ปีนี้นับเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจไทย รัฐบาล "แพทองธาร" เตรียมเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมผลักดันโครงการลงทุนใหม่ หวังดันจีดีพีให้โตเกิน 3% แม้ว่าสถานการณ์โลกอาจถูกสั่นคลอนจาก “ทรัมป์ 2.0” แต่ประเทศไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค และถูกมองว่าเป็นเซฟโซนที่นักลงทุนต่างชาติวางใจ
ขอบคุณภาพจาก กรุงเทพธุรกิจ : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1140311
บีโอไอชูเป้าหมายลงทุน 1 ล้านล้านบาทในปี 2568
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยยอดคำขอส่งเสริมการลงทุนปี 2567 พุ่งทะลุ 9 แสนล้านบาท จาก 2,195 โครงการ เพิ่มขึ้น 46% เทียบกับปีที่ผ่านมา ถือเป็นยอดสูงสุดในรอบ 10 ปี สะท้อนศักยภาพทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อประเทศไทย
การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า และพลังงานหมุนเวียน มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2568 โดยรัฐบาลและบีโอไอเดินหน้าเชิงรุก ดึงดูดบิ๊กธุรกิจระดับโลก โดยเฉพาะกลุ่ม Data Center และ Cloud Service ที่แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในไทย
ขอบคุณภาพจาก PostToday : https://www.posttoday.com/business/426550
ดาต้าเซ็นเตอร์และพื้นที่นิคม
ปี 2568 ตลาดธุรกิจในไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนใหญ่เข้ามาดูพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง เช่น อีอีซี สมุทรปราการ และรามคำแหง เนื่องจากศักยภาพของประเทศไทยทั้งในด้านประชากร ระบบสาธารณูปโภค และการส่งเสริมการลงทุน
ธุรกิจโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรมยังคงเติบโต โดยเฉพาะจากการลงทุนของจีนในโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภาคตะวันออก ทำให้ราคาที่ดินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสูงขึ้น ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มออฟฟิศและโรงแรมก็มีการเติบโตตามภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาแตะ 40 ล้านคนในปีนี้
ทองคำผันผวน-หุ้นไทยรับแรงหนุนเมกะเทรนด์
ในส่วนของราคาทองคำยังคงผันผวนท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อราคาทองคำ ได้แก่ ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และปัญหาการเมืองในสหรัฐ คาดว่าทองคำอาจปรับตัวขึ้น แต่ไม่ร้อนแรงเท่าปี 2567 เนื่องจากแรงขายช่วงต้นปีจากนโยบายการเงินของเฟด คาดการณ์ราคาทองคำอยู่ที่ 2,500-3,000 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองในประเทศอาจปรับลงต่ำกว่า 42,000 บาทต่อบาททองคำ
ส่วนการลงทุนในหุ้นไทย นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจหุ้นในเมกะเทรนด์ที่มีแนวโน้มเติบโต เช่น กลุ่มปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการกีดกันการค้าของสหรัฐ เช่น นิคมอุตสาหกรรม โรงพยาบาล และค้าปลีก คาดว่าการลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยจะไม่รุนแรงเหมือนที่ผ่านมา แต่หุ้นในกลุ่มดังกล่าวอาจเติบโตได้ดี
คริปโทฯ โอกาสใหม่ในตลาดดิจิทัล
ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีในปี 2568 ยังคงเป็นแหล่งโอกาสสำหรับนักลงทุน หลังจากที่ในปี 2567 บิตคอยน์ทำสถิติราคากระฉูด และได้รับการยอมรับมากขึ้นจากกลุ่มสถาบัน โดยเฉพาะจากการลดดอกเบี้ยของสหรัฐที่อาจกระทบต่อภาพรวมการลงทุนในปีหน้าไม่มากนัก แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังแต่ยังไม่สามารถสร้างความกังวลต่อนักลงทุนได้ ในระยะสั้น
ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญคือความแข็งแกร่งของบิตคอยน์โดยเฉพาะจากการที่มีต้นทุนเฉลี่ยของผู้ถือครองสูงถึง 39,000 เหรียญสหรัฐ และการเติบโตจาก Bitcoin spot ETFs รวมถึงการเข้าซื้อจากบริษัท Microstrategy ที่มีเงินลงทุนจากกลุ่มสถาบันซึ่งไม่เคยลงทุนในบิตคอยน์มาก่อน ทำให้ตลาดคริปโทฯ ในปี 2568 มีโอกาสเติบโตอย่างมีนัยสำคัญและน่าจับตามองต่อไป
ขอบคุณภาพจาก ประชาชาติธุรกิจ : https://www.prachachat.net/politics/news-1686771
เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์แสนล้าน
รัฐบาลเพื่อไทยเตรียมผลักดันโครงการ “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ใน 5 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ กรุงเทพฯ 2 แห่ง, พัทยา, ภูเก็ต และเชียงใหม่ ด้วยเงินลงทุนแห่งละ 50,000-100,000 ล้านบาท คาดเริ่มเห็นความชัดเจนในปี 2568 หลังร่าง พ.ร.บ. ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรผ่านการพิจารณา
กลุ่มทุนยักษ์จากต่างชาติ เช่น MGM Resorts, Galaxy Entertainment และ Las Vegas Sands ต่างเดินหน้าเจรจากับพาร์ตเนอร์ไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน กลุ่มทุนไทย อาทิ ราชตฤณมัยสมาคมฯ เตรียมพัฒนาโครงการ “The Royal Siam Haven” บนที่ดินหนองจอก 3,000 ไร่ และกลุ่มสยามพาร์คซิตี้ ประกาศลงทุน 1 แสนล้านบาท สร้างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ในย่านมีนบุรี
ขอบคุณภาพจาก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร : https://www.landbridgethai.com/
คมนาคมเร่งเครื่องเมกะโปรเจ็กต์ 1.8 ล้านล้านบาท
กระทรวงคมนาคมภายใต้การนำของ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” เตรียมเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจ็กต์ปี 2568 ครอบคลุมทุกโหมดการเดินทาง บก ราง น้ำ อากาศ ด้วยงบลงทุนรวมกว่า 1.8 ล้านล้านบาท
- รถไฟทางคู่ระยะที่ 2: 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,312 กม. วงเงิน 298,060 ล้านบาท
- รถไฟชานเมืองสายสีแดง: ส่วนต่อขยาย วงเงิน 21,754 ล้านบาท ช่วงรังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต และช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา
- รถไฟความเร็วสูงอีสานระยะที่ 2: ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย วงเงิน 341,351 ล้านบาท
- ทางด่วนและมอเตอร์เวย์: อาทิ สายกระทู้-ป่าตอง, M5 รังสิต-บางปะอิน, M9 บางขุนเทียน-บางบัวทอง รวมมูลค่าเกือบ 120,000 ล้านบาท
- โครงการทางน้ำ: ท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ที่สมุย ชลบุรี และภูเก็ต
- โครงการทางอากาศ: ขยายสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่ และภูเก็ต รวมมูลค่ากว่า 72,000 ล้านบาท
- อีกหนึ่งโครงการสำคัญคือ “แลนด์บริดจ์” เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท คาดเริ่มประมูลไตรมาส 3/2568 และก่อสร้างเฟสแรกต้นปี 2569
ที่มาข่าว : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_4980808