู่แล้ว ทั้งประกวด Cheerleading ประกวดเต้น เป็นนางโชว์ เราก็รู้สึกว่าโอเคฉันจะทำ แต่การทำครั้งนี้ 1.ฉันต้องชนะ เพราะว่าถ้าไม่ชนะมันเป็นการแข่งขันที่เสียเปล่า 2.นี่เป็นจังหวะที่ดีมาก ถ้าสมมติฉันเอาเงินไปซื้อมีเดีย มันจะแพงกว่าการที่ฉันไปประกวด แล้วการไปประกวดถ้าฉันเอาเงินไปซื้อมีเดียอย่างเดียวฉันแค่ได้หน้า แต่ถ้าฉันไปประกวด เราได้แสงจากคาแรกเตอร์ เราจะได้ความสุข และสนุกไปกับมันด้วย ก็เลยตัดสินใจประกวด Drag Race Thailand Season 1 แล้วการประกวดตลอด 8 ep. จนไปถึงรอบไฟนอล เราจะต้องมีสติอยู่กับมัน ซึ่งสิ่งที่มันไม่ลืมเลยคือ เราต้องเข้าใจว่าเรากำลังจะสื่อสารให้คนจดจำอะไรในตัวเรา นาตาเลียก็บอกเลยว่า เราเป็นลูกหลานคนจีนมาจากเยาวราช แล้วก็ขายโลงศพ ซึ่งมันคือเรื่องจริงบนเรื่องแต่ง มันก็เลยรู้สึกว่าเราพูดได้อย่างไม่เคอะเขิน

คำว่า Drag Queen ก็คือการแต่งตัวข้ามไปเป็นอีกคาแรกเตอร์หนึ่ง หรือไปเป็นอีกเพศหนึ่ง เช่นวันนี้ตามบัตรประชาชนของนาตาเลียเป็นผู้ชาย พอเราแต่งเป็น Drag Queen ก็คือ เราแต่งเป็นผู้หญิง แต่โลกของเราตอนนี้มันหลากหลายมาก มันมีแม้กระทั่งผู้หญิงแต่งเป็น Drag Queen อย่างเช่น Lady Gaga ซึ่งเราก็เรียกว่า Bio Queen พอมันเกิดความหลากหลาย นาตาเลียจึงให้คำจำกัดความในทุกครั้งที่ไปอธิบาย โดยไม่ได้พูดถึงว่ารากเหง้าคำว่า Drag คืออะไร แต่การแต่ง Drag คือการที่เราสร้างคาแรกเตอร์อีกคาแรกเตอร์หนึ่งแล้วแสดงออกมา และต้องนำมาซึ่งแรงบันดาลใจ ความสุข และจะต้องเป็นการแบ่งปันอะไรบางอย่าง แม้กระทั่งความเป็นตัวเราให้กับคนรอบข้างด้วย มีสิ่งหนึ่งที่ผู้คนมักจะถามว่าทำไมเฮียถึงใส่ชุดนี้อีก ใส่ทุกงานเลย ทำไมไม่เปลี่ยน แต่สิ่งที่นาตาเลียโฟกัสคือ ก็ฉันต้องการให้เธอทักนี่แหละ ให้เธอจำว่านี่มันคือคาแรกเตอร์ แล้วทุกคนก็จะจดจำเราได้”

 

 

ความพ่ายแพ้ ที่มาพร้อมบทเรียนมากมาย

“นาตาเลียประกวดมาเยอะ แล้วเคยได้ตำแหน่ง Miss ACDC 2006 เป็นแชมป์ Drag Race Thailand คนแรกของประเทศไทย เคยได้ตำแหน่งนางสาวเชียงใหม่ในดวงใจ 2566 แล้วก็กำลังรอว่า ถ้าเวที Miss Universe is you เปิดรับสมัครก็จะลงประกวดอีก แล้วนาตาเลียก็จะปิดตำนานนาตาเลียในเมืองไทยเท่านี้ ปิดตำนานว่าในประเทศไทย ฉันได้เวทีใหญ่ ๆ มาหมดแล้ว แล้วจะรอไปประกวดเมืองนอก ได้ตำแหน่งมาเยอะแต่ไม่ได้หมายความว่านาตาเลียไม่เคยแพ้ นาตาเลียเคยแพ้ บุ๊คโกะ ในการประกวดนางสาวเชียงใหม่ในดวงใจปี 2564 ตอนนั้นนาตาเลียได้รองอันดับ 1 แต่สิ่งที่มันสอนเราอยู่ตลอดเวลาบนความพ่ายแพ้ คือการสอนให้เรารู้ว่าสปิริตของการแข่งขันมันเป็นยังไง ต้องขอบคุณ บุ๊คโกะ ด้วยที่ทำให้นาตาลีเรียนรู้ความมีสปิริต ความมีน้ำใจนักกีฬา แต่ในขณะเดียวกัน การแพ้มันก็ทำให้เราตั้งเป้าใหม่ว่า ฉันจะกลับมาประกวดในปี 2566 เพราะว่าฉันจะเอามง และจะเป็นที่ 1 ให้ได้ แล้วมันก็ได้จริง ๆ”

 

นาตาเลีย เพลียแคม กับการสานฝัน ให้กับผู้บกพร่องทางการได้ยิน

“นาตาเลีย เป็นคนสอน Cheerleading ให้คนพิการทางหูคนแรกของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน แล้วก็ประกวดชนะมาตลอด ซึ่งการสอนมันจะมีภาษามือก่อน แต่สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ มันจะต้องมีใจที่จะสอนด้วย เราคุยกับเค้าด้วยภาษากายอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องตั้งใจด้วยความรู้สึกที่อยู่ข้างใน แล้วต้องพยายามเปลี่ยนวิธีการคิดของเค้าว่า ไม่ใช่ว่าเป็นคนพิการแล้วจะต้องอยู่กับการรอรับโอกาสอย่างเดียว ซึ่งสิ่งที่มันได้ตามมาแล้วทำให้เรารู้สึกแฮปปี้มากคือคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองของน้อง ๆ เปลี่ยนวิธีคิดที่จะเลี้ยงลูกหลาน พอผู้ปกครองได้มาดูการแสดงของน้อง ๆ ครั้งแรก มีหลายคนร้องไห้ แล้วก็พูดกับเราว่า เดี๋ยวคุณแม่จะเปิดโอกาสให้น้องเล่นกีฬานี้เต็มที่เลย แล้วให้น้องเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่จะเรียนได้ มันเป็นพลังที่เติมเต็มความรู้สึกให้เรามาก ๆ

สิ่งหนึ่งที่เรามักจะปลุกพลังให้น้อง ๆ คือ การที่เราเป็นคนพิการ แล้วอยู่ในสังคมที่มีคนปกติมากกว่า การที่จะเปลี่ยนคนปกติจำนวนมากเป็นเรื่องยาก แต่การเปลี่ยนตัวเองในฐานะที่เป็นคนจำนวนน้อย เพื่อให้สังคมขับเคลื่อน และได้โอกาสอะไรบางอย่างเป็นเรื่องง่ายกว่า และเราต้องพยายามมากกว่าคนปกติ 2 เท่า จากปี 2552 จนถึงปัจจุบัน นาตาเลียก็ยังคงสอนอยู่ แต่ในขณะที่สอน Cheerleading เราก็จะสอนประสบการณ์ชีวิต กับวิธีคิดให้กับน้อง ๆ ไปด้วย”

 

 

เมื่อชีวิตเจอหลากหลายบททดสอบ แต่ต้องผ่านมันไปให้ได้

“เริ่มแรกเลยคือป๊าเค้าเป็นเถ้าแก่เร็ว แล้วก็มีความปกครองผู้คนในยุคที่ไม่มีโซเชียล มันเหมือนเค้าประสบความสำเร็จมาก ๆ  จนรู้สึกว่าคำพูดของตัวเองคือเบ็ดเสร็จ กลายเป็นหลงระเริง พอเกิดสิ่งผิดพลาดจนเหนือการควบคุม มันก็ต้องสูญสลายไปเลย แต่ความโชคดีของป๊าคือ เค้าสามารถกลับมาสร้างทุกอย่างใหม่ได้ เมื่อเค้ามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง แต่พอมาปี 2019 ป๊าเป็นสโตรก แล้วที่บ้านหนูไม่มีความรู้เรื่องสโตรกเลย พอไปโรงพยาบาลเค้าก็แค่บอกว่าปวดหัว คุณหมอก็จับฉีดยาเฉย ๆ แต่พอมาตอนเช้าหมอประจำตระกูลก็บอกว่าเป็นสโตรกแน่ ๆ เลยเอาเข้าห้อง ICU แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากวันนั้นคือเค้าต้องนอนติดเตียง เจาะคอ ทำอะไรไม่ได้แล้วมันเกินกว่าที่กะเทยคนนึงจะมาสานต่อ มันยุ่งเหยิงยิ่งกว่าสายไฟบนถนนวิทยุ แต่ในวันนั้นหนูบอกกับตัวเองว่า เราก็ต้องทำมันเท่าที่ได้ ให้ร่างกายยังคงพร้อมที่จะสู้ต่อในวันพรุ่งนี้ แล้วถ้าหนูสู้จนสุดทาง แล้วมันไม่ได้อย่างที่หวัง หนูจะไม่เสียใจเลย เพราะหนูสู้จนสุดทางแล้ว

ในวันที่หนูรู้ว่าป๊าเป็นสโตรก แล้วเค้าเรียกไปที่โรงพยาบาลด่วน เค้าก็จับมือเราบอกว่า ป๊าฝากน้องด้วยนะ หนูก็บอกป๊าว่าเดี๋ยวก็หาย นอนฉีดยาพรุ่งนี้ก็หาย ซึ่งก่อนหน้านั้น เพิ่งจะผ่านวันเกิดหนูมา หนูเกิด 7 มกราคม ป๊าก็มาแฮปปี้เบิร์ดเดย์ และเป็นวันที่เปิดตัว Drag Race Thailand Season 2 กลางไอคอนสยาม แล้วพี่อาร์ท อารยา กับ พี่เต้ กันตนา หอบเค้กมาแฮปปี้เบิร์ดเดย์หนูกลางไอคอนสยาม ผ่านไปไม่ถึง 2 วัน อยู่ดี ๆ ป๊าเป็นสโตรก แล้วหนูต้องมาออกรายการ Lip Sync Battle Thailand กำลังยืนรอสแตนบายจะขึ้นเวที ที่บ้านก็โทรมาบอกว่าป๊าต้องเจาะคอ ถ้าไม่เจาะคือไม่รอด พอพูดเสร็จทีมงานก็บอกว่าขึ้นเวทีค่ะ หนูก็ต้องฮึบ เพราะกับรายการหนูก็ต้องเต็มที่ แฟนรายการเค้าก็ตั้งความหวังว่าอยากจะเห็นนาตาเลียโชว์ ซึ่งหนูก็ไม่อยากให้ทั้งคนดู และทีมงานจะต้องมารับรู้ว่าภายใต้การยิ้มแย้ม แต่งตัวอลังการของหนู มันคือความดิ่งที่สุดในชีวิต แต่พอเทปรายการนี้ออกอากาศ กลับมีกลุ่มคนที่เป็นเกรียนคีย์บอร์ด มาบอกว่าโชว์ไม่เห็นจะดีเลย ดูไม่ Professional เลย สิ่งนี้ทำให้หนูเรียนรู้ว่า ภายใต้ความวุ่นวายรวดเร็วของเทคโนโลยี มันมีบางคนพร้อมที่จะทิ่มแทงเราเพียงเพราะความไม่ชอบ หนูต้องตั้งสติกับตัวเอง และบอกตัวเองว่าเราสามารถเลือกที่จะทะเลาะ หรือไม่ทะเลาะกับคนได้ เราจงยอมรับ หรือเอาพลังงานดี ๆ จากคนที่เค้าชื่นชมเรามาเป็นประโยชน์ดีกว่า เพราะเราไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้เราจะอยู่หรือเราจะไป อย่างน้อยที่สุดมันยังมีสิ่งดี ๆ ให้เราฮีลใจ ให้เราหายเหนื่อย ให้เรารู้สึกว่ามันยังมีคนข้าง ๆ ถึงแม้ว่ามันจะมาเป็นแค่ข้อความก็ตาม

หนูเป็นคนชอบมูเตลูมาก เพราะมันคือที่พึ่งทางใจอย่างหนึ่ง แต่เมื่อไหร่ที่มันไม่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่เรามู หนูไม่เคยโทษฟ้าโทษฝนโทษเทวดาเลย แล้วหนูก็รู้สึกว่าในช่วงที่หนูวิกฤติ มันมีคนที่พร้อมช่วยอย่างเต็มที่ หนูได้เรียนรู้ว่า เมื่อไหร่ที่หนูให้อะไรใครไปก่อน มันจะได้กลับมาเสมอ หลายคนเห็นหนูบนหน้าจอ ก็จะเห็นว่าเราเฮฮา ดูเรียกเสียงหัวเราะ แต่หนูเคยร้องไห้คนเดียว แต่หนูไม่เคยคิดจะฆ่าตัวตายนะเพราะกลัวเจ็บ แล้วหนูคิดว่าชีวิตนี้ไม่กลัวอะไรแล้ว เพราะเราเคยเจอเรื่องหนักสุด สบายสุด ดีที่สุด ร้ายที่สุด ในชีวิตหนูผ่านมาหมดแล้ว”

 

 

ความรักของเพศที่สาม ไม่ได้ฉาบฉวยเสมอไป

“หลายคนชอบคิดว่า การเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ เวลามีความรักมักจะเป็นความรักที่ฉาบฉวย แต่สำหรับหนูคิดว่ามันไม่เสมอไปหรอก คุณอย่าเพิ่งตีตราว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเมื่อมีรักเท่ากับ Sex เท่านั้น มันมีอย่างอื่นเป็นองค์ประกอบด้วย แต่หนูก็ไม่ได้เป็นคนที่ประสบความสำเร็จในความรัก เพราะในชีวิตหนูเรื่องงานมันจะมาก่อนความรักเสมอ แต่ถ้าถามว่าหนูอยากมีรักไหม หนูก็อยากมีรัก อยากมีแฟน อยากมีคู่ชีวิตให้เราได้แอบอิง แต่ในขณะเดียวกัน ความรักที่หนูเจอมามันกลายเป็นการมาเหยียด หรือเป็นการคบเพื่อผลประโยชน์ มันก็กลายเป็นความทุกข์ ซึ่งมันก็ต้องเลือกคนคุยดี ๆ ไม่อย่างนั้นก็จะก้าวข้ามผ่านเรื่องนี้ไม่ได้เลย หนูจึงรู้สึกว่าตัวเองใช้ชีวิตบนความ Proud ฉันมั่นใจ และฉันก็เต็มที่กับทุกอย่างที่ฉันทำ เพื่อให้คนรอบข้างรู้และจดจำว่า นี่คือ นาตาเลีย เพลียแคม

หนูอยากเป็นนักการเมือง เพราะคิดว่าการเป็นนักการเมือง มันทำให้เราได้ทำอะไรบางอย่างบนสิทธิ์หรืออำนาจที่เรามี แต่นั่นจะต้องเป็นเรื่องที่ดีด้วย หนูก็เลยคิดเล่น ๆ ว่า ถ้าหนูเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่ากทม. หรือเป็นหนึ่งในกรม ที่มีอำนาจในการที่จะปรับเปลี่ยนกรุงเทพ ไหน ๆ รถมันก็ติดแล้ว เราก็เปลี่ยนความวุ่นวายให้กลายเป็น Festival เช่นทำเมืองนี้ให้มันเป็นเมืองแห่ง Exhibition ทำเมืองนี้ให้เป็นเมืองแห่ง Event ขับเคลื่อนด้วยความวุ่นวายยุ่งเหยิงมีแต่ความบันเทิง เป็นพื้นที่ศิลปะของทุกคน หนูคิดลึกไปถึงขนาดที่ว่า วันนี้เราจะต้องไปสอนเรื่องการมีทักษะ หรือการพัฒนาอะไรบางอย่างให้กับกลุ่ม LGBTQ หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่มันจะซับซ้อนกว่าถ้าความหลากหลายทางเพศอยู่ในคนพิการ หนูก็อยากไปทำเรื่องนี้เพื่อให้เค้าสามารถใช้ชีวิตอยู่กับกลุ่มคนปกติได้อย่างไม่เคอะเขิน แล้วการเป็นนักการเมือง สิ่งที่ทำให้คนอื่นต้องมาปรบมือ หรือมามายอมรับ มันต้องอยู่บนสิ่งที่คุณทำออกไปมากกว่า ไม่ใช่เพียงเพราะว่าวันนี้คุณเป็นเก้ง เป็นกวาง หรือเป็นเพศอะไรก็ตาม”

 

ความภูมิใจ และแรงบันดาลใจ จาก นาตาเลีย เพลียแคม

“หนูภูมิใจที่สุด ที่ความสำเร็จของหนู มันได้สร้างประโยชน์ให้กับคนอื่น ความเป็นนาตาเลีย เพลียแคม มันไม่ใช่อยู่ที่การเป็นผู้ชนะ แต่มันอยู่ที่สิ่งที่หนูเป็น และหนูสร้างมันขึ้นมา แล้วมันไปต่อยอด แก้ไขหรือไปช่วยคนอื่นได้บ้าง หนูเป็นคนที่ไม่ชอบอยู่คนเดียว แล้วในฐานะที่หนูเป็นคนขายโลงศพ หนูจะเก็บการอยู่คนเดียวไว้ตอนตายเท่านั้น แต่เมื่อเรามีลมหายใจ เราต้องมีปฏิสัมพันธ์ และสิ่งที่มันจะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ให้มันอยู่ตลอดรอดฝั่ง คือการที่เราเป็นแรงบันดาลใจของใคร เราเป็นความหวังของใคร และเราทำอะไรให้กับคนอื่นได้บ้าง ถึงแม้ว่าบางสิ่งบางอย่างมันอาจจะเหนื่อย  แต่ถ้าเราพอใจและเต็มใจที่จะทำ หนูคิดว่ามันสะสมไปได้เรื่อย ๆ แล้ววันหนึ่งหนูก็คงจะตายอย่างมีความสุข” - นาตาเลีย เพลียแคม

 

 

พบเรื่องราวชีวิตหลากสีสันใน Club Pride Day  คลับที่เต็มไปด้วยแบ่งปันข้อคิดแรงบันดาลใจ และมีคลังความรู้ที่พร้อมแชร์ ไปกับแขกรับเชิญสุดพิเศษ และสองดีเจสุดแซ่บ “ดีเจพี่อ้อย” และ “ดีเจก็อตจิ”  ได้ในทุกสัปดาห์

 

ดูรายการย้อนหลัง

 

album

0
0.8
1