วันเบาหวานโลก World Diabetes Day

Trendy Lifestyle

วันเบาหวานโลก World Diabetes Day

ริเริ่มขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2534 โดยสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ (The International Diabetes Federation IDF) และองค์การอนามัยโลก เพื่อรณรงค์สร้างความตื่นรู้ถึงภัยโรคเบาหวาน เหตุที่เลือกวันที่ 14 พฤศจิกายน เนื่องจากเป็นวันเกิดของเฟรเดอริก แบนติง นักวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดา ผู้ร่วมกับชาร์ลส์ เบสต์ เป็นคนแรกที่เข้าใจแนวคิดซึ่งนำไปสู่การค้นพบอินซูลินใน พ.ศ. 2465 และทำให้ได้รับรางวัลโนเบล ปี 1923 (พ.ศ. 2466)

โรคเบาหวาน คืออะไร
โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เกิดขึ้นเนื่องจากความสามารถในการจัดการน้ำตาลในกระแสเลือดโดยฮอร์โมนอินซูลินลดลง ซึ่งอาจเกิดได้จากความผิดปกติของตับอ่อนที่ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เรียกว่า ภาวะขาดอินซูลิน หรือเกิดจากความสามารถในการตอบสนองของร่างกายต่อฤทธิ์ของอินซูลินลดลง เรียกว่า ภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลให้ร่างกายมีการเผาผลาญที่ผิดปกติทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ทำให้ร่างกายใช้น้ำตาลกลูโคสไม่ได้ตามปกติ และมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง

โรคเบาหวาน แบ่งออกเป็นกี่ชนิด?
ในปี ค.ศ. 2019 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ปรับการจัดจำแนกชนิดของเบาหวานออกเป็น 6 ชนิด ชนิดที่ทุกคนรู้จักจะมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกันคือ
 

  • เบาหวานชนิดที่ 1
    เป็นผลจากการที่เซลล์สร้างอินซูลินหรือเบต้าเซลล์ในตับอ่อนถูกทำลายโดยภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้การผลิตฮอร์โมนอินซูลินลดลง เกิดภาวะน้ำตาลสูงและมีภาวะเบาหวานเกิดขึ้น โดยมักเกิดในคนอายุน้อยหรือในเด็ก อาการมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง
     
  • เบาหวานชนิดที่ 2
    เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ในคนไทยพบประมาณร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เป็นผลจากการมีภาวะดื้อต่อ มักพบในคนรูปร่างท้วมหรืออ้วน ทำให้อินซูลินที่สร้างออกมาทำงานได้ไม่ดี และไม่สามารถจะดึงให้ระดับน้ำตาลกลับมาเป็นปกติได้ และนอกจากนี้อายุที่มากขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และการมีประวัติคนในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ หรือ พี่ น้อง เป็นเบาหวาน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานชนิดนี้
    • เบาหวานชนิดผสมระหว่างชนิดที่ 1 และ 2 พบได้น้อย
    • เบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ เช่น มีโรคหรือยาบางชนิดที่ส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทำให้น้ำตาลขึ้นสูง หรือเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดปัญหาการสร้างอินซูลิน
    • เบาหวานที่วินิจฉัยครั้งแรกขณะตั้งครรภ์ ทั้งกลุ่มที่เป็นเบาหวานมาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยจนกระทั่งตรวจคัดกรองเมื่อเริ่มต้นการตั้งครรภ์ และเบาหวานที่เกิดจากการตั้งครรภ์โดยตรง
    • เบาหวานที่ไม่สามารถแยกชนิดได้เมื่อได้รับการวินิจฉัย เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถจัดเข้าอยู่กลุ่มใดได้อาจเป็นเพราะข้อมูลในการวินิจฉัยยังไม่เพียงพอ เมื่อได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นเช่นผลตรวจทางภูมิคุ้มกันหรือพันธุกรรม อาจเปลี่ยนการวินิจฉัยเป็นชนิดที่จำเพาะต่อไปได้
  1. อาการของเบาหวาน
    แบ่งออกได้เป็น 2 แบบด้วยกันคือ
    1. อาการของเบาหวานที่เกิดจากน้ำตาลสูงในกระแสเลือด
    • ปัสสาวะบ่อย และปริมาณมาก
    • กระหายน้ำ คอแห้ง และดื่มน้ำมาก
    • หิวบ่อย รับประทานอาหารมาก
    • น้ำหนักลด ผอมลง
    • อ่อนเพลียฃ
  2. อาการที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน
  • หอบ ปวดท้อง ซึม จากภาวะเลือดเป็นกรด
  • ตาพร่ามัว (จากการเสื่อมของจอประสาทตา)
  • เป็นแผลรักษาหายยาก
  • ชาตามปลายมือปลายเท้า (จากการเสื่อมของปลายประสาท)
     
  • สาเหตุของโรคเบาหวาน
    สาเหตุของเบาหวานแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน

    เบาหวานชนิดที่ 1 : เกิดจากการที่ร่างกายขาดอินซูลินเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่อต้านเนื้อเยื่อตับอ่อนทำให้สร้างอินซูลินได้น้อยลง กลุ่มนี้ต้องได้รับอินซูลินฉีดทดแทน

    เบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งมักพบในคนรูปร่างท้วมหรือคนอ้วน (ดัชนีมวลกายสำหรับคนเอเชียมากกว่าหรือเท่ากับ 23 กก./ตร.ม.) ทำให้อินซูลินไม่สามารถทำงานเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่ปกติได้ เมื่ออาการเป็นมากขึ้นจะเกิดการบกพร่องในการผลิตอินซูลินร่วมด้วย ทำให้ภาวะน้ำตาลสูงและมีอาการของเบาหวานเกิดขึ้น

    ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน
    ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ประกอบด้วย
    • บุคคลที่มีอายุ มากกว่า 35 ปี
    • อ้วนและ มี พ่อ แม่ พี่ หรือน้อง เป็นเบาหวานฃ
    • เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือกำลังรับประทานยาควบคุมความดันโลหิต
    • มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ
    • ไขมันไตรกลีเซอไรด์มากกว่าหรือเท่ากับ 250 มก./ดล.
    • เอช ดี แอล คอเลสเตอรอล น้อยกว่า 35 มก./ดล.
    • มีประวัติเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือเคยคลอดบุตรที่น้ำหนักเกิน 4 กิโลกรัม
    • เคยได้รับการตรวจพบมีภาวะก่อน
    • มีโรคหัวใจและหลอดเลือด
    • ผู้หญิงที่มีกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ
    • ผู้ที่มีความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับภาวะดื้อต่ออินซูลิน เช่นเป็นโรคอ้วนรุนแรง
    • ผู้ที่ติดเชื้อเอช ไอ วี
      ***โดยหากพบความเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่ง ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจน้ำตาลในเลือดเพื่อคัดกรองภาวะเบาหวานอย่างเหมาะสมต่อไป
       

การวินิจฉัยและการรักษาโรค
การวินิจฉัยเบาหวานในปัจจุบันทำได้หลายวิธีด้วยกัน โดยหลักจะต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจเจาะเลือดดูระดับน้ำตาลหรือน้ำตาลสะสม แนะนำให้ทำในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้น โดยการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจทำได้โดยการเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำหรือเจาะเลือดจากปลายนิ้ว หากระดับน้ำตาลในเลือดภายหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก./ดล. หรือระดับน้ำตาลในเลือดที่ตรวจขณะไม่งดอาหาร มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก./ดล. ถือว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเป็นเบาหวาน หากมีอาการของเบาหวานมีความชัดเจนว่าน่าจะเป็นเบาหวานจริง แต่หากยังไม่มีอาการของโรคเบาหวาน ควรตรวจยืนยันอีกครั้งในวันหรือสัปดาห์ถัดไป หากมีค่าสูงแพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานได้ และการตรวจระดับน้ำตาลสะสมปัจจุบันสามารถใช้วินิจฉัยเบาหวานได้ ไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร แต่ต้องตรวจด้วยวิธีการที่ได้มาตรฐาน หากตรวจพบระดับน้ำตาลสะสมมากกว่า 6.5 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นเบาหวาน

เราจะปรับเปลี่ยนชีวิตอย่างไรไม่ให้เป็นโรคเบาหวาน?
หลักสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันเบาหวาน ใช้ได้สำหรับเบาหวานชนิดที่ 2 ประกอบไปด้วยการปรับพฤติกรรมการกินอาหารให้เป็นไปตามหลักโภชนาการ การเพิ่มกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม ร่วมกับการส่งเสริมพฤติกรรมอื่นๆ ที่ดีต่อสุขภาพ เช่นนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ลดสภาวะเนือยนิ่ง งดสูบบุหรี่และดื่มสุรา

การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันเบาหวาน
1. ควบคุมอาหาร ควรรับประทานอาหารแต่พอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป เพื่อไม่ให้มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน ชนิดของอาหารที่ให้พลังงานทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันควรเลือกกินให้หลากหลายและมีการกระจายอย่างเหมาะสม เลือกคาร์โบไฮเดรตที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เลือกโปรตีนคุณภาพไม่ติดมัน และเลือกไขมันชนิดไม่อิ่มตัวและหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ ร่วมกับการรับประทานผักและผลไม้ให้เพียงพอ
2. ออกกำลังกาย ควรทำอย่างสม่ำเสมอโดยเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับช่วงอายุ เช่นในเด็กและวัยรุ่นควรเน้นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก และการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ผู้ใหญ่อาจเน้นทั้งการออกกำลังกายแบบแอโรบิก และการออกกำลังกายแบบแรงต้าน ส่วนในผู้สูงอายุเน้นการฝึกความยืดหยุ่นและการทรงตัว ให้ได้ความถี่ประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
3. ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง หมายถึงช่วงเวลาที่ร่างกายไม่มีการเคลื่อนที่ เช่น นอนเล่น นั่งทำงานอยู่กับที่ นั่งเรียน/อ่าน/เขียนหนังสือ ดูโทรทัศน์หรือหน้าจอ เป็นต้น โดยควรปรับให้มีกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อยเป็นเวลาสั้น ๆ ทุก ๆ 30-60 นาที และกำหนดให้เวลาในการดูโทรทัศน์หรืออยู่หน้าจอ น้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน
4. งดสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึงร้อยละ 30-40 เนื่องจากสารนิโคตินในระดับสูงจะส่งผลให้การทำงานของอินซูลินมีประสิทธิภาพลดลง นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และ โรคไต เป็นต้น
5. งดหรือลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด ควรงดการดื่มแอลกอฮอล์ถ้าเป็นไปได้
6. นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ โดยต้องคำนึงถึงทั้งปริมาณ คือระยะเวลาการนอนที่เพียงพอ และคุณภาพการนอนที่ดี คือนอนหลับสนิท โดยสมาพันธ์โรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2565 กำหนดให้ปริมาณการนอนที่เหมาะสมคือ 7-9 ชั่วโมงต่อคืน

you may also like

album

0
0.8
1