องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศรับรองให้ “ต้มยำกุ้ง” ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ตามที่ประเทศไทยเสนอ
ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ณ กรุงอะซุนซิออน สาธารณรัฐปารากวัย หรือตรงกับวันที่ 4 ธันวาคม เวลาประมาณ 02.10 น. ตามเวลาประเทศไทย มีมติรับรองให้ "ต้มยำกุ้ง" ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity)
ทั้งนี้ ข้อมูลในเว็บไซต์ของยูเนสโกกล่าวถึงต้มยำกุ้งว่า เป็นอาหารแบบดั้งเดิมของประเทศไทย โดยกุ้งจะถูกนำไปต้มกับสมุนไพร และปรุงรสด้วยเครื่องปรุงท้องถิ่น น้ำซุปมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวและมีสีสันสดใส และผสมผสานรสชาติได้หลากหลาย เช่น รสหวาน เปรี้ยว เผ็ด มัน และขมเล็กน้อย เชื่อกันว่าอาหารจานนี้ช่วยส่งเสริมพลังงานและสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะในช่วงฤดูมรสุม นอกจากนี้ยังได้รวบรวมภูมิปัญญาการทำอาหารของชุมชนชาวพุทธที่อาศัยริมแม่น้ำในภาคกลางของประเทศไทย และความรู้ดั้งเดิมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสมุนไพร
Cr ภาพ : โรงพยาบาลกรุงเทพ
ที่ผ่านมาประเทศไทย มีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จากยูเนสโกแล้ว จำนวน 4 รายการ ได้แก่ โขน นวดไทย โนรา และประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย โดย ต้มยำกุ้ง จะถือเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้รายการที่ 5 ของไทย
ด้านนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ในการเสนอ ต้มยำกุ้ง ขึ้นทะเบียนมรดกฯ กับยูเนสโก นี้ คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2564 เห็นชอบให้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เสนอขอขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 ของยูเนสโก หลังจากที่ ต้มยำกุ้ง ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติเมื่อปี พ.ศ. 2554 ในสาขาความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ประเภทอาหารและโภชนาการ