“ถ้ารู้ว่าตัวเองชอบอะไร ก็อยากให้ทุ่มเทกับมันอย่างเต็มที่ มีระเบียบวินัยในตัวเอง รับผิดชอบตัวเองให้มาก ๆ เชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพพอที่จะทำได้ ถ้าเรารักในสิ่งนั้นจริง ๆ”
Club นี้มีสีสันของชีวิต Club นี้มีข้อคิดแรงบันดาลใจ มาแบ่งปันให้กันให้ทุกสัปดาห์สำหรับ Club Pride Day คุยอย่าง Proud เมาท์อย่าง Pride กับสองดีเจสุดแซ่บ “ดีเจพี่อ้อย” และ “ดีเจก็อตจิ” ที่ได้ต้อนรับแขกรับเชิญระดับแชมป์โลก “ปอป้อ ทรัพย์สิรี” นักกีฬาแบดมินตันหญิงไทยคนแรกของโลกที่คว้าแชมป์มาแล้วทุกประเภท และประเภทคู่ผสมที่เธอได้รักษามาตราฐานของเธอเอาไว้ได้อย่างดีเยี่ยม จนไต่ขึ้นสู่มือวางอันดับ 1 ของโลก แต่กว่าจะมาเป็นนักกีฬาทีมชาติ และก้าวขึ้นมายืนอยู่บนจุดสูงสุดของเส้นทางสายแบดมินตันได้นั้นไม่ง่าย เธอต้องผ่านอุปสรรคทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ต้องเสียสละชีวิตวัยรุ่นและเวลาส่วนตัว เพื่อทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมแบดมินตัน เรื่องราวสีสันของชีวิต พร้อมข้อคิดแรงบันดาลใจ ได้ถูกส่งต่อไว้แล้วในรายการ
การแข่งขัน และรางวัลล่าสุด ของนักตบลูกขนไก่
“ล่าสุดเพิ่งได้เหรียญทองแดง เป็นการแข่งขันประเภททีมผสมชิงแชมป์เอเชียค่ะ ซึ่งแมตช์นี้ก็มีความยาก ด้วยทีมเราก็ไม่ได้เป็นทีมที่ดีที่สุด แต่ก็ถือว่าดีสำหรับเราในตอนนี้ ก็พยายามทำหน้าที่ให้เต็มที่ ให้มันดีที่สุดในทุก ๆ แมตช์ที่ได้ลง
ใน 1 ปี ป้อจะมีแข่งประมาณ 16 Tournament อย่างต่ำเดือนละครั้ง ช่วงที่แข่งถี่สุด ๆ คือตอนโควิด ตอนนั้นไปแข่ง 3 เดือนไม่ได้กลับไทยเลย ตีแบดกันทุกอาทิตย์ แล้วก็บินไปโซนยุโรป กลับมาเอเชีย แล้วก็ไปยุโรป ถึงจะกลับไทย ซึ่งการเดินทางบ่อยมีปัญหาต่อนักกีฬาไหม เรียกว่าต้องปรับตัวหมดทุกคน แต่ถ้าของป้อไม่มีปัญหา สมมติว่าเราไปยุโรป เราเป็นคนนอนได้ง่ายอยู่แล้วเพราะว่าเวลามันช้ากว่าไทย แต่พอกลับมาเอเชียช่วงหลัง ๆ ก็จะเริ่มเจ็ทแล็ก บางทีก็ต้องใช้ยาช่วยกันบ้าง
เรื่องซ้อมก็อาทิตย์ละ 6 วัน ที่จริงมันก็คือ 5 วันครึ่ง เค้าจะหยุดวันอาทิตย์ครึ่งวัน กับจันทร์ทั้งวันแล้ว 1 วัน ต้องซ้อม 5-6 ชั่วโมง เช้า 3 เย็น 3 ส่วนวันว่างบางทีก็นอน ดูหนัง กินข้าว พักผ่อนไปค่ะ”
จุดเริ่มต้น ของนักตบลูกขนไก่
“ชื่อ ปอป้อ อากงเป็นคนตั้งค่ะ มันมาจากคำว่า เป๊าเป่า เป็นภาษาจีนที่แปลว่า เบบี้ คือทางพ่อของฝั่งแม่ป้อเป็นคนจีน 100% ส่วนทางพ่อก็เป็นครึ่งจีนครึ่งไทย แล้วครอบครัวป้อทำธุรกิจเปิดร้านทอง ขายเพชรขายทองค่ะ
ความฝันตอนเด็ก ๆ ป้อไม่ได้คิดเลยว่าจะเป็นนักแบดมินตัน แต่ด้วยคุณพ่อกับคุณแม่ชอบเล่นแบดมินตัน แล้วก็เป็นนักกีฬาที่เล่นให้กับทางมหาวิทยาลัย ก็เลยเอาป้อไปออกกำลังกายเฉย ๆ แล้วตรงนั้นก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ป้อเริ่มเล่นแบดมินตัน แต่เราก็ตีแค่ตีแบดอยู่หน้าบ้าน หรือไปตีที่คอร์ทเพื่อออกกำลังกายกับพ่อแม่ แต่การเป็นนักแบดมินตันของป้อ มันเริ่มจากการที่ลงแข่งเลย ไปแข่งที่ตรังด้วยนะ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองเป็นคนอุดรธานี การแข่งครั้งแรกไปใต้เลย ผลตอนนั้นก็แพ้ 11-0 ,11-1 หรือได้แต้มเดียวก็มี ซึ่งที่แม่พาไปก็เพราะอยากให้ลอง แล้วที่บ้านก็สนับสนุนอยู่แล้ว ถ้าอยากเล่นกีฬาก็เล่นเลยเต็มที่ พอเราแพ้ครั้งนั้น ก็เลยอยากจะกลับมาลองฝึกซ้อมแบบตามตารางจริงจังดูว่า เราจะไปได้ไกลขนาดไหน ก็เลยซ้อมหลังเลิกเรียน 2 ชั่วโมง แล้วก็พักผ่อน ซ้อมแบบนั้นมาเรื่อย ๆ จนอายุ 14 ปี ป้อก็เล่นข้ามรุ่น ไปแข่งรุ่นอายุ 15 ปี แล้วเราได้แชมป์ พออายุ 15 ปี ได้แชมป์รุ่น 18 ปี ก็เลยติดทีมชาติ ตั้งแต่อายุ 15 ปี ซึ่งเป้าหมายแรก เชื่อว่าทุกคนก็อยากจะติดทีมชาติอยู่แล้ว แล้วพอเราเริ่มมีเป้าหมายคือเราติดทีมชาติแล้ว เราก็อยากจะได้แชมป์โลกเรา อยากจะเป็นมือหนึ่งของโลก เราอยากจะคว้าแชมป์เวิลด์ทัวร์กี่รายการ เราก็เริ่มแพลน เริ่มตั้งเป้าหมายเอาไว้
ทักษะที่สำคัญของแบดมินตัน เป็นเรื่องของเบสิคค่ะ ป้อรู้สึกว่าทุกกีฬา เรื่องเบสิคสำคัญที่สุด และแต่ละกีฬามีการเคลื่อนไหวไม่เหมือนกัน ถ้าเบสิคใครดี มันสามารถต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ เช่น แบดมินตัน อาจจะมีเรื่องของการจับไม้ และการวิ่ง เข้ามาเกี่ยวข้อง คือมันก็จะเหมือนกับจับไม้หน้าเดียว ตีได้แค่โฟร์แฮนด์อย่างเดียว แต่ถ้าต้องตีแบ็คแฮนด์ แล้วตีไม่ทันอย่าง ถ้ามันไม่ได้ฝึกการหมุนไม้ พลิกไม้ มันก็พัฒนาได้มากขึ้น ทำให้เราเล่นเก่งขึ้นได้ค่ะ”
ปอป้อ กับการรับมือกับความผิดหวัง
“กว่าจะมาถึงวันนี้ ระหว่างทางมันก็มีผิดหวังเยอะค่ะ บางทีเรารู้สึกว่าตัวเองตั้งใจซ้อมมาก ๆ แล้วอยู่ดี ๆ เราแพ้เกม 3 บางทีเราก็มีเฟลไปบ้าง ว่าทำไมเราทำไม่ได้ อุตส่าห์ตั้งใจซ้อมมาเยอะมาก ทำไมแค่นี้ทำไม่ได้
เวลาผิดหวัง ป้อก็คุยกับครอบครัว พ่อแม่ แล้วเพื่อน ๆ ก็ให้กำลังใจกัน เพราะว่าสุดท้าย แบดมินตัน มันมีการแข่งขันอยู่ตลอด เลยเป็นสิ่งที่ทำให้เราเสียใจได้ไม่นาน มันต้องมูฟออนต่อไปเรื่อย ๆ เวลาคุยก็เป็นเชิงระบายความรู้สึกเราออกมา แล้วคนรอบข้างก็จะคอยปลอบว่าไม่เป็นไรหรอก มันก็แค่แมตช์หนึ่ง ถือว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ทุกคนจะต้องพบเจออยู่แล้วในนักกีฬา”
เป้าหมายต่อไป ของ ปอป้อ
“แมตช์ที่ภูมิใจที่สุดของป้อ ก็การเป็นแชมป์โลกปี 2021 ค่ะ ตอนนั้นแข่งที่สเปน ค่ะ ก็คือรู้สึกว่าเอ๊ยเราก็ทำได้นะ แล้วปีนั้นคือเป็นแชมป์โลกแล้วก็ได้ขึ้นเป็นมือ 1 ของโลกด้วยในปีเดียวกัน เลยรู้สึกว่าเราทำได้ มันเป็นเป้าหมายของเราอยู่แล้วที่เราอยากจะได้ และเป้าหมายต่อไป ป้อก็อยากได้เหรียญโอลิมปิกค่ะ
จากโอลิมปิก 2024 ก็มีนั่งวิเคราะห์ว่า ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ณ สถานการณ์ตอนนั้นเราอาจจะแก้ปัญหาได้ไม่ดีพอ หรือว่าอะไรก็ตาม คือกีฬามันจะมีเรื่องของไหวพริบแค่เสี้ยววินาที เพราะเราวางแผนไปเพื่อจะไปเล่นกับเค้า พอเค้าแก้เกมมา เราก็ต้องแก้กลับ แต่ถ้าเราตั้งหลักไม่ทัน แป๊บเดียวแต้มมันไหลไปแล้ว
แน่นอนว่าในยุคนี้มันจะมีคอมเมนต์จากคนในโลกโซเชียล แต่ป้อเป็นคนที่ไม่เทคคอมเมนต์ลบอยู่แล้ว ถ้าเรารู้สึกว่าอ่านแล้วรู้สึกไม่ดี เราก็ไม่ต้องอ่าน ก็อันไหนที่มันดี ก็เอาเป็นกำลังใจ และจะชอบรับกำลังใจจากคนรอบข้างดีกว่า คนที่เราใกล้ชิด แล้วเค้ารู้ว่าเราทำอะไร คือกว่าเราจะมาถึงตรงนี้ เบื้องหลังไม่มีใครรู้ ทุกคนจะดูแค่หน้างาน ณ วันนั้น ถ้าชนะก็ชม ถ้าแพ้ก็ด่า เป็นเรื่องปกติ
ความตั้งใจจากนี้ ป้อวางไว้อีก 4 ปีข้างหน้า โอลิมปิก ที่ ลอสแอนเจลิส ป้ออยากจะไปอีกครั้งป้อจะพยายามทำให้เต็มที่ และตอนนี้ก็พยายามรักษาร่างกายตัวเอง แล้วก็ Maintain ร่างกายทุกอย่างให้มันดีที่สุดค่ะ”
สิ่งที่นักกีฬา กลัวที่สุด
“สำหรับนักกีฬา สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นที่สุดเลยก็คือการบาดเจ็บ ซึ่งป้อเคยเจ็บหนักสุด ๆ คือปี 2017 ค่ะ ที่ซีเกมส์รอบชิงแมตช์สุดท้ายพอดี ก็คือกระโดดลงมาแล้วเข่าบิด เอ็นไขว้หน้าขาด พักไป 8 เดือน ต้องผ่าตัด กายภาพ หลายเดือนเลย
ป้อไม่ได้เดิน 3 เดือน แต่พอเดินเริ่มลงน้ำหนัก เดือนที่ 4 แล้วเดือนที่ 5 แข่งเลย ตอนนั้นต้องพักฟื้น 8 เดือน กว่าจะหายจริง ๆ คือ 1 ปี จนตอนนี้ก็ปกติแล้ว นั่ง วิ่ง เล่นแบดมินตัน ทำได้ทุกอย่างทุกท่า ไม่ได้รู้สึกติดอะไร ไม่มีอาการอะไรเลยค่ะ”
เปิดตารางซ้อม พร้อมทริคการเป็นนักแบดมินตัน
“ทุกวันนี้ก็ซ้อมเป็นลูทีนอยู่แล้ว ต้องรับผิดชอบตัวเอง ปกติก็จะซ้อม 8 โมงครึ่งถึง 11 โมง แล้วก็ซ้อมอีกทีบ่าย 3 ถึง 6 โมงเย็น ทุกวัน ซึ่งแบดมินตันใช้ความแข็งแรงของทุกส่วนทั้ง แขน ไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ลำตัว แม้กระทั่งขา มันใช้ทั้งตัวจริง ๆ แล้วแบดมินตันมันใช้ข้อมือ แต่ก็จะคนละรูปแบบกับเทนนิส อาจจะใช้อีกวงหนึ่ง ซึ่งมันคนละวงกัน
ซ้อมทุกวันก็มีเบื่อบ้างค่ะ แต่บางทีเบื่อป้อก็จะขอพักหรือว่าขอไปเที่ยวบ้างสัก 2-3 วัน ซึ่งถ้าได้เที่ยวนี่คือไม่ออกกำลังกายนะคะ แล้วมันจะเหมือนได้เติมพลังให้ตัวเอง เรื่องอายุในการเป็นนักแบดมินตัน ในอยู่ที่ว่าใครรักษาร่างกายได้ดีกว่ากัน ที่จริงอายุสูงสุดเคยเห็นถึง 40 ปี นะคะ แต่ก็อาจจะทรมานเกินไป ถ้ายังจะเล่นให้ได้อันดับโลก ซึ่งนักกีฬาส่วนใหญ่อายุก็จะอยู่ประมาณ 35-36 ปี หรือถ้าใครรักษาร่างกายดี ๆ หน่อยก็ 38 ปี แต่มีไม่เยอะค่ะ
เรื่องน้ำหนัก ไม่มีผลค่ะ บางคนอาจจะตัวใหญ่ น้ำหนักเยอะแต่มือดี คนสูงกับคนไม่สูง ก็จะมีสรีระของแต่ละคน และจะมีจุดเด่นจุดด้อยที่ไม่เหมือนกัน แล้วแบดมินตัน มันเป็นกีฬาลดความสามารถด้วย สมมติว่าคนตัวเล็กอาจจะชอบแบบตีเร็ว ๆ คนตัวสูงบางทีก็เคลื่อนตัวช้า แต่ถ้าเค้าได้ตบสูง ๆ เค้าจะชอบ แล้วเราจะทำยังไงให้เค้าไม่ได้ตบ
โดยในการซ้อมจุดเหนื่อยของป้อวัดด้วยจากแบบชีพจร คือป้อจะมีจุดที่เหมือนเราไปสุดแล้ว จนเรารู้สึกว่าเราไปต่อไม่ไหวแล้ว แต่จุดนี้มันสามารถขยับได้ทีละนิด แต่ก่อนอาจจะแบบ จาก 1 ไป 4 ได้ พอมันไปถึง 4 ขึ้นไป 10 แต่หลังจากนั้นมันอาจจะไม่ได้ขึ้นไป 13 เลย มันจะค่อย ๆ ขึ้นแบบช้า ๆ แต่มันก็จะแล้วแต่คน
เวลาแข่งมันก็เจอความกดดัน หรือความคาดหวังของใครหลาย ๆ คน แต่มันก็อยู่ที่ตัวเราด้วย ว่าเราสามารถขจัดมันได้รึเปล่า เพราะสุดท้ายนักกีฬาทุกคนมันต้องเจอทั้งแรงกดดัน หรือความคาดหวังอยู่แล้ว แล้วตัวเราเองก็คาดหวังกับตัวเราเองอยู่แล้ว แล้วบางทีเราไปเอาความคาดหวังคนอื่นมาใส่ด้วย มันก็อาจจะทำให้แย่ขึ้นไปอีก
ป้อเคยไปปฏิบัติธรรมด้วยนะคะ เพราะว่าบางทีที่แข่ง เวลาเรามองลูก ถ้าเรามีสมาธิ มีสติมาก ๆ เราจะเห็นลูกเป็นภาพสโลว์โมชั่น เราจะเห็นตั้งแต่รูปกระทบจากฝั่งโน้นมาเลย แต่เราจะมองแค่ลูกอย่างเดียวก็ไม่ได้ เราต้องมองมุมกว้างด้วย ต้องรู้ว่าจุดไหนเป็นช่องว่างที่เราจะตีไปให้ได้แต้ม มันต้องมองเปิด ๆ เพื่อวางแผนการเล่น
สำหรับป้อมองว่า เล่นเดี่ยว ยากกว่า เล่นคู่ เพราะว่าเล่นคนเดียว รับผิดชอบคนเดียว แล้วก็ต้องมีระเบียบของตัวเองคนเดียวจริง ๆ เพราะแบดมินตันจากสมัยก่อนจนถึงสมัยนี้ มันเหมือนอัพเกรดขึ้นไปเยอะมาก แต่ก่อนมันอาจจะแบบเราช้า แต่เดี๋ยวนี้มันทั้งหนัก ทั้งเร็ว ทั้งทน ใครอึดกว่าได้เปรียบ แต่ก่อนอาจจะต้องมีทักษะแค่สองอย่าง แต่ตอนนี้ 4-5 อย่างต้องมีในคนเดียว แต่ด้วยความที่ต้องดีคู่ เราซ้อมเยอะเลยรู้ใจกัน ลูกนี้ใครตี ลูกนี้ใครไม่ตี มันจะรู้กันอยู่แล้ว และด้วยสไตล์การเล่นที่มันคล้าย ๆ กัน การเล่นมันก็จะดูเข้าขากัน”
เสียงเชียร์ กับการแข่งขันของนักกีฬา
“ก็มีบ้างค่ะที่เสียงเชียร์มีผลต่อการเล่น เวลาเราตีโต้ไปก็มีร้องเชียร์ดังขึ้น แล้วเวลาแข่งกันเอง ก็อาจจะมีแบบการกวนกันอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่ที่ว่าใครควบคุมอารมณ์ได้ บางทีกวนแล้วเราไม่สนใจ ไม่ใส่ใจอะไร ก็ไม่มีผล แล้วบางทีอาจจะไม่ใช่ฝั่งตรงข้าม แต่อาจจะเป็นกรรมการก็ได้ คือสมมติว่าเราตีไป เราเห็นว่าลูกไปโดนตัวฝั่งโน้นแล้วมันออก แต่กรรมการไม่เห็น แล้วกรรมการให้แต้มฝั่งโน้น เราก็จะงงว่าไม่เห็นเหรอว่าโดน แต่กรรมการก็เค้าตัดสินไปแล้วไงว่าเราเสียแต้ม ซึ่งกล้องมันดูได้แค่ลูกลงกับลูกออก ลูกโดนตัวดูไม่ได้”
จากนักแบดมินตัน สู่เส้นทางสายบันเทิง
“ที่เลือกเรียน นิเทศศาสตร์ เพราะป้อมองว่ามันเป็นความรู้รอบตัว แล้วมันง่ายดี ป้อเรียนปริญญาตรี PR ต่อปริญญาโท MC พอได้เรียนก็รู้สึกว่าตัวเองกล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าพูดมากขึ้น ตั้งแต่เรียนจบมา เพราะตอนแรกคือถ้าถามคำตอบคำเลย ไม่ได้มีพูดต่อ
ส่วนช่องยูทูบ ก็เหมือนอยากให้ทุกคนเห็นในมุมที่ไม่มีใครเห็น เวลาเราไปแข่ง แล้วเราทำอะไรบ้าง หรือว่ามุมพักผ่อนของนักกีฬาต่างชาติที่ป้อสนิทด้วย ว่าเค้าเป็นคนยังไง ซึ่งบางทีคนดูเค้าอยากรู้ จากคนขี้อาย แต่พอได้มาลองทำยูทูบเบอร์ การพูดมันก็ง่ายขึ้น ป้อรู้สึกว่ามันเป็นการผ่อนคลายอย่างหนึ่งที่ป้อได้ใช้ชีวิตอยู่กับตัวเอง ได้พูดกับตัวเอง มันเลยเป็นการผ่อนคลายไปด้วย”
เปิดหัวใจ ส่องสเป็ก ของ ปอป้อ
“ตอนนี้ไม่มีค่ะ โสดอยู่ โฟกัสที่เรื่องงาน และป้อไม่เคยอกหักแรง ๆ ค่ะ อาจจะมีเคยคุยบ้าง แต่ก็ไม่ได้ลงอะไรลึก เพราะสุดท้ายด้วยแบดมินตันเราต้องซ้อมทั้งวันจริง ๆ ไม่มีเวลาเลย แล้วส่วนใหญ่นักแบดมินตัน ก็จะมีแฟนเป็นนักแบดมินตันกันเองซะส่วนใหญ่
ถ้าสเป็กของป้อ ก็ชอบคนน่ารัก มีเสน่ห์ พูดเก่ง เข้ากับเราได้ ถ้าคุยเข้ากันได้ก็โอเค ส่วนเพื่อนสนิทมีประมาณ 2 คนค่ะ ที่สนิทกันจริง ๆ และคุยได้”
นักกีฬา กับสิ่งที่ต้องแลก
“ก็ต้องเสียสละเรื่องเวลา ที่เราแบบไม่ได้เจอเพื่อน แต่ป้อไม่คิดว่าเราเสีย เพราะว่าการเล่นกีฬามันมีอายุการใช้งานของมัน ถ้าวันหนึ่งเราเลิกไป เราอยากจะไปเที่ยว ไปพัก มันเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ ณ ตอนนี้ เราโฟกัสตรงนี้ เราะว่าเรามีทุกวันนี้ได้ก็เพราะแบดมินตัน แพลนในอนาคตก็เคยมีคิดบ้างว่า บางทีอยากเปิดคาเฟ่ หรือว่าขายของออนไลน์ หรือว่าเปิดร้านอาหาร ก็มีคิดแต่มันก็ยังไม่ได้เจาะจงอะไร ก็คิดไปเรื่อย ๆ ปรึกษาเพื่อนไปเรื่อย ๆ”
ป้อป้อ และความภาคภูมิใจของตัวเอง
“ถ้ารู้ตัวว่าเราชอบอะไร แล้วพอทำสิ่งนั้นแล้วเรามีความสุข ก็อยากให้มุ่งมั่นทุ่มเทให้เต็มที่เลย เพราะว่าความสำเร็จ ป้อรู้สึกมันไม่ได้ยากขนาดนั้น ถ้าเราทำแล้วเรามีความสุข เราจิตใจดี ร่างกายดี ทุกอย่างดี มันประสบความสำเร็จอยู่แล้ว
ทุกวันนี้ป้อรู้สึกดีใจ และภูมิใจในตัวเองที่เราอดทน เรามุ่งมั่น เรารับผิดชอบตัวเองได้มากขนาดนี้ แล้วทำให้เรามีทุกอย่างวันนี้ได้ก็เพราะกีฬานี้ และป้อรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ได้นำเสนอในทุก ๆ เวลาเราออกไปแข่ง เราทำเพื่อประเทศไทยจริง ๆ ไปทำเพื่อชาติ แล้วพอเราได้กลับมา มันก็เป็นชื่อเสียงของประเทศเรา ป้อก็เลยรู้สึกภูมิใจในตรงนี้ แล้วก็เหมือนเป็นชื่อเสียงแก่วงศ์ตระกูลและครอบครัวด้วย
ทุกวันนี้ความสุขของป้อ ก็คือการที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก แล้วได้เป็นตัวเองที่สุด เหมือนเป็นสนามของตัวเองในทุก ๆ อย่างที่เราทำ แล้วเรารู้สึกว่าเราทำทุกอย่างด้วยความเต็มที่ มุ่งมั่น ไม่ท้อ อดทนทุกอย่าง จนมาวันนี้เรามีความสุขแล้วค่ะ”
สีสัน แรงบันดาลใจ จาก ปอป้อ
“ถ้ารู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ว่าจะแบดมินตัน หรือว่ากีฬาอื่นไร หรือแม้แต่อาชีพทุกอย่าง ถ้าสมมติรู้ว่าเราชอบ เราทำแล้วเรามีความสุข ก็อยากให้ทุ่มเทมันให้เต็มที่ แล้วก็มีระเบียบวินัยในตัวเอง รับผิดชอบตัวเองให้มาก ๆ เพราะว่าป้อเองรู้สึกว่า ทุกคนมีศักยภาพและความสามารถพอที่จะทำได้ แล้วก็คิดว่ามันไม่ยาก ถ้าเรารักมันจริง ๆ เราอยู่กับมันจริง ๆ เชื่อว่าเราทำได้อยู่แล้ว” - ปอป้อ ทรัพย์สิรี
พบเรื่องราวชีวิตหลากสีสันใน Club Pride Day คลับที่เต็มไปด้วยแบ่งปันข้อคิดแรงบันดาลใจ และมีคลังความรู้ที่พร้อมแชร์ ไปกับแขกรับเชิญพิเศษ และสองดีเจสุดแซ่บ “ดีเจพี่อ้อย” และ “ดีเจก็อตจิ” ได้ในทุกสัปดาห์
ดูรายการย้อนหลัง