ทำสวย-ทำหล่อ บริจาคโลหิตได้หรือไม่?

HEALTHY LIFESTYLE

ทำสวย-ทำหล่อ บริจาคโลหิตได้หรือไม่?

20 ก.พ. 2024

เรื่องของความสวยงามกับคุณสุภาพสตรีมักเป็นของคู่กัน แต่ในยุคปัจจุบันคุณสุภาพบุรุษได้เริ่มหันมาดูแลตัวเองมากยิ่งขึ้นเช่นกัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเพื่อคงไว้ซึ่งความอ่อนเยาว์ และความกระจ่างใสของผิวพรรณและใบหน้า ตัวช่วยในการเพิ่มความสวย ความหล่อ เพื่อเสริมความมั่นใจให้ตัวเองมากยิ่งขึ้น หลาย ๆ คนคงนึกถึงการเสริมความงามด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่เรียกว่า หัตถการความงาม

ทาง ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จึงมาชวนทุกท่านร่วมค้นหาคำตอบไปพร้อมกันว่า “คนสวยหล่อใจบุญ สามารถบริจาคโลหิตได้หรือไม่?” หัตถการแบบไหนสามารถบริจาคโลหิตได้ทันทีหลังเข้ารับบริการ หรือแบบไหนต้องงดบริจาคโลหิต หรือต้องเว้นระยะเวลานานแค่ไหน มาไขข้อสงสัยไปพร้อมกันเลย

  1. ทำทรีตเมนต์ ยกกระชับผิว : หลังเข้ารับบริการสามารถบริจาคโลหิตได้

  2. การรักษาสิว กระ จุดด่างดำ ขี้แมลงวัน ริ้วรอย แผลเป็น เนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง ติ่งเนื้อ หูด ปาน ไฝ รอยสัก และกำจัดขนด้วยเลเซอร์ : หากไม่มีการอักเสบหลังเข้ารับบริการ สามารถบริจาคโลหิตได้ แต่ถ้ามีการอักเสบ รอให้แผลหายดีก่อนจึงจะบริจาคโลหิตได้

  3. การฉีดวิตามิน ฉีดโบท็อกซ์ ฉีดฟิลเลอร์ ฉีดเมโส ฉีดกลูตาไธโอน ปรับรูปหน้าเรียว วีเชฟ กดสิว ฉีดสิว ร้อยไหม : หากเสริมความงามจากคลินิกทั่วไป ที่ไม่ใช่โรงพยาบาล หลังเข้ารับบริการให้งดบริจาคโลหิต 4 เดือน แต่ถ้าทำที่โรงพยาบาล สามารถบริจาคโลหิตได้  

  4. รับประทานยารักษาสิว (Anti-acne)
      ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ที่ใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อในกรณีสิว ได้แก่ เตตราซัยคลิน (tetracycline) คลินดาไมซิน (clindamycin) มิโนไซคลีน ( minocycline) ด็อกซีไซคลิน(doxycycline) อีรีโทรมัยซิน (erythromycin) ไลมีไซคลีน (lymecycline) และ ออกซีเตตราไซคลีน (oxytetracycline) เป็นต้น ในกรณีเป็นสิวที่ไม่มีการอักเสบ แต่มีการใช้ยาทั้งชนิดรับประทานและทาผิวหนัง หรือใช้ชนิดทาผิวหนังเพียงอย่างเดียว หลังใช้สามารถบริจาคโลหิตได้ แต่!! หากอยู่ระหว่างการใช้ยาเพื่อรักษาภาวะอักเสบของสิว ต้องรอจนกว่าอาการอักเสบหายดีแล้ว อย่างน้อย 2 สัปดาห์ และใช้ยาครบจำนวนตามสั่งของแพทย์ มาแล้วอย่างน้อย 1 สัปดาห์ จึงจะบริจาคโลหิตได้
      ยา Retinoids (กลุ่มอนุพันธ์วิตามิน เอ) : ต้องงดบริจาคโลหิตชั่วคราว เนื่องจากยาในกลุ่มนี้ มีผลทำให้เกิดความพิการของทารกในครรภ์ได้ มีเงื่อนไขการหยุดยาก่อนการบริจาค ดังนี้
        - ยา Isotretinoin (Roaccutane®) ต้องหยุดยาอย่างน้อย 1 เดือน
        - ยา Acitretin (Neotigason®) ต้องหยุดยาอย่างน้อย 2 ปี
        - ยา Etretinate (Tigason®) งดบริจาคโลหิตถาวร

  5. รับประทานอาหารเสริม และ สมุนไพร : วิตามินทุกชนิด เวย์โปรตีน แอลคาร์นิทีน คอลลาเจน กลูตาไธโอน เลซิตินอี อาหารเสริมที่มีไบโอติน ฟ้าทะลายโจร โสม ถั่งเช่า สามารถบริจาคโลหิตได้ 

  6. แต่หากเป็นน้ำมันตับปลา น้ำมันปลา และขมิ้นชัน ต้องงด 3 วัน ก่อนบริจาคโลหิต เพราะมีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือด

รู้อย่างนี้แล้ว คนสวยหล่อ ใจบุญ ไม่ต้องกังวลใจไป ขอเพียงปฏิบัติตามเกณฑ์การรับบริจาคโลหิต แล้วเตรียมร่างกายให้พร้อมทุกครั้งที่บริจาค โลหิตของเราก็จะมีคุณภาพ เพียงพอที่จะช่วยต่อลมหายใจ ให้ผู้ที่เจ็บป่วยได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามการบริจาคโลหิตยังมีประโยชน์อีกมากมายต่อตัวผู้บริจาคเองด้วยซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการบริจาคโลหิตทุก 3 เดือน ช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง ทั้งยังช่วยเพิ่มไขมันดี ยับยั้งการทำลายหลอดเลือดของไขมันไม่ดี ที่สำคัญยังช่วยลดการสะสมของเหล็กที่ผิวหนัง ซึ่งช่วยทำให้ผิวพรรณกระจ่างใส และชะลอความร่วงโรยของผิวหนัง ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยเสริมสุขภาพ และความงามอีกด้วย “ให้โลหิต ให้ชีวิต ให้ประจำ ทำได้ทุก 3 เดือน” พร้อมแล้วเราไปบริจาคโลหิตกันเลย

*******************************

ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก
ฝ่ายจัดหาโลหิตและสื่อสารองค์กร ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
โทรศัพท์ 02 256 4300, 02 263 9600-99 ต่อ 1760, 1761

album

0
0.8
1